สถาปนิกเยอรมัน 100 ปีก่อนชี้ คนไทยคิดว่า “ตัวเองสำคัญสุดในโลก” และต้อง “สนุก” ไว้ก่อน

คาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกต่างชาติ ชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบ คุมการก่อสร้าง พระราชวังบ้านปืน
คาร์ล ดอห์ริง (Karl Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมัน (ภาพถ่ายไม่ระบุปี จาก The Country and People of Siam, 1999)

คาร์ล ดอห์ริง สถาปนิกหนุ่มเยอรมันที่เข้ามารับราชการในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2449 เป็นหนึ่งในชาวต่างชาติที่เดินทางมาสยาม เขาได้บันทึกประสบการณ์และความรู้สึกที่เคยสัมผัสคนไทย ซึ่งมีทั้งแง่ชื่นชมและการตั้งข้อสงสัย

ในบรรดาสถาปนิกต่างชาติที่เข้ามารับราชการในไทย คาร์ล ดอห์ริง (Karl Döhring) ได้รับความไว้วางใจจากชนชั้นสูงและพระมหากษัตริย์ หลังจากมีโอกาสได้ทำงานในกรมศุขาภิบาล ใน พ.ศ. 2452 และในปีเดียวกัน เขาก็ได้รับมอบหมายงานสำคัญ 2 ชิ้น คือ การสร้างวังของพระองค์เจ้า ดิลกนพรัฐ และในเดือนกันยายนปี 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งดอห์ริงเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระราชวังใหม่ที่เพชรบุรี หรือในชื่อซึ่งรู้จักกันคือ พระราชวังบ้านปืน

พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี
พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี

คาร์ล ดอห์ริง ยังได้รับงานสำคัญ อาทิ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มอบหมายให้สร้างวังสำหรับเป็นที่ประทับของพระมารดาของพระองค์ ใน พ.ศ. 2454 อย่างไรก็ตาม 2 ปีถัดมา คาร์ล ดอห์ริง ล้มป่วยและต้องเดินทางกลับเยอรมนีเพื่อรับการรักษา และไม่มีโอกาสเดินทางกลับประเทศไทยอีกเลย และเสียชีวิตใน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941)

Advertisement

ดอห์ริงบันทึกประสบการณ์การทำงาน และเขียนตำราเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและศิลปะในสยาม รวมถึงบันทึกเรื่องราวที่พบเห็นทั่วไปในหนังสือดั้งเดิมที่ชื่อ Siam, Land und Volk และถูกพิมพ์ใหม่ในชื่อ The Country and People of Siam มีเนื้อหาบรรยายลักษณะธรรมเนียม, ประเพณี, ศิลปะ และแง่มุมทางกฎหมายในสยาม

The Country and People of Siam ผลงาน Karl Döhring
The Country and People of Siam ผลงาน Karl Döhring (ภาพจาก Kinokuniya Thailand)

เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าลักษณะนิสัยของประชากรสยามไว้อย่างน่าสนใจ เขาบรรยายว่า ธรรมชาติดั้งเดิมแล้วผู้คนในสยามเป็นคนที่ใจดีชื่นชมยินดีกับชาติของตัวเองอย่างมาก และคิดว่าพวกเขาเป็นคนที่สำคัญที่สุดในโลกใบนี้ ขณะที่อิทธิพลจากพุทธศาสนาที่เข้ามาในดินแดนนี้นานหลายร้อยปี ได้กล่อมเกลาให้คนสยามเป็นคนใจบุญ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“…ในย่านชนบทที่อิทธิพลเชิงลบในเมืองใหญ่ยังเข้าไม่ถึงโดยเฉพาะในเมืองท่าของกรุงเทพฯที่ยังไม่ได้เปิดรับมากนัก พวกเขาเป็นคนปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ร้อนอกร้อนใจ ร่าเริง และเป็นมิตร ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ไม่มีความคิดมุ่งร้าย

อย่างไรก็ตาม พวกเขามีแนวโน้มไปทางเกียจคร้าน (ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์) อยู่บ้าง และมักชื่นชอบการละเล่น การละเล่นแบบใดก็ได้เป็นที่สนใจในหมู่ชาวสยามเสมอ…”

ลักษณที่โดดเด่นของชาวสยามในความคิดเห็นของ คาร์ล ดอห์ริง คือรูปแบบการทักทายกัน เมื่อเพื่อนพบหน้ากันจะทักทายกันด้วยประโยคอย่าง “สบายดีไหม” ตามมาด้วยถามทุกข์สุขว่า “ช่วงนี้สนุกไหม” ซึ่งคาร์ล เล่าว่า คำว่า “สนุก” นี้แทบเป็นคำที่มีความสำคัญมากที่สุดในภาษาที่ชาวสยามใช้ สื่อความหมายถึงความรื่นรมย์ ความพึงพอใจ ปิติยินดี

