เผยแพร่ |
---|
ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียกำลังเติบโต เกาหลีเหนือ เป็นดินแดนที่ถูกตะวันตกจับตาเช่นกัน แต่ในสถานะเชิงความมั่นคงมากกว่า หากย้อนกลับไปในช่วงยุคใหม่ของเกาหลีภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำมาสู่การแยกเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ กระทั่งเกิดผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือ เขาคือ คิล อิม ซุง นั่นเอง
ในบทความวันนี้ในอดีต “8 กรกฎาคม 1994: “คิม อิล ซุง” ผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย” เล่าข้อมูลเบื้องต้นของผู้นำรายนี้ว่า กำเนิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1912 (พ.ศ. 2455) ที่เมืองมังยงแด (Man’gyondae) ของเกาหลี (ปัจจุบันอยู่ในเขตเกาหลีเหนือ) เดิมชื่อว่า คิม ซอง จู (Kim Song-Ju) เป็นผู้นำประเทศเกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 1948 (พ.ศ. 2491) จนถึงวาระสุดท้ายในปี 1994 (พ.ศ. 2537)
ในวัยเด็กเขาใช้ชีวิตในแมนจูเรีย ภายหลังจากพ่อแม่ของคิม พาเขาหนีการปกครองเจ้าอาณานิคมญี่ปุ่น (เกาหลีตกอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1910 หรือ พ.ศ. 2453) และเข้าเรียนชั้นประถมในแมนจูเรีย ระหว่างเรียนเขาเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์เยาวชน เคยถูกจับจากการทำกิจกรรมระหว่างปี 1929-30 (พ.ศ. 2472-73) หลังถูกปล่อยตัว คิม เข้าร่วมกับหน่วยรบกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 30s
ช่วงเวลานั้นเอง คิม เปลี่ยนชื่อมาเป็น “คิม อิล ซุง” อันเป็นชื่อของวีรบุรุษนักรบต่อต้านญี่ปุ่น “คิม คยุง ชอน” (Kim Kyung-Cheon, เสียชีวิตในปี 1942 หรือ พ.ศ. 2485) เคยใช้มาก่อน (บ้างก็กล่าวหาว่า เขาจงใจขโมยอัตลักษณ์ของวีรบุรุษรายนี้)
ความโดดเด่นของ คิม ทำให้โซเวียตดึงตัวไปศึกษาด้านการทหารและการเมืองและได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซ ซึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังได้เป็นผู้นำกองกำลังชาวเกาหลีภายใต้กองทัพโซเวียตด้วย
ย้อนกลับมาอธิบายบรรยากาศในเวลนั้น ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นมีท่าทียอมจำนนหลังถูกสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ที่เมืองนางาซิกิ (Nagasaki) ก่อนหน้านั้นสหรัฐอเมริกาทำข้อตกลงกับสหภาพโซเวียต เนื่องจากเกรงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้ายึดครองเกาหลีเพียงฝ่ายเดียว ข้อตกลงกำหนดให้เส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งเขตปฏิบัติการทางทหารสำหรับการปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น พื้นที่เหนือเส้นขนานที่ 38 เป็นความรับผิดชอบของสหภาพโซเวียต ขณะที่ทางตอนใต้ของเส้นขนานเป็นความรับผิดชอบของสหรัฐฯ
ในบริบทความสัมพันธ์ทางอำนาจนี้ สหรัฐอเมริกามองว่า เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน ดินแดนที่ญี่ปุ่นครอบครองต้องถูกยึดกลับมา ขณะที่เกาหลีจะอยู่ในภาวะพิทักษ์ หรือทรัสตี (Trusteeship) โดยมีสหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่นอีกจำนวนหนึ่งเป็นผู้ดูแล
