ทูตเยอรมันคนแรกในสยามวีนแตกในทริปไปอยุธยา บ่นที่พักแย่ ไล่พระเพื่อเข้านอนแทน

กราฟ ฟรีดิช ซู ออยเลนบวร์ก (Graf Friedrich zu Eulenberg) ภาพจาก Preussische Expedition nach Ost-Asien, 1860-1862" (เผยแพร่ยุค 1860s) ไฟล์ภาพ Public Domain ฉากหลังเป็นเพียงภาพประกอบเนื้อหา ภาพซากโบราณสถานวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่สยามเริ่มเปิดความสัมพันธ์กับนานาประเทศมากขึ้น และในสมัยนี้เองที่สยามเริ่มคบค้ากับเยอรมนีในฐานะประเทศซึ่งถ่วงดุลอำนาจฝรั่งเศสและอังกฤษ เยอรมนีส่ง “ทูตเยอรมัน” คนแรกมาเยือนสยามช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ราชทูตรายนั้นคือ กราฟ ฟรีดิช ซู ออยเลนบวร์ก (Graf Friedrich zu Eulenberg) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตของปรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1859 นำคณะราชทูตไปสำรวจ เปิดสัมพันธไมตรี และเจรจาสนธิสัญญาการค้ากับประเทศเอเชียตะวันออก

[ณ ช่วงเวลานี้ ชาวเยอรมันรัฐต่าง ๆ ยังไม่มีการรวมชาติ ในดินแดนเยอรมนีมีปรัสเซียเป็นรัฐใหญ่ที่ทรงอำนาจมากที่สุด และจะเป็นแกนนำในการรวมชาติเยอรมันในระยะเวลาต่อมาคือ ค.ศ. 1871]

ออยเลนบวร์ก ถือกำเนิดในปรัสเซีย เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตก็สามารถปฏิบัติหน้าที่สำเร็จลุล่วง โดยเจรจาทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1861 และจีนเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน จากนั้นจึงเดินทางมาสยาม และทำสนธิสัญญาทางการค้าและเดินเรือเมื่อกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1862 ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสนธิสัญญาทางการฉบับแรกระหว่างเยอรมนีและสยาม

ออยเลนบวร์ก เดินทางมาถึงสยามเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1861 ในการทำภารกิจครั้งนี้เขาเขียนจดหมายบันทึกบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับภารกิจ และสภาพต่างๆ ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ส่งไปถึงน้องชายคือ กราฟ ฟิลิปป์ ซู ออยเลนบวร์ก เนื้อหาในจดหมายเป็นการบอกเล่าความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และภารกิจในการเดินทางมาเอเชียตะวันออกตั้งแต่ออกเดินทาง บันทึกเรื่อยมาจนถึงญี่ปุ่น จีน และสยาม เขียนในรูปแบบบันทึกประจำวันซึ่งเนื้อหาย่อมมีรายละเอียดบอกเล่าข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย

ออกเดินทางไปเที่ยวชมอยุธยา

ในช่วงต้นปี 1862 เนื้อหาในจดหมายช่วงหนึ่ง ออยเลนบวร์ก เขียนเล่าถึงทริปการเดินทางไปอยุธยาโดยเรือที่เรียกว่า “Arrow” จดหมายลงวันที่ 30 มกราคม 1862 เล่าถึงวันแรกของการเดินทางว่า คณะเดินทางกลุ่มหนึ่งที่มาพร้อมกับออยเลนบวร์ก ขึ้นเรือชื่อ “Royal Seat” ออกไปก่อนเที่ยวหนึ่งในเวลา 2 ทุ่ม ออยเลนบวร์ก อธิบายว่า เป็นเพราะเรือแล่นช้ากว่า Arrow จึงล่วงหน้าไปก่อน ส่วนตัวเขาเองขึ้นเรือ Arrow ตอน 3 ทุ่ม แรกเริ่มก่อนเดินทางไป ออยเลนบวร์ก บรรยายในจดหมายว่า

