8 กรกฎาคม 1994 “คิม อิล ซุง” ผู้นำสูงสุดคนแรกของเกาหลีเหนือเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย

คิม อิล ซุง
คิม อิล ซุง (ภาพจาก AFP PHOTO / TANJUG FILES / STR)

คิม อิล ซุง เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1912 (พ.ศ. 2455) ที่เมืองมังยงแด (Man’gyondae) ของเกาหลี (ปัจจุบันอยู่ในเขตเกาหลีเหนือ) เดิมชื่อว่า คิม ซอง จู (Kim Song-Ju) เป็นผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือตั้งแต่ปี 1948 (พ.ศ. 2491) จนถึงวาระสุดท้ายในปี 1994 (พ.ศ. 2537)

คิม อิล ซุง

ในวัยเด็ก พ่อแม่พาเขาหนีการปกครองเจ้าอาณานิคมญี่ปุ่น (เกาหลีตกอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1910 หรือ พ.ศ. 2453) ไปใช้ชีวิตในแมนจูเรีย (ภายหลังญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานแมนจูเรียด้วยในปี 1931 หรือ พ.ศ. 2474) และเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นประถมในแมนจูเรีย

ระหว่างยังเป็นนักเรียนเขาเข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์เยาวชน และเคยถูกจับจากการทำกิจกรรมระหว่างปี 1929-30 (พ.ศ. 2472-73) หลังถูกปล่อยตัว คิมเข้าร่วมกับหน่วยรบกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 30

คิม อิล ซุง
คิม อิล ซุง ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีเหนือ ภาพถ่ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 1976 (พ.ศ. 2519) ภาพจาก AFP PHOTO / TANJUG FILES / STR

ระหว่างนี้เขาเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น “คิม อิล ซุง” ซึ่งเป็นชื่อที่วีรบุรุษนักรบต่อต้านญี่ปุ่น “คิม คยุง ชอน” (Kim Kyung-Cheon, เสียชีวิตในปี 1942 หรือ พ.ศ. 2485) เคยใช้มาก่อน (บ้างก็กล่าวหาว่า เขาจงใจขโมยอัตลักษณ์ของวีรบุรุษรายนี้)

ความโดดเด่นของคิม ทำให้โซเวียตดึงตัวไปศึกษาด้านการทหารและการเมืองและได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ซึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังได้เป็นผู้นำกองกำลังชาวเกาหลีภายใต้กองทัพโซเวียตด้วย

หลังความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในปี 1945 (พ.ศ. 2488) เกาหลีถูกแบ่งเป็นเหนือ-ใต้ คิมพร้อมด้วยสหายที่ได้รับการฝึกฝนจากโซเวียตได้เดินทางกลับมาก่อตั้งรัฐบาลท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของโซเวียต ก่อนดินแดนส่วนนี้จะกลายมาเป็นเกาหลีเหนือในปัจจุบัน

ผู้นำเกาหลีเหนือ

เขาได้รับตำแหน่งผู้นำคนแรกแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1948 (พ.ศ. 2491) ในปีถัดมาเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคแรงงานเกาหลี (พรรคคอมมิวนิสต์) ก่อนตัดสินใจบุกเกาหลีใต้ ด้วยหวังรวมดินแดนคาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวในปี 1950 (พ.ศ. 2493) กลายเป็นสงครามเกาหลี ซึ่งเกาหลีเหนือต้องเผชิญหน้ากับกำลังสหรัฐฯ และกองกำลังสหประชาชาติ

หากไม่ได้จีนหนุนหลัง เกาหลีเหนือคงไม่อาจต้านการรุกคืบของกองกำลังสหประชาชาติได้ สุดท้ายสงครามเกาหลีสิ้นสุดลงในปี 1953 (พ.ศ. 2496) โดยไม่มีฝ่ายใดได้ชัยชนะ

ด้านกิจการภายในประเทศ คิมกำจัดแรงต่อต้านและคู่แข่งทางการเมืองภายในพรรคแรงงานเกาหลีของเขาจนหมดสิ้น เปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นรัฐทหารที่มีกฎเกณฑ์ทางสังคมที่เข้มงวดและมัธยัสถ์ มีเป้าหมายสำคัญคือการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรม และการรวมชาติเกาหลีภายใต้การปกครองของเกาหลีเหนือ

คิมเสนอปรัชญาทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ปรัชญาแห่งจูเช” (Juche) หรือ “การพึ่งพาตนเอง” เพื่อให้เกาหลีเหนือพัฒนาเศรษฐกิจของตนโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ (หรือพึ่งพาให้น้อยที่สุด)

เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโตอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ 50 และ 60 ก่อนเข้าสู่ภาวะทรงตัว และยังต้องเจอกับภาวะอดอยากในทศวรรษที่ 90 และหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในต้นทศวรรษที่ 90 ยิ่งทำให้เกาหลีเหนือโดดเดี่ยว เหลือจีนเป็นพันธมิตรหลักเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่จีนเองก็หันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้มากขึ้นในระยะหลัง

อย่างไรก็ดี ด้วยระบบโฆษณาชวนเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ตลอดการครองอำนาจของคิม และทายาททางการเมืองของเขาแทบไม่เจอกับการต่อต้านหรือท้าทาย ไม่ว่าประเทศจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใด

ชาวเกาหลีเหนือ ร้องไห้ วางดอกไม้ไว้อาลัย ประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้นำสูงสุด
ชาวเกาหลีเหนือหลายคนร้องไห้ระหว่างการวางดอกไม้ไว้อาลัยให้กับการจากไปของ “ประธานาธิบดีตลอดกาล” ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1994 หลังการเสียชีวิตหนึ่งวันของผู้นำสูงสุดคนแรกของประเทศ ภาพจาก AFP PHOTO / KNS

ในปี 1994 คิม ยอง ซัม (Kim Young-Sam) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในขณะนั้น มีกำหนดการณ์ที่จะร่วมประชุมกับคิม ซึ่งถือเป็นการประชุมที่ไม่เคยมีมาก่อนระหว่างสองผู้นำ แต่การประชุมดังกล่าวไม่เกิดขึ้น

เนื่องจากคิมเสียชีวิตในวันที่ 8 กรกฎาคม 1994 ด้วยอาการหัวใจวายก่อนกำหนดการประชุม ทำให้ คิม จอง อิล บุตรชายขึ้นครองอำนาจต่อ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งเกาหลีเหนือจึงได้ประกาศยกย่องให้ คิม อิล ซุง เป็น “ประธานาธิบดีตลอดกาลแห่งสาธารณรัฐ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“Kim Il-Sung”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 07 Jul. 2016
<https://global.britannica.com/biography/Kim-Il-Sung>.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2561