ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คณะราชทูตที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือคณะราชทูตของโกษาธิบดี (ปาน) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัยปลายของอยุธยา โดยคณะราชทูตคณะนี้นับเป็นการเปิดโฉมหน้าการทูตยุคใหม่ก็ว่าได้ แต่ยังมีอีกคณะราชทูตหนึ่งที่มีความสำคัญปรากฏบนหน้าประวัติศาสตร์คือ คณะราชทูตของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (Emperor Napoleon III) จัดงานมหกรรมโลก Paris Exposition Universelle ค.ศ. 1867 จึงทูลเชิญให้รัชกาลที่ 4 จัดส่งผู้แทนสยามไปออกร้านในงานนี้ด้วย รัชกาลที่ 4 ทรงตอบรับทันทีด้วยความพอพระทัย เพราะเสมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่าสยามได้รับการยอมรับระดับหนึ่งในเวทีนานาชาติ ทรงถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในรัชสมัย จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นราชทูต และพระราชเสนาเป็นอุปทูต เดินทางพร้อมคณะไปยังประเทศฝรั่งเศสเพื่อถวายพระราชสาส์น และเจรจาข้อพิพาทหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับดินแดนเขมร ซึ่งค้างคามานับ 10 ปี
คณะราชทูตออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1867) โดยเรือกำปั่นชื่อเจ้าพระยา และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ได้พาภรรยาหลวงของท่านคือ ท่านผู้หญิงอ่วม เดินทางไปกับคณะราชทูตด้วย ท่านผู้หญิงอ่วมจึงถือเป็นสตรีชาวสยามคนแรกที่เดินทางไปทวีปยุโรป (ไกรฤกษ์ นานา, 2552 : 28)
คณะราชทูตเดินทางไปถวายพระราชสาส์นของรัชกาลที่ 4 แด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ณ พระราชวังซังต์คลูด์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการเจรจาก็ลุล่วงด้วยดี สามารถตกลงทำสัญญาเรื่องเขตแดนเขมรได้ รวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องคนในบังคับซึ่งได้ผลลัพท์การเจรจาที่ดี จนถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์กับคณะราชทูตชุดนี้เลยก็ว่าได้
นายเกรอัง (M.A. Gréhan) กงสุลสยามประจํากรุงปารีส มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยามธุรานุรักษ์ ได้เขียนเล่า บรรยากาศการมาเยือนของคณะราชทูตนี้ ในหนังสือชื่อ ราชอาณาจักรสยาม (Le Royaume de Siam) มีรายละเอียดดังนี้
“พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งให้ราชทูตรวม 2 ท่าน นําพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดินโปเลียน ที่ 3 เพื่อแสดงคารวะและเพื่อให้พิจารณาสนธิสัญญา ฉบับใหม่ ซึ่งจะแบ่งดินแดนเขมร [หมายถึงเขมรส่วนนอก รวมทั้งพนมเปญ – ไกรฤกษ์ นานา, 2556 : 150] ออกจากเขตแดนของสยามโดยสิ้นเชิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่พระราชวังซังต์คลูด์
สัญญาฉบับนี้ได้ลงนามกันเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1867 ระหว่าง ฯพณฯ เลอ มาร์ควิส เดอ มุสติเอ (S. EXC. M. Le. Marquis de Moustier) รมว. ว่าการต่างประเทศ กับราชทูตของพระเจ้ากรุงสยาม และทางการได้มอบหมายให้ท่านเชเน เดอ เบลกูร์ (M. Du Chesne de Bellecourt) เป็นราชทูตพิเศษ ผู้มีอํานาจเต็ม เดินทางไปแลกเปลี่ยนสัญญากันถึงเมืองบางกอก วันที่ 24 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน คณะของท่านเดินทางมากับเรือรบชื่อลาลาม (L’Alarme) และได้เดินทางกลับออกมาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1867”