ส่วนคำที่ตรงข้ามกับ “สนุก” คือ “ลำบาก” เขามองว่า สิ่งที่คนยุโรปไม่ได้มองว่าลำบาก แทบทุกอย่างถูกชาวสยามจัดว่าเป็นสิ่ง “ลำบาก” ทั้งสิ้น อาทิ การทำงานเกินแรง หรืออะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามใจต้องการ แม้แต่การรอคอยบนท้องถนนก็ใช่ และเมื่อมีใครประสบ “ความลำบาก” ก็ไม่ใคร่จะปกปิดความนึกคิดสักเท่าไหร่

“…คนไทยพร้อมจะเล่นสนุกสนานกันตลอด ขณะที่เมื่อพบกับเรื่องที่ไม่เข้าทาง หรือโชคร้าย พวกเขายอมจำนนกันแล้ว และปล่อยเรื่องเหล่านี้ไปด้วยวลี ‘ไม่เป็นไร’…”

เรื่องนี้อาจมองเป็นเรื่องปกติทั่วไปในฐานะความคิดเห็นของชาวต่างชาติ แต่ถ้าย้อนกลับไปอ่านมุมมองของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามตั้งแต่ 500 ปีก่อน ก็เป็นการผลิตซ้ำแบบเดิม มุมมองต่อชาวสยามเรื่องความเกียจคร้านก็ยังคงอยู่เสมอ

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวบรวมความคิดเห็นของชาวต่างชาติ 9 ราย ที่มาจาก 5 ชาติ ต่างมีมุมมองชาวไทยเรื่องความเกียจคร้าน

  1. นายปินโต ชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระชัยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบครั้งแรกในเมืองไทย
  2. นายเซาเตน ชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดาในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
  3. นายวันวลิต เป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้
  4. นายฟอร์บัง เป็นนายทหารฝรั่งเศส เข้ามารับราชการเป็นขุนนางไทย ได้ยศเป็นออกพระศักดิ์สงคราม คุมทหารที่ฝึกแบบยุโรป (มีปืนและหอกเป็นอาวุธ ประจำกาย) จำนวน 2,000 คน ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ธนบุรี
  5. นายยอห์น ครอเฟิด คนไทยเรียก “กาลาผัด” เป็นทูตอังกฤษ มาในรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทยเป็นจำนวน 183 หัวข้อ
  6. นายคาร์ล กุตสลาฟ คนไทยเรียกว่า “หมอกิศลับ” ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรก ที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก
  7. นายมัลล้อก พ่อค้าอังกฤษ มาในรัชกาลที่ 4 เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้า และเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคงเป็นรายงานที่ยาวถึง 122 หน้า
  8. นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยา ชาวฝรั่งเศส เข้ามาในรัชกาลที่ 4 เขาใช้เวลา 3 ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย
  9. เซอร์เฮนรี นอร์แมน เป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในรัชกาลที่ 5

หรือแม้แต่ชนชั้นสูงในประเทศเองก็ยังมองว่า ลักษณะนิสัยของคนไทยเป็นคนเกียจคร้าน หลวงวิจิตรวาทการ ปาฐกถาทางวิทยุกระจายเสียง เรื่อง “มนุสสปฏิวัติ” พ.ศ. 2482 เนื้อหาตอนหนึ่งมีใจความว่า

“เรามีอะไรที่ถ่วงความก้าวหน้าของบ้านเมืองไว้ เรามีอะไรที่ทำให้เราสู้ต่างชาติไม่ได้ เรามีอะไรที่วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะเป็นภัยใหญ่หลวง ถึงกับสามารถจะทำให้ชาติไทยทั้งชาติล้มราบสาบสูญไปได้…ข้าพเจ้ามองเห็นอยู่เพียงอย่างเดียวในเวลานี้ คือการที่เราไม่ขยันขันแข็งพอ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าเราอ่อนแอในการทำงาน มีหนังสือฝรั่งหลายเล่มเมื่อเวลาพรรณนาถึงลักษณะของไทยเรามักอธิบายว่า ไทยเรานั้นมีลักษณะเกียจคร้าน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Döhring, Karl. The Country and People of Siam. Translated by Walter E.J. Tips. White Lotus Co. Ltd., Bangkok. 1999

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. “จุดอ่อนคนไทย ในสายต่างชาติ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. พฤศจิกายน 2549, มีนาคม และเมษายน 2550


แก้ไขปรับปรุงในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 4 มีนาคม 2562