นโยบายนี้เป็นไปเพื่อป้องกันสหภาพโซเวียตยึดครองเกาหลี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ย่อมกระทบต่อดุลอำนาจในเอเชียตะวันออก (สหรัฐฯ ก็ต้องการมีสถานะเหนือกว่าโซเวียตด้วยเหตุผลหลายประการรวมถึงจำกัดอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออก) แนวคิดนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากจีนและอังกฤษ สุดท้ายก็สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องภาวะทรัสตีกับโจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียต แต่ยังไม่ได้มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดให้เกาหลีอยู่ในภาวะทรัสตี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนหน้าที่ต่างชาติจะเข้ามาปลดอาวุธ ผู้สำเร็จราชการญี่ปุ่นในเกาหลีเริ่มตั้งรัฐบาลชั่วคราว ให้คนเกาหลีบริหารและควบคุม จากนั้นในช่วงสิงหาคม ค.ศ. 1945 คณะกรรมการเตรียมการเพื่อเอกราชของเกาหลีประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี (Koran People’s Republic) มีการร่างรัฐธรรมนูญ และเลือกคณะรัฐมนตรีโดยมีทั้งบุคคลที่เป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ในช่วงแรกก็เป็นไปแบบไม่มีปัญหา แต่ก็มาเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและช่วงชิงอำนาจระหว่างคอมมิวนิสต์กับฝ่ายขวา ฝั่งฝ่ายขวาก็จัดตั้งพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Korean Democratic Party)
เดือนกันยายน ค.ศ. 1945 สหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการภารกิจในส่วนเกาหลีตอนใต้ ด้วยจุดยืนของสหรัฐฯ และบรรยากาศที่คุกรุ่นด้วยประเด็นเรื่องคอมมิวนิสต์ ผู้นำทหารสหรัฐอเมริกามองผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีในฐานะขั้วตรงข้าม และไม่ยอมรับสถานะสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี และประกาศว่า สาธารณรัฐประชาชนเกาหลีมีสถานะนอกกฎหมายเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1945 สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายและการปะทะกันเล็กน้อย
สหรัฐอเมริกามีแผนจัดตั้งรัฐบาลจากฝ่ายชาตินิยม โดยมีคิมคู และอีซึงมัน อดีตประธานาธิบดีของรัฐบาลเกาหลีพลัดถิ่นเป็นผู้นำ จากนั้นจะขยายอำนาจไปถึงดินแดนส่วนเหนือ หากไม่สามารถทำได้ก็จะจัดตั้งรัฐบาลแยกส่วนเหนือและใต้ เมื่อดูจากท่าทีของคิมคู ที่ต่อต้านเรื่องเกาหลีอยู่ในสภาวะทรัสตี สหรัฐฯ จึงหันมาสนใจคิมคยูซิก รองประธานาธิบดีในรัฐบาลเกาหลีชั่วคราวในจีน แต่รายนี้ก็คัดค้านเช่นกัน สุดท้ายก็ต้องพิจารณาอีซึงมัน ซึ่งในเบื้องลึกแล้วก็ไม่ลงรอยกับผู้นำทหารสหรัฐอเมริกาในเกาหลี
ขณะที่สหภาพโซเวียตเริ่มปฏิบัติการในเกาหลีส่วนเหนือเมื่อสิงหาคมปีเดียวกัน กองทัพสหภาพโซเวียตเข้ามาในเปียงยาง และให้การรับรองคณะกรรมการบริหารของประชาชน ใน 5 จังหวัด อีกทั้งยังรับรองคณะกรรมการบริหารของประชาชนในระดับเมืองและระดับล่างลงมา หลังจากนั้นไม่นาน คิมอิลซุง (Kim II-sung) ก็เริ่มปรากฏตัว (ไม่มีข้อมูลเรื่องเวลาที่ปรากฏตัวอย่างแน่ชัด) พร้อมกับนายพลโรมาเนนโก นายทหารของสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาแนะนำคิมอิลซุง ต่อผู้นำชาตินิยมและกลุ่มคอมมิวนิสต์ ยกย่องเรื่องความกล้าหาญในการต่อสู้กับญี่ปุ่น เรียกได้ว่า เป็นการเปิดเผยท่าทีต้องการสนับสนุนให้เป็นผู้นำเกาหลีฝ่ายเหนือ
คิมอิลซุง
หลังความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) คิมพร้อมสหายที่ได้รับการฝึกฝนจากโซเวียตได้เดินทางกลับมาก่อตั้งรัฐบาลท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนของโซเวียต ก่อนดินแดนส่วนนี้จะกลายมาเป็นเกาหลีเหนือในปัจจุบัน
