เมื่อเยอรมันหยามศักดิ์ศรีฝรั่งเศส ประกาศรวมชาติ-ตั้งจักรวรรดิเยอรมนีกลางแวร์ซาย!!!

ประกาศ จัดตั้ง จักรวรรดิเยอรมนี หลัง สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย
ประมุขรัฐเยอรมันรวมตัวกันประกาศจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมนี ยก "ไกเวอร์วิลเฮล์ม" เป็นประมุขของจักรวรรดิ ใน 18 มกราคม ค.ศ. 1871 ณ พระราชวังแวร์ซาย (ภาพจาก www.britannica.com)

หากพูดถึงการรบในยุโรป สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) ช่วง ค.ศ. 1870-1871 คือสงครามครั้งสำคัญนับตั้งแต่สงครามนโปเลียนเมื่อตอนต้นศตวรรษ คู่สงครามคือฝ่ายจักรวรรดิฝรั่งเศสกับฝ่ายรัฐเยอรมันที่มีปรัสเซียเป็นผู้นำ ซึ่ง สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย นี้ส่งผลสืบเนื่องมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยทีเดียว

ความขัดแย้งระหว่างสองฝ่ายสะสมมาก่อนหน้านั้นตลอดหลายปี อันเนื่องมาจากการแข่งขันกันเป็นชาติมหาอำนาจในยุโรป ท้ายที่สุดฝ่ายรัฐเยอรมันได้รับชัยชนะ ทำให้ฝรั่งเศสต้องเสียศักดิ์ศรี และเก็บงำความแค้นรอวันเอาคืน

ภายหลังจาก “ปรัสเซีย” รัฐที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดารัฐเยอรมันเอาชนะจักรวรรดิออสเตรียในสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War) เมื่อ ค.ศ. 1866 ทำให้อำนาจของปรัสเซียเพิ่มสูงมาก แสดงให้เห็นว่าปรัสเซียก้าวขึ้นมามีอิทธิพลเหนือรัฐเยอรมันทั้งปวง และพร้อมที่จะเป็นคู่แข่งกับจักรวรรดิฝรั่งเศส

บิสมาร์ก เสนาบดีผู้คิดรวมรัฐเยอรมันเป็นหนึ่งเดียว

เวลานั้นปรัสเซียปกครองโดยพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 (Wilhelm I, King of Prussia) แห่งราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern) และมีเสนาบดีคนสำคัญคือ Otto Eduard Leopold von Bismarck-Schönhausen หรือที่รู้จักกันดีคือ “บิสมาร์ก”

บิสมาร์ก
Otto von Bismarck หรือที่รู้จักกันดีคือ “บิสมาร์ก” เสนาบดีปรัสเซียผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติเยอรมัน (ภาพจาก www.britannica.com)

บิสมาร์กมีความคิดที่จะรวมรัฐเยอรมันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ซึ่งในช่วงเวลานั้นดินแดนเยอรมันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ปรัสเซีย, สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation) ที่มีปรัสเซียเป็นประธาน และรัฐเยอรมันทางใต้ซึ่งประกอบไปด้วย Bavaria Württemberg และ Baden วิธีการหนึ่งที่บิสมาร์กต้องการรวมชาติเยอรมันคือการใช้สงครามเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ใช่การก่อสงครามรบกันภายใน หากเป็นการก่อสงครามจากภายนอก แล้วดึงให้รัฐเยอรมันร่วมมือกัน โดยจะนำมาซึ่งความเป็นเอกภาพและจะรวมชาติได้สำเร็จ

แผนที่ ดินแดน เยอรมัน ก่อนรวมชาติ
แผนที่ดินแดนเยอรมันในช่วงก่อนการรวมชาติ ค.ศ. 1871 (ภาพจาก family.kiwicelts.com)

แผนการที่บิสมาร์กวางไว้คือการยั่วยุฝรั่งเศสให้ก่อสงครามกับปรัสเซีย โอกาสเหมาะสมมาถึงใน ค.ศ. 1868 เมื่อเกิดการปฏิวัติในสเปนทำให้สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 2 แห่งสเปน (Isabella II, Queen of Spain) ต้องเสด็จลี้ภัยไปฝรั่งเศส จนราชบัลลังก์สเปนว่างลง