“ฉันเห็นมีการจุดคบเพลิงสว่างไสว มีทหารเรือและวงดนตรีตบเท้ามาเข้าแถวเต็ม พอเรือเริ่มออกทหารได้ส่งเสียงโห่ร้อง ฮูร่าดังก้อง พร้อมกับโบกธง และดนตรีก็เริ่มบรรเลงเพลงมาร์ชคึกคักทำนองเพลงปลุกใจให้รักชาติ และแล้ว ในไม่ช้าฉันก็ต้องเข้านอนบนเตียงนอนน่ารักจุ๋มจิ๋ม ในเคบินสวยงามที่เย็นดีทีเดียว ฉันปล่อยตัวเองให้อยู่ในความดูแลของกัปตันและเหล่าทหารเรือของสยามอย่างสุขสบายเต็มที่”

บรรยากาศในวันออกเดินทางจากการบรรยายทำให้เห็นว่าเต็มไปด้วยความแจ่มใสทีเดียว แต่ในวันรุ่งขึ้น เมื่อออยเลนบวร์ก อยู่ระหว่างทาง เขากลับเล่าเรื่องราวที่พลิกกลับอีกด้านจากความหวังรับความสุขสบายตามที่คิดในวันแรก

ยามเช้าของวันที่ 31 มกราคม เขาเขียนเล่าว่า เขาตื่นมา 6 โมงเช้า สภาพอากาศเวลานั้นหนาวเย็นมาก แม่น้ำแยกออกเป็นแควหลายสาย เป็นสายน้ำเล็กๆ แคบกว่าแม่น้ำสายหลัก ในแม่น้ำมีปลาชุกชุม ขณะแล่นเรือมีปลาตัวใหญ่ยาวเกือบหนึ่งศอกกระโดดขึ้นมาบนท้องเรือที่ออยเลนบวร์ก และพวกโดยสาร พวกทหารจัดการให้ปลาตัวนั้นกลายเป็นอาหารเช้า

เรือ Arrow มาถึงอยุธยาเวลา 10 โมงเช้า ชั่วโมงต่อมา เรืออีกลำจึงมาสมทบ จดหมายที่ลงวันที่ 31 ธ.ค. 1862 เอ่ยถึงสภาพที่เริ่มวุ่นวายเล็กน้อยก่อนในตอนหนึ่งว่า (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกต่อการอ่านออนไลน์-กองบก.ออนไลน์)

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์ไปกับพวกเรา ท่านผู้นี้ได้เดินทางล่วงหน้ามาถึงอยุธยาก่อนแล้ว เราจะไปพบกับท่านที่นั่น ล่ามประจำบ้านของเรา นายเฮนดริช (Hendrix) จึงออกเที่ยวเดินหาท่านผู้นั้น ในไม่ช้าก็เดินกลับมาพร้อมกับชายร่างอ้วน ยิ้มหวาน แต่งตัวฉุยฉายสะดุดตามาก เขาสัญญาว่าอีกประเดี๋ยวพวกเราจะได้รับเสบียงอาหารลำเลียงมาส่งที่เรือมากมาย เพียงพอสำหรับอีก 2 วันข้างหน้า เมื่อมีความหวังเช่นนั้น เราจึงกินอาหารเช้าทุกอย่างที่เอามาจากบางกอกจนหมด แล้วก็ส่งเรือ Royal Seat กับขบวนผู้เดินทางในลำนั้นออกแล่นนำหน้าไปก่อนเหมือนเดิม

แต่แทนที่เราจะได้เสบียงอาหาร กลับเป็นรองผู้ว่าราชการของตำบลนั้นออกมาขอโทษว่า เขาได้รับข่าวการเดินทางมาของพวกเราช้ามาก จึงจัดการเตรียมให้ไม่ทัน ปล่อยให้เรานั่งคอยปลาและเนื้อสด ซึ่งเป็นหมูครึ่งตัวอยู่ถึงบ่าย 4 โมงเย็นกว่าจะออกเดินทางต่อไปได้…”