งานมหกรรมโลก หรือ Paris Exposition Universelle จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1867 มีผู้เข้าร่วมงานหลายล้านคน ประมาณกันว่าอาจมากถึง 15 ล้านคนเลยทีเดียว ภายในงานมี 45 ประเทศ และ 33 อาณานิคมจากทั่วโลกทั้งแอฟริกาและเอเชียเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก มีการประดับตกแต่งด้วยต้นไม้ ดอกไม้ น้ำพุ และน้ำตกอย่างสวยงาม ศาลา (Pavilion) ของหลายชาติ เช่น อังกฤษนำประภาคารมาเป็นศาลากลางน้ำ ตูนีเซียก็จำลองพระราชวังมาเป็นศาลาประจำชาติ เป็นต้น
งานจัดขึ้นในบริเวณช็องเดอมาร์ส (Champ de Mars) ริมแม่น้ำแซน เนื้อที่จัดงานราว 119 เอเคอร์ หรือประมาณ 300 ไร่ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่สวนสนามของทหารฝรั่งเศส มีการก่อสร้างอาคารหลักขนาดใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายมน ยาว 1,608 ฟุต (490 ม.) กว้าง 1,247 ฟุต (380 ม.) ภายในอาคารมีส่วนแสดงนวัตกรรมและของแปลกประหลาดจากทั่วทุกมุมโลก ร่วมถึงความบันเทิงหลายรูปแบบ และร้านค้าจำนวนมากที่จำน่ายสินค้าและของที่ระลึกต่าง ๆ จากต่างประเทศ ส่วนบริเวณนอกอาคารก็ล้อมรอบด้วยอาคารย่อย ๆ อีกหลายร้อยอาคาร มีพื้นที่กิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงศาลาของชาติต่าง ๆ
งานมหกรรมโลกครั้งนี้มีบุคคลสำคัญ ๆ เข้าชมงาน เช่น ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Tsar Alexander II of Russia), กษัตริย์วิลเลียมที่ 1 แห่งปรัสเซีย (King William of Prussia), บิสมาร์ก (Otto von Bismarck) เสนาบดีแห่งปรัสเซีย และจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ แห่งออสเตรีย (Franz Josef of Austria) แม้งานนี้จะสามารถดึงดูดผู้คนจากทุกสารทิศทั่วทวีปยุโรปและอเมริกาได้จำนวนมาก แต่เจ้าภาพจัดงานกลับประสบปัญหาขาดทุน เพราะการจัดงานเป็นไปอย่างหรูหราเหมือนงานรื่นเริงเฉกเช่นงานคาร์นิวอล (Carnival)
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีพระราชประสงค์จัดงานมหกรรมโลกครั้งนี้ขึ้นเพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในรัชสมัยของพระองค์ แต่การทุ่มงบประมาณจำนวนมากจนขาดทุนกลับทำให้ฝรั่งเศสได้รับผลกระทบในระยะยาว และส่งผลกระทบไปถึงช่วง สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) ค.ศ. 1870-1871 (อ่านเรื่องผลของสงครามเพิ่มเติ่ม ที่นี่) ที่ทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนีอย่างย่อยยับ และระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสก็ถึงกาลสิ้นสุด
ในโอกาสการจัดงานมหกรรมโลกนี้ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ยังได้รับเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้เป็นตัวแทนของชาวสยามในการรับเหรียญทองคำเชิดชูเกียรติจากการชนะเลิศการประกวดสินค้าพื้นเมืองที่นำมาแสดงในงานมหกรรมโลก Paris Exposition Universelle ณ กรุงปารีส เรียกได้ว่าเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาชาวสยามบนเวทีโลกที่จัดนอกประเทศเป็นครั้งแรก (ไกรฤกษ์ นานา, 2552 : 30)
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
บรรณานุกรม :
ไกรฤกษ์ นานา. (2552). ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่ทั้งหมด. กรุงเทพฯ: มติชน
________. (2550). สมุดภาพรัชกาลที่ 4 วิกฤตและโอกาสของรัตนโกสินทร์ในรอบ 150 ปี. กรุงเทพฯ: มติชน
________. (2556, 10 สิงหาคม). ทึ่งหลักฐานใหม่ เก่าที่สุด! ประวัติพระบรมรูปปั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยมีต้นกำเนิดจากไหน?. ศิลปวัฒนธรรม. 34(10): 150-152.
PARIS, FRANCE 1867 Exposition Universelle. (2019), from jdpecon.com/expo/wfparis1867.html
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 เมษายน 2562