ทำไมฝรั่งเปรียบชาวสยาม “ขี้เกียจ-เฉื่อยชา-ไม่ค่อยได้เรื่อง” ต่างจากคนจีน?

คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก www.wikimedia.org)

ขี้เกียจ เฉื่อยชา ไม่ค่อยได้เรื่อง เป็นกลุ่มคำที่ครั้งหนึ่งฝรั่ง “นิยาม” พฤติกรรมของชาวสยาม ขณะเดียวกันก็เปรียบเทียบว่าต่างจากคนจีนที่ดูเอาการเอางาน ขยันทำมาหากิน

การเปรียบเทียบดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย อองรี มูโอต์ นักสำรวจชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังสยามช่วงเวลานั้น กล่าวถึงลักษณะนิสัยของชาวสยามไว้ว่า

“ชาวสยามดูเป็นคนมีอุปนิสัย ร่าเริง และมีความสุข นอนหลับสบายโดยไม่เคยต้องวิตกกังวลถึงวันพรุ่งนี้หรือหากจะกล่าวกันจริง ๆ แล้ว เขาก็ไม่ได้ต่างอะไรเลยกับพวกเกียจคร้าน ปล่อยชีวิตไปวัน ๆ” 

ยิ่งไปกว่านั้น นักสำรวจชาวฝรั่งเศสยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า

“ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงทำการเพาะปลูกแค่เพียงพอสำหรับบริโภคภายในครอบครัว และยังเป็นชนชาติที่มีนิสัยเฉื่อยชา จึงทำให้การเพาะปลูกโดยส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือชาวจีน”

แล้วเปรียบเทียบชาวสยามกับชาวจีนไว้ด้วยว่า

“ชาวสยามเท่าที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นดูไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวนัก ในขณะที่ชาวจีนมีท่าทีเป็นมิตร ดูโอบอ้อมอารีหรือหากจะเปรียบเทียบก็เหมือนคนป่ากับคนที่เจริญแล้ว โดยฝ่ายหนึ่งบ่มเพาะไว้แต่ความเกียจคร้าน ในขณะที่อีกฝ่ายขยันขันแข็งทำมาหากิน”

อย่างไรก็ตาม นี่คือการบันทึกจากมุมมองของมูโอต์ ซึ่งต้องพิจารณาจากบริบทสังคมขณะนั้นด้วย อาทิ ช่วงรัชกาลที่ 1 ชาวสยามต้องถูกเกณฑ์เป็นไพร่ และทำงานให้รัฐตามระบบ หรือที่เรียกว่าเข้าเดือนออก 2 เดือน หรือเข้าเดือนออก 3 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งการเกณฑ์นี้ไพร่จะไม่ได้รับค่าจ้าง แม้ว่าต่อมาชาวสยามจะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเฉกเช่นเดียวกับชาวจีน แต่ก็ไม่ได้ต่อเนื่อง เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว

กลับกัน ชาวจีนสามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ โดยไม่มีข้อผูกมัดมากเท่าชาวสยาม ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ตั้งแต่อาศัยอยู่บ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง หรือในเวลาต่อมาชาวจีนเริ่มมีเส้นสายสำหรับการค้าขายมากยิ่งขึ้น มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชนชั้นสูงของสยาม ทำให้ชาวจีนสามารถขยับสถานะทางสังคมและสะสมความมั่งคั่งได้มากกว่า

การเปรียบเทียบของมูโอต์ที่ว่าชาวสยาม ขี้เกียจ เฉื่อยชา ไม่ค่อยได้เรื่อง จึงต้องนำสภาพสังคมยุคนั้นเข้ามาพิจารณาประกอบกันด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. “จุดอ่อนของคนไทยในสายตาต่างชาติ”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2550.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2566