ในจดหมายยังเล่าเพิ่มเติมเล็กน้อยว่า พวกคนบนเรือต้องออกล่าไก่แถวนั้นมาเพิ่มเติมด้วย ขณะที่คณะของพวกเขาไม่ได้ลงจากเรือไปไหนเพราะเตรียมเที่ยวชมอยุธยาจนกว่าจะกลับเท่านั้น

หลังจากนั้นเรือก็แล่นต่อ โดยออยเลนบวร์ก เล่าย้อนไปว่า เขาได้บอกให้พรรคพวกในเรืออีกลำ แล่นไปจนถึง 6 โมงเย็นแล้วให้หยุดทอดสมอ เนื่องจากคำนวณแล้วว่าน่าจะไปพบกันตรงจุดพอดี แต่เมื่อเย็นลงใกล้มืดค่ำ เรือของออยเลนบวร์ก ก็ยังไม่ถึง แถมยังเจอเรื่องชุลมุนอีกครั้ง

“ทันใดเราได้ยินเสียงโครมใหญ่ เราได้แล่นเข้าชนเรือบรรทุกข้าวลำใหญ่เข้าแล้ว เรือลำนั้นจมลงไปภายในเวลา 2-3 นาที พวกคนจีนที่อยู่บนเรือต่างตะเกียกตะกายช่วยชีวิตตนเอง ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของพระเจ้าอยู่หัวที่นั่งมาในเรืออีกลำที่ผูกโยงกับเรือของเราได้เรียกพวกคนจีนที่ร้องไห้โวยวายมารวมกันต่อหน้า แล้วก็ว่าอะไรพวกเขาเสียงดังเอะอะ

เมื่อฉันไปถามล่ามว่า เขาพูดว่าอะไรกับพวกคนจีนเรือข้าว ฉันก็ได้รับรู้ว่า เขาด่าว่าพวกนั้นใหญ่ แล้วบอกว่าจะไม่เอาเรื่องอะไร นี่ถ้าไม่เห็นว่าเพราะพวกนั้นต้องเสียทรัพย์สินไปหมดแล้วละก็ พวกเขาจะต้องถูกลงโทษอย่างหนักที่อวดดีปล่อยให้เรือกลไฟหลวงชน

ฟังแล้วฉันรู้สึกเหลือทนออกจะมากไปแล้ว ฉันจึงสั่งการให้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมาหาแล้วก็ตะเพิดเอาว่า เหตุใดเขาจึงอวดดีไปใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นต่อหน้าฉัน แล้วฉันก็ล้วงลงไปในกระเป๋า หยิบเงินฟ่อนใหญ่ให้กับคนเรือชาวจีน แม้ว่ากระเป๋าของฉันจะแฟบไปอักโข เอาเถอะเงินนั้นก็เพียงพอให้พวกเขาเอาไปลงทุนค้าขายข้าวใหม่ได้ เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันรู้สึกหัวเสียมาก ฉันออกคำสั่งให้ทอดสมอ เรากินข้าวกันบนเรือ เวลากลางคืนอากาศสบายดี”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ไป “พระบาท” ทางบก

หลังจากผ่านเรื่องชุลมุนยามเย็นไปได้ วันต่อมา จดหมายอันลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1862 เล่าว่า ออยเลนบวร์ก ตื่นตอน 7 โมงครึ่ง พวกเขาเริ่มออกเรือแต่เช้าตรู่ เมื่อเดินเรือได้สักพักก็มาถึงจุดที่ระดับน้ำทำให้แล่นเรือต่อไม่ได้ ในจุดนั้นเองที่ได้พบกับเรือกลไฟของอีกคณะ เส้นทางต่อไปที่จะไปปลายทางคือพระบาทนั้น ต้องไปทางบก เรื่องนี้ออยเลนบวร์ก เล่าไว้ว่า