บิสมาร์กจึงพยายามติดต่อกับฝ่ายสเปนให้เชิญเจ้าชายเลโอโปลด์ (Prince Leopold of Hohenzollern-Sigmaringen) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ในสาขาหนึ่งของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นขึ้นปกครองสเปน เรื่องนี้ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ เพราะหากเจ้าชายเลโอโปลด์ปกครองสเปน ฝรั่งเศสจะถูกล้อมด้วยชาติที่ปกครองด้วยราชวงศ์เดียวกัน ซึ่งจะเป็นภัยต่อฝรั่งเศสอย่างมาก

กระทั่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1870 รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส (Napoleon III) ได้ประท้วงและขู่จะทำสงคราม โดยส่ง Count Vincent Benedetti เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ที่เมืองเอมส์ (Ems) เพื่อเรียกร้องให้ทรงยกเลิกการสนับสนุนเจ้าชายเลโอโปลด์ให้ครองราชบัลลังก์สเปน ในท้ายที่สุดเจ้าชายเลโอโปลด์ก็ทรงตัดสินพระทัยไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศส (ภาพจาก www.britannica.com)

ตัดแต่งโทรเลข

เรื่องดูจะจบลงด้วยดีเพราะแผนการของบิสมาร์กนั้นพังทลายลง มิหนำซ้ำยังทำให้ปรัสเซียล้มเหลวด้านการทูต แต่ฝ่ายจักรวรรดิฝรั่งเศสไม่ให้ยุติเพียงเท่านี้ Count Vincent Benedetti เข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 เพื่อร้องขอให้พระองค์ทรงให้คำมั่นสัญญาว่าในอนาคตเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 หรือคนในราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์นจะไม่อ้างสิทธิ์เหนือราชบัลลังก์สเปนอีก พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ทรงปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ และมีพระราชโทรเลขถึงบิสมาร์กเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทราบเรื่อง

บิสมาร์กทำการตัดแต่งโทรเลขฉบับนี้เสียใหม่ โดยมีเนื้อความเชิงว่าเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสบีบบังคับและขมขู่พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 จากนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1870 ก็นำโทรเลขฉบับตัดต่อลงเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ

“โทรเลขจากเมืองเอมส์” (Ems Telegram) ก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียอย่างมาก ในวันเดียวกันนั้นฝ่ายฝรั่งเศสจึงเรียกระดมพล เช้าวันถัดมาฝ่ายปรัสเซียจึงเรียกระดมพลเช่นกัน และในที่สุด วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1870 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จึงประกาศสงครามต่อปรัสเซีย อีกหนึ่งวันต่อมารัฐเยอรมันทางใต้จึงเข้าร่วมสงครามกับปรัสเซียด้วย

สงคราม

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสชิงประกาศสงครามก่อน เพราะพระองค์ได้ฟังความเห็นจากบรรดานายพลว่า กองทัพฝรั่งเศสมีความพร้อมรบเต็มกำลังและจะมีชัยชนะเหนือปรัสเซียเพราะเพิ่งจะมีการปฏิรูปการทหารไปเมื่อ ค.ศ. 1866 ซึ่งได้พัฒนาอาวุธชนิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะปืนไรเฟิลรุ่นใหม่ชื่อว่า Chassepot และ ปืนใหญ่ Mitrailleuse นอกจากนี้ พระองค์จะใช้สงครามครั้งนี้เป็นเครื่องมือเพิ่มความนิยมของพระองค์ในฝรั่งเศสอีกด้วย ทางด้านฝ่ายปรัสเซียก็รีบวางแผนการสงครามอย่างเร่งรีบแต่ก็เป็นไปอย่างรัดกุม การระดมพลของปรัสเซียเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสนั้นล่าช้าและเต็มไปด้วยความสับสน

จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 กับ พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ในช่วง สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (ซ้าย) กับพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 (ขวา) ในสมรภูมิที่เซดอง (Battle of Sedan) ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1870 ที่ฝรั่งเศสยอมจำนน (ภาพจาก www.britannica.com)