วิเชียร อินทะสี วิเคราะห์สาเหตุที่สหภาพโซเวียตต้องการสนับสนุนคิมอิลซุง ซึ่งขณะนั้นยังไม่ค่อยมีประชาชนรู้จักเขามากนัก และมีประสบการณ์ทางการเมืองไม่มากเช่นกันเพื่อเป็นผู้นำในอนาคตว่า สหภาพโซเวียตเชื่อถือและไว้วางใจคิมอิลซุง การที่จะไว้ใจได้ย่อมต้องรู้จักมานาน ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ก่อนที่คิมอิลซอง เข้ามาในดินแดนเกาหลีก็มียศพันตรีในกองทัพสหภาพโซเวียต เชื่อว่าอาจทำงานในการทหารของสหภาพโซเวียตก่อนที่จะเดินทางไปในสหภาพโซเวียตในค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเข้ามารับการอบรมด้านการเมืองก่อนที่จะเข้ามาในดินแดนเกาหลี แต่กรณีนี้ข้อมูลขัดกันกับข้อกล่าวอ้างของสหภาพโซเวียตที่เล่าว่า คิมอิลซองต่อสู้กับญี่ปุ่นในดินแดนแมนจูเรียกระทั่งเกาหลีได้รับการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น
ประการต่อมา คือ สหภาพโซเวียตรับรู้ว่า กลุ่มคอมมิวนิสต์เกาหลีที่ต่อสู่กับญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วง 20 ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็แตกออกเป็นฝักฝ่าย การสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งย่อมทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจขึ้น
และประการที่ 3 คือ สหภาพโซเวียต รู้ดีว่าคิมอิลซอง มีประสบการณ์การเมืองไม่มากนัก อาจต้องการให้คิมอิลซองเรียนรู้ในการเป็นผู้นำภายใต้การนำของนักชาตินิยมที่คนในพื้นที่ให้การยอมรับอย่างโชมันซิก สักระยะก่อน
ไม่นานนัก การดูแลด้านนิติบัญญัติและบริการขององค์กรท้องถิ่นในเกาหลีส่วนเหนืออยู่ภายใต้การดูแลของคิมอิลซุง และกลุ่มที่ฝักใฝ่สหภาพโซเวียต ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1945 หลังสหภาพโซเวียตเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น สนับสนุนการตั้งสำนักงานสาขาพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีที่กรุงเปียงยาง และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน คิมอิลซอง ก็ได้รับเลือกเป็นประธาน
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 สำนักงานสาขาพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ การดำเนินการของคิมอิลซองก็อยู่ภายใต้การชี้นำของสหภาพโซเวียต
คิม อิล ซุง ได้รับตำแหน่งผู้นำคนแรกแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1948 (พ.ศ. 2491) ในปีถัดมาเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคแรงงานเกาหลี (พรรคคอมมิวนิสต์) ก่อนตัดสินใจบุกเกาหลีใต้ด้วยหวังรวมดินแดนคาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวในปี 1950 (พ.ศ. 2493) กลายเป็นสงครามเกาหลี ซึ่งเกาหลีเหนือ (มีสหภาพโซเวียตและจีนหนุนหลัง) ต้องเผชิญหน้ากับเกาหลีใต้ อันมีกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรสนับสนุน
บรรยากาศที่เป็นอยู่สะท้อนสภาพของความพยายามของมหาอำนาจในการมีอิทธิพลเหนือเกาหลีเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจในช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น อันกลายเป็นความล้มเหลวของมหาอำนาจด้วย
นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่า หากไม่ได้จีนหนุนหลัง เกาหลีเหนือคงไม่อาจต้านการรุกคืบของกองกำลังสหประชาชาติได้
สงครามสิ้นสุดลงด้วยสัญญาหยุดยิง ในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) แต่ยังไม่สามารถหาทางออกในด้านสันติภาพร่วมกัน แต่ละฝ่ายไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐของกันและกัน มาจนถึงยุค 2000s และมีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นประปรายควบคู่ไปกับความพยายามของมหาอำนาจและชาติต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาและหาข้อตกลงร่วมระหว่างทั้งสองฝ่าย
การบริหารประเทศของคิม อิลซุง