“เจ้าหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินชื่อหลวงเสนาภักดี ได้ให้คำรับรองว่าทุกอย่างได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไรขาดเหลือ แต่ในความเป็นจริง ปรากฏว่าข้าวของหีบห่อถูกบรรทุกใส่เกวียนที่มีล้อใหญ่มโหฬาร ใช้กระบือลากเกวียนละ 2 ตัว โดยมีช้างบรรทุกของออกเดินนำหน้าไปก่อนแล้ว

สำหรับพวกเราสุภาพบุรุษ 8 คน และคนใช้อีก 2-3 คน เหลือช้างให้ขี่อีกเพียง 3 เชือกเท่านั้นเอง เราจึงต้องนั่งคอยจนบ่าย 3 โมง เพราะไม่เคยคิดว่าเขาจะให้เราทั้งหมดเบียดกันขึ้นไปนั่งบนหลังช้าง 3 เชือกได้อย่างไร ทันใดนั้นเราก็ได้ยินว่า อีตาหลวงคนนั้นได้ขึ้นช้างขี่ออกเดินทางล่วงหน้าไปพระบาทก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงรีบส่งล่ามให้ออกไปค้นหายานพาหนะมาให้เรา

ปรากฏว่าล่ามสามารถจัดหาลูกม้ามาได้ 5 ตัว ฉันจึงขึ้นนั่งบนหลังช้างเชือกหนึ่ง พีเซล (อัครราชทูตพีเซล – Pieschel) และเอากุส (อุปทูตกราฟ เอากุส ซู ออยเลนบวร์ก – Graf August zu Eulenburg) นั่งอีกเชือกหนึ่ง

ส่วนบุนเซล (อุปทูตฟอน บุนเซน – V. Busen) และหมอลูซีอุส (ดร.ลูซีอุส แพทย์ประจำคณะ) นั่งบนหลังช้างเชือกที่สาม และคนอื่นๆ ที่เหลือให้ขี่ลูกม้าไป โดยให้รีบล่วงหน้าไปก่อน เพราะช้างกลัวม้า จึงไปพร้อมๆ กันไม่ได้…”

หากสงสัยเรื่องประสบการณ์ชาวยุโรปในการขี่ช้างนั้น ออยเลนบวร์ก เล่าความลำบากไว้หลายประการ เริ่มแรกนั่นคือการปีนไปนั่งที่พักหลังช้าง “ต้องไต่ต้องปีนกันอย่างทุกลักทุเลจริงๆ” การนั่งเริ่มแรกก็นั่งในท่า “กึ่งนั่งกึ่งนอนขวาง” อยู่บนหลังช้าง แต่เวลาช้างเดินก็รู้สึกขย่มมากจนเปลี่ยนมานั่งหันหน้าไปทางหัวช้าง ปล่อยขาห้อยมาจากขอบของโต๊ะที่นั่ง เอาหมอนมารองใต้เข่ากันเจ็บ

ออยเลนบวร์ก บรรยายสภาพทิวทัศน์ในการเดินทางซึ่งอาจสะท้อนสภาพสยามในยุคนั้นได้บ้างว่า “…ผ่านทุ่งนาที่แห้งแล้งในระยะแรก ต่อมาเป็นลำธาร มีสะพานใหญ่ก่ออิฐถือปูนข้าม จากนั้นเข้าเขตป่าซึ่งมีแต่ต้นไผ่เป็นส่วนใหญ่ กอไผ่ขึ้นดกหนาแน่น กิ่งโค้งปกคลุมทำให้ทางเดินร่มรื่น มองดูสวยงามในตอนแรกๆ แต่นานๆ เข้าก็น่าเบื่อ เพราะทั้งป่าเห็นแต่ต้นไผ่ เงียบเชียบ ไร้ชีวิต ไม่มีนก ไม่มีลิงค่าง ไม่มีอะไรเลย นานๆ เราจะเห็นขบวนเกวียนใช้ควายหรือไม่ก็ใช้ช้างลาก…” 