การปะทะของทั้งสองฝ่ายเป็นไปอย่างดุเดือด แต่ฝ่ายฝรั่งเศสกลับเพลี่ยงพล้ำและต้องล่าถอยไปเรื่อย ๆ กองกำลังปีกขวาของฝรั่งเศสนำโดยนายพล Partice-Mac-Mahon ในการรบที่สมรภูมิเซดอง (Battle of Sedan) ฝ่ายฝรั่งเศสเสียท่าฝ่ายปรัสเซียทำให้สูญเสียทหารหลายหมื่นนาย ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 เสด็จมาบัญชาการรบแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะปรัสเซียได้ กองทัพฝรั่งเศสจึงยอมจำนน จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พร้อมทหารอีกมากกว่า 83,000 นายถูกจับเป็นเชลย (ภายหลังจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ถูกเนรเทศและสิ้นพระชนม์ที่อังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1873)

พวกนิยมระบอบสาธารณรัฐในปารีสจึงลุกฮือประกาศปฏิวัติจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศส นำโดย เลอง กองเบตา (Léon Gambetta) จัดตั้งรัฐบาลป้องกันชาติ (Government of National Defence) และดำเนินการสู้รบกับฝ่ายปรัสเซียต่อไป แต่ฝ่ายปรัสเซียก็รุกไล่จนสามารถปิดล้อมกรุงปารีส ฝ่ายรัฐบาลป้องกันชาติพยายามเจรจากับบิสมาร์กเพื่อสงบศึก ด้านปรัสเซียยื่นเงื่อนไขว่าฝรั่งเศสต้องยกแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine) ให้ปรัสเซีย

ฝรั่งเศสไม่พอใจเงื่อนไขนี้ทำให้การเจรจาล้มเหลว จากนั้น เลอง กองเบตา ถึงกับต้องนั่งบอลลูนออกจากกรุงปารีสเพื่อไปดำเนินการรวบรวมทหารขึ้นมาใหม่แต่ก็ไม่สำเร็จผล ยิ่งไปกว่านั้นนายพลบาแซน (Bazaine) ที่ตั้งมั่นกองทัพฝรั่งเศสที่เมืองเมซ (Metz) พร้อมทหารอีกว่า 140,000 นาย ก็ประกาศยอมจำนนในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1870

เลอง กองเบตา กรุงปารีส ช่วง สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย
เลอง กองเบตา เตรียมเดินทางออกจากกรุงปารีสโดยบอลลูน เนื่องจากกองทัพปรัสเซียได้ปิดล้อมกรุงปารีส (ภาพจาก www.britannica.com)

ชาวปารีสยังคงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป ซึ่งการปิดล้อมดำเนินไปยาวนานกว่า 4 เดือน ที่สุดก็ไม่อาจอดทนกับสภาวะอดอยากจากการถูกปิดล้อมได้จึงตัดสินใจสงบศึกในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1871 โดยก่อนหน้านั้น ในวันที่ 18 มกราคม บิสมาร์กได้จัดประชุมบรรดาประมุขจากรัฐเยอรมันต่าง ๆ ในห้องกระจก ที่พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) โดยที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งจักรวรรดิเยอรมนี ซึ่งมีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ โดยมีพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 เป็นประมุขและเฉลิมพระนามใหม่ว่า “ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 แห่งจักรวรรดิเยอรมนี”

ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1
ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 แห่งจักรวรรดิเยอรมนี (ภาพจาก wikipedia.com)

ในวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1871 รัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีได้ทำสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (Treaty of Frankfurt) โดยฝรั่งเศสต้องยกแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน และเมซ ให้เยอรมนี ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวน 5,000 ล้านฟรังก์ และต้องให้ทหารเยอรมันยึดครองตอนเหนือของฝรั่งเศสไปจนกว่าจะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามครบ ผลของสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. 1870-1871 นั้นทำให้ฝ่ายเยอรมันรวมชาติได้สำเร็จตามแผนที่บิสมาร์กวางไว้

ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสได้รับความอัปยศและเสื่อมเสียเกียรติอย่างมาก โดยเฉพาะการเสียดินแดนนำมาซึ่งความเจ็บแค้นในใจชาวฝรั่งเศส สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ตทำให้ช่วง ค.ศ. 1871-1914 นั้นไม่ได้เกิดความสงบแต่อย่างใด อีกไม่นานฝรั่งเศสจะเอาคืนเยอรมันและจะสู้ตายถวายหัวในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อเอาดินแดนที่เสียไปกลับคืนมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Encyclopedia Britannica.  (2019). Franco-German War, from www.britannica.com/event/Franco-German-War.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2562