ด้านกิจการภายในประเทศ คิม กำจัดแรงต่อต้านและคู่แข่งทางการเมืองภายในพรรคแรงงานเกาหลีของเขาจนหมดสิ้น เปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นรัฐทหารที่มีกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้มงวด และมัธยัสถ์ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม และการรวมชาติเกาหลีภายใต้การปกครองของเกาหลีเหนือ
คิม เสนอปรัชญาทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ปรัชญาแห่งจูเช” (Juche) หรือ “การพึ่งพาตนเอง” เพื่อให้เกาหลีเหนือพัฒนาเศรษฐกิจของตนโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ (หรือพึ่งพาให้น้อยที่สุด)
เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ 50 และ 60 ก่อนเข้าสู่ภาวะทรงตัว และยังต้องเจอกับภาวะอดอยากในทศวรรษที่ 90 และหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในต้นทศวรรษที่ 90 ยิ่งทำให้เกาหลีเหนือโดดเดี่ยวเหลือจีนเป็นพันธมิตรหลักเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่จีนเองก็หันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้มากขึ้นในระยะหลัง
อย่างไรก็ดี ด้วยระบบโฆษณาชวนเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพทำให้ตลอดการครองอำนาจของ คิม และทายาททางการเมืองของเขาแทบไม่เจอกับการต่อต้านหรือท้าทายไม่ว่าประเทศจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใด
ในปี 1994 (พ.ศ. 2537) คิม ยอง ซัม (Kim Young-Sam) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น มีกำหนดการณ์ที่จะร่วมประชุมกับ คิม ซึ่งถือเป็นการประชุมที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างสองผู้นำ
การประชุมดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก คิมอิลซุง เสียชีวิตลงในวันที่ 8 กรกฎาคม ด้วยอาการหัวใจวายก่อนกำหนดการประชุม ทำให้ คิม จอง อิล บุตรชายขึ้นครองอำนาจต่อ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งเกาหลีเหนือจึงได้ประกาศยกย่องให้ คิม อิล ซุง เป็น “ประธานาธิบดีตลอดกาลแห่งสาธารณรัฐ”
คิม จองอิล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแรงงาน หรือพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลี และประธานกรรมการกลางด้านการทหาร แม้จะไม่ใช่ตำแหน่งประธานาธิบดี (ตำแหน่งถูกยกเลิกช่วงคิม อิลซุง เสียชีวิต) แต่ในทางปฏิบัติ เป็นที่ทราบกันว่าตำแหน่งนี้ถืออำนาจสูงสุดเท่าประธานาธิบดี คิมจองอิล ดำรงตำแหน่งมาจนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554)
ผู้นำคนต่อมาคือ คิม จองอึน บุตรชายคนเล็กของคิม จองอิล และนั่นคือผู้นำเกาหลีเหนือคนที่ 3 นับตั้งแต่แบกแยกประเทศ
หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงขึ้นจากบทความ “8 กรกฎาคม 1994: “คิม อิล ซุง” ผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย” และ “ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง”
อ้างอิงที่อ้างถึงใน 2 บทความต้นทาง :
ไกรฤกษ์ นานา. “อย่าให้เหมือนเกาหลี กษัตริย์ที่หายไปจากภาพประมุขทั่วโลกออกมหาสมาคม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
วิเชียร อินทะสี. เกาหลีในช่วงอลหม่าน ค.ศ. 1864-1953. พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2561
รงรอง วงศ์โอบอ้อม. ประวัติศาสตร์เกาหลี. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง, 2561
“Kim Il-Sung”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 07 Jul. 2016
<https://global.britannica.com/biography/Kim-Il-Sung>.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 เมษายน 2562