โวยเรื่องที่พักระหว่างทาง

การเดินทางเป็นไปจนถึงมืดค่ำ สมัยนั้นยังไม่มีแสงสว่างเหมือนเช่นปัจจุบัน น่าจะพอจินตนาการได้ว่า ธรรมชาติเวลานั้นมืดมิดดำสนิท แม้แต่ควาญช้างที่นั่งข้างหน้าติดกันก็มองไม่ชัดเจน

หลังจากเดินทางราว 5 ชั่วโมงก็มาถึงพระบาทในเวลา 3 ทุ่ม เริ่มเห็นแสงสว่างจากกองไฟเป็นระยะ พวกเขาย่อมดีใจ เพราะกองไฟหมายถึงอาหารและที่นอน แต่ไม่ง่ายดังนั้น

ออยเลนบวร์ก บรรยายในจดหมายว่า พวกพีเซลที่เดินทางมาถึงก่อน มาหาพวกออยเลนบวร์ก ด้วยสีหน้าบูด พร้อมเล่าถึงสภาพที่พักซึ่งเจ้าภาพจัดไว้ว่า

“…มันเป็นคอกสัตว์ชัดๆ ไม่มีครัว ไม่มีอาหาร ไม่ได้มีการขนอาหารมาเตรียมไว้ให้ และนายคนที่เป็นเจ้าหน้าที่นำทางของพระเจ้าแผ่นดินก็ยังไม่โผล่หน้ามาให้เห็นเลย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องส่งคนไปหาผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าเมืองมา

เมื่อท่านผู้นั้นมาถึง เราพยายามพูดออกท่าออกทางประกอบให้ท่านเข้าใจว่าคณะของเราเป็นคนมีเกียรติ สมควรจะได้รับการต้อนรับให้เข้าไปพักในบ้านที่ดีที่สุดของที่นี่ พร้อมได้รับการเลี้ยงอาหารอย่างดีสมฐานะ ขณะที่กำลังพูดจาแนะนำขอความเห็นใจกันอยู่นั้น ตาคุณหลวงผู้เป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทั้งหมดเพราะความไม่ใส่ใจดูแลและตระเตรียมงานให้ดีก็โผล่มาพร้อมกับยิ้มหวาน ราวกับว่าทุกอย่างไม่มีอะไรบกพร่อง ทำให้ฉันโกรธมาก

ฉันกำมือแน่นพร้อมกับว่าเขาเป็นภาษาเยอรมันว่า เขาคือคนกะล่อนเหลวไหลเลวทราม แล้วฉันก็สั่งการให้ล่ามแปลให้เขาฟังว่า ถ้าเขาไม่จัดการภายใน 5 นาทีนี้หาที่อยู่ที่เหมาะสมและหาอาหารมาให้พวกเรากินให้ได้ ฉันจะนำเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะฟ้องร้องเกี่ยวกับตัวเขา เพราะฉันรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินแก่เขาถึง 214 บาท เพื่อนำมาใช้ในการจัดการดูแลพวกเรา มิให้ขาดตกบกพร่องในสิ่งใด

คราวนี้ตาคุณหลวงตกใจกลัว หันหน้าไปแสดงอาการโกรธเกรี้ยวเอากับผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่ใช่คนผิดสักนิดเดียว แล้วก็บอกผ่านล่ามว่า เจ้าฟ้ากรมหลวงทรงมีบ้านอยู่ในตำบลนี้หลังหนึ่ง แต่ตอนนี้บังเอิญมีพระสงฆ์ที่จาริกแสวงบุญมาที่นี่เข้าไปอยู่กันเต็ม แล้วก็นอนหลับหมดแล้วด้วย ฉันจะออกคำสั่งให้ไล่พระสงฆ์ออกไปให้หมดไหมล่ะ ฉันให้สัญญาณมือบอกตกลง…

หลังจากตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ผ่านไป 15 นาที มีผู้นำข่าวมารายงานว่า จัดการให้พระสงฆ์ออกไปจากบ้านหมดแล้ว เชิญให้ออยเลนบวร์ก ไปดูบ้าน ทูตบรรยายว่า ตัวบ้านดูดีไม่เลว แต่ไม่มีครัว

และที่แย่ที่สุดคือพวกพระสงฆ์ที่มาอยู่นั้นได้ทำบ้านเหม็นคลุ้งไปหมด มองดูแล้วรู้สึกว่าพวกท่านได้ทิ้งมด ทิ้งแมลงและแมลงสาบอะไรไว้เต็ม จนฉันต้องบอกว่า เราไม่สามารถเข้าไปอยู่ได้ พร้อมกับร้องขอให้ช่วยทำความสะอาดวังที่เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ซึ่งตามปกติเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาที่นี่จะทรงใช้เป็นที่ประทับให้แทน คำขอร้องของฉันได้รับการปฏิบัติตามทันที…”

สำหรับวังที่เอ่ยถึงนั้น ออยเลนบวร์ก เล่าไว้ว่า ผู้ใหญ่บ้านพร้อมคนจำนวนหนึ่งเข้าไปช่วยกันทำความสะอาด วังแห่งนี้ตามเนื้อหาในจดหมายบอกว่า มีห้องโถงใหญ่ 1 ห้องที่ชั้นล่าง ห้องไม้ขัดแตะเล็กๆ 2 ห้อง กับห้องจิ๋วอีกแห่งที่ชั้นบน คณะเดินทางเข้านั่งในห้องโถงเปิดโล่งร่วมรับประทานอาหารในตอนเที่ยงคืนบนเก้าอี้และม้านั่งซึ่งประดิษฐ์ขึ้นใช้ชั่วคราว แต่เมื่อได้ที่พักพอใจ คณะเดินทางอารมณ์ดี หน้าตาแจ่มใส

“เราดื่มแชมเปญ โดยไม่ยอมแบ่งให้พวกข้าราชการและผู้ใหญ่บ้านที่นั่งอยู่กับพื้นมองพวกเราอยู่ได้ร่วมดื่มด้วย เพื่อเป็นการลงโทษ ตอนประมาณตีสอง เมื่อเราเข้านอน โดยนอนบนเสื่อที่เราเอาติดตัวมาด้วย ปูไปบนพื้นเรือนนั่นแหละ พวกข้าราชการและคณะกรรมการหมู่บ้าน จึงลากลับไป แล้วไฟก็ค่อยๆ ดับมอด”

ในยามค่ำคืนมีลมหนาวพัดรุนแรงจนคณะหนาวสั่น เนื่องจากฝาห้องเป็นเสื่อสาน ลมพัดลอดได้ง่าย

เมื่อถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คณะมีแผนเดินทางไปวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธบาท ไต่ขึ้นตามเนินเขาถึงยอดที่พระพุทธบาทประดิษฐาน และยังผ่าน “ถ้ำหินอ่อนที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่” อยู่ในนั้น

คณะเดินทางกลับในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ช่วงตี 4 คนรับใช้เริ่มเก็บของใส่หีบห่อ ใส่เกวียนเพื่อเดินทางกลับไปที่จอดเรือ คณะจะเดินทางตามไปตอน 7 โมง ซึ่งออยเลนบวร์ก ออกคำสั่งย้ำจนได้ช้าง 13 เชือก มีช้างขี่คนละเชือกได้ ถึงฝั่งแม่น้ำที่ท่าลงเรือในตอนเที่ยงวัน เปลี่ยนจากขี่ช้างไปลงเรือ ออกเดินทางต่อไปถึงอยุธยาตอนเย็น

ไปถึงอยุธยา

ที่อยุธยานั้น ออยเลนบวร์ก เล่าไว้ว่า เจ้าเมืองอยุธยาคนที่หนึ่งในฐานะแม่ทัพ ได้นำทหารไปเขมร เจ้าเมืองคนที่สองจึงเป็นผู้มาต้อนรับ รายนี้มีอายุมากกว่าเจ้าเมืองคนที่หนึ่ง แต่ “ขี้โอ่มาก ไว้เล็บมือยาว ใส่เสื้อแจ็คเกตผ้าไหมสีฟ้าอ่อน แสดงท่าทางว่าพอใจในความหล่อเหลาของตัวเหลือเกิน” ซึ่งเจ้ามืองคนที่สองนี้ ได้รับมอบหมายพาชมสถานที่ต่างๆ โดยนั่งเรือนำแล่นนำหน้าเรือของคณะ

ที่แรกได้ดูวัดแจ้ง (Wat Tscheng) ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งองค์ใหญ่มหึมาปิดด้วยทองคำเปลว จากคำบอกเล่าของออยเลนบวร์ก ช่างทำให้นึกย้อนถึงสภาพในเวลาต่อมาว่า “ที่นี่มีคนจีนมากราบไหว้บูชาคึกคักส่งเสียงเอะอะ พร้อมกับมีเล่นดนตรีประกอบเสียงดังหูดับตับไหม้”

หลังจาก “วัดแจ้ง” ก็ได้ดูวัดหนึ่งแล้วไปที่วัดภูเขาทอง ออยเลนบวร์ก สนใจวัดนี้และบรรยายว่า ตั้งอยู่กลางทุ่ง มีลักษณะพิเศษงดงาม แต่ “ปรากฏว่าถูกทอดทิ้งทรุดโทรมกว่าที่ท่านบิชอป ปาลเลกัวส์ ได้เคยเขียนบรรยายไว้มากในหนังสือเกี่ยวกับสยามของท่าน” 

เมื่อกลับมาถึงเรือกลไฟ ออยเลนบวร์ก มอบแชมเปญเป็นของขวัญให้เจ้าเมือง จากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ  โดยออกเดินทางตอนเช้าเวลา 6 โมง ถึงกรุงเทพฯ เวลา 10 โมงเช้า

ไม่กี่วันหลังจากกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 7 ก.พ. 1862 จึงปรากฏการเซ็นสัญญาพระราชไมตรีทางการค้า เริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้า พีเซลและผู้ช่วยทูตสลับเปลี่ยนชี้แจงใจความในสนธิสัญญาที่สยามเห็นว่าสำคัญแต่ยังไม่กระจ่าง กิจเสร็จสิ้นในเวลาบ่าย 2 โมง 45 นาที เมื่อการเซ็นสัญญาผ่านไปเท่ากับว่าภารกิจของออยเลนบวร์ก ในเอเชียตะวันออกก็เสร็จสิ้นด้วย

หลังเดินทางกลับถึงประเทศ ออยเลนบวร์ก ได้รับยกย่อง และดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่อันทรงเกียรติ เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) มีบทบาทในทางการเมืองการปกครอง และถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ. 1881

สำหรับบันทึกจดหมายของออยเลนบวร์ก เป็นกราฟ ฟิลิปป์ ออยเลนบวร์ก หลานชายได้รวบรวมแล้วตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1899 ชื่อ “เอเชียตะวันออก 1860-1862 จดหมายบันทึกของกราฟ ฟรีดริช ซู ออยเลนบวร์ก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สยาม จดหมายบันทึกจากปี ค.ศ. 1862 ของกราฟ ฟรีดริ ซู ออยเลนบวร์ก ราชทูตเยอรมันคนแรกที่มาเยือนสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. อำภา โอตระกูล แปล. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2563