เบื้องหลังเรื่องระหองระแหงระหว่าง รัชกาลที่ 4 กับ โอบาเรต์ ทูตฝรั่งเศส

รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411
รัชกาลที่ 4 ฉลองพระองค์อย่างเครื่องแบบนายทหารเรือสหรัฐอเมริกา ฉายเมื่อ พ.ศ. 2411

ปลายรัชกาลที่ 4 ประมาณปี พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างดูราบรื่นเรียบร้อยดีอยู่แล้ว เกิดมีความระหองระแหงบางอย่าง เป็นเรื่องอื้อฉาวทางการทูตระหว่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับทูตฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ “โอบาเรต์” (Aubaret) ผู้วางอำนาจบาตรใหญ่เกินตำแหน่งหน้าที่ ใช้อำนาจในทางมิชอบจนเกิดความขุ่นข้องมัวหมองพระราชหฤทัย จนทรงพิโรธ และไม่ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าอีกต่อไป

โอบาเรต์ยังบังอาจยับยั้งหน่วงเหนี่ยว “เครื่องมงคลราชบรรณาการ” อันมีความหมายยิ่งจากราชสำนักฟองเตนโบล คือ “พระแสงดาบนโปเลียน” ที่พระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 พระราชทานเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเขาจะใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่ต่อรองข้อเรียกร้องทางการเมืองตามที่ต้องการ จนทำให้เกิดความชะงักงันทางการทูตกับทางการฝรั่งเศสนับจากนั้น

แต่ก็มีเหตุบังเอิญอีกเช่นกัน ที่ในระหว่างนั้นมีเจ้าชายชาวฝรั่งเศส 3 พระองค์ที่เป็นนักผจญภัยขนานแท้ เดินทางท่องเที่ยวรอบโลกอยู่ และกำลังผ่านเข้ามาเยือนกรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะเปิดเผยเรื่องฉ้อฉลในพฤติกรรมของทูตฝรั่งเศส จึงมีพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษ ให้เจ้าชายผู้สูงศักดิ์เหล่านั้น ซึ่งประกอบด้วย ดุ๊ก อลองซอง (le Duc dûAlencon) เจ้าชายเดอ กองเด (le Prince de Conde) และดุ๊กแห่งปองติแอฟรึ (le Duc de Penthièvre) พร้อมด้วยเคานต์โบวัวร์ (le Comte de Beauvoir) พระสหาย โดยการนำของคุณพ่อ โลนาร์ดี (Père Lonardi) บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้ที่ทรงคุ้นเคยและโปรดปรานมาก่อน เป็นผู้นำเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด [1]

ความประจวบเหมาะนี้อำนวยให้คนแปลกหน้ากลุ่มนี้ได้เข้าไปเยี่ยมเมืองต้องห้ามโดยไม่คาดฝัน!

โอกาสพิเศษนี้เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ระหว่างการพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครนาน 9 วัน ระหว่างวันที่ 11-19 มกราคม พ.ศ. 2409

การเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามของชาวยุโรปชุดนี้ ได้รับการเปิดเผยโดยเคานต์โบวัวร์ นักท่องเที่ยวธรรมดาๆ ผู้ไม่เคยคาดหวังโอกาสนั้นมาก่อน เขาเพียงแต่ตั้งใจไว้แต่ต้นว่าจะจดบันทึกช่วยจำสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นไว้เรียบเรียงให้บิดามารดาทางบ้านได้อ่านเท่านั้น [1] เหตุผลทั้งหมด จึงเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงวิสาสะทำความคุ้นเคยกับเชื้อพระวงศ์จากฝรั่งเศสในโอกาสที่หาได้ยาก

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ยังทรงเข้าพระทัยว่า เจ้าชายทั้ง 3 องค์เป็นพระประยูรญาติอันสนิทของนโปเลียนที่ 3 แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะเป็นคนละสายราชสกุลกัน จึงโปรดให้มีขึ้นในที่รโหฐานจริงๆ พระบุคลิกลักษณะและพระราชอัธยาศัยที่แท้จริง ตลอดจนเหตุการณ์บ้านเมืองที่ดำเนินอยู่จึงถูกนำออกมาจากเมืองต้องห้าม ปรากฎในรูปร้อยแก้วที่ให้รายละเอียดและภาพสเก๊ตช์อย่างรวดเร็วที่ถูกวาดเก็บไว้ได้ทันท่วงที่ในทัศนะของชาวต่างประเทศ ล้วนเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารที่แปลกแหวกแนวที่สุดชุดหนึ่งในรัชกาลนี้ตั้งแต่เคยพบมา

เพียง 12 เดือนก่อนการมาถึงของคณะเจ้าชายฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือกษัตริย์องค์ที่ 2 เสด็จสวรรคต คณะชาวฝรั่งเศสได้รับเชิญให้เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง เคานต์โบวัวร์ได้ถ่ายทอดภาพจำลองของพระบรมศพที่บรรจุอยู่ในพระบรมโกศ ในมุมมองที่ชาวตะวันตกนึกไม่ถึงมาก่อน คำบอกเล่าทั้งหมดจึงเป็นสีสันของเมืองไทยที่ผู้บันทึกพบเห็นชีวิตฝ่ายในของราชสำนักที่ผู้คนอยากรู้อยากเห็นอยู่ตลอดเวลา

สิ่งที่ติดออกมาด้วยคือพระราชปฏิพัทธ์และพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ในเวลานั้นคือประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายขยายอาณานิคมของฝรั่งเศส และพฤติกรรมฉาวที่ทูตฝรั่งเศส [โอบาเรต์] ผู้โอหังแสดงอยู่

เรื่องมีอยู่ว่า ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2406 เขมรตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ด้วยสนธิสัญญาที่พระนโรดมลงพระนาม ณ เมืองอุดงมีชัย แต่ด้วยความอาลัย หวงแหนในพระราชอาณาเขตเก่าแก่นี้ รัฐบาลไทยได้ทำ “สัญญาลับ” ขึ้นฉบับหนึ่งกับเขมรในเดือนธันวาคม ศกนั้น [2] เพื่อยืนยันรับรองว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของไทยอยู่ และเพื่อเป็นการผูกมัดเขมรไว้กับไทยตลอดไป

สัญญาลับฉบับดังกล่าวก่อให้เกิด “สงครามเย็น” ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

โอบาเรต์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ ใช้ความพยายามที่จะทำให้สัญญาลับระหว่างเขมรกับไทย “เป็นโมฆะ” และบีบบังคับให้ไทยรับรองว่าจะสละสิทธิ์เหนือเขมรตลอดไป ฝ่ายไทยปฏิเสธโดยสิ้นเชิง โอบาเรต์เริ่มใช้เล่ห์เพทุบายอาศัยการนำเรือรบติดอาวุธที่ทันสมัยที่สุด ชื่อเรือปืน “มิตราย” เข้ามาในลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข่มขู่รัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตามโดยปราศจากข้อแม้ใดๆ

เมษายน พ.ศ. 2048 ในที่สุดก็ทําได้สำเร็จ ฝ่ายไทยยอมจำนนโดยดุษณี

ความเป็นปฏิปักษ์อย่างพร้อมเพรียงกันต่อฝรั่งเศส ซึ่งมีโอบาเรต์เป็นตัวแทนจึงระเบิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าปกติจะเข้าเฝ้าได้ง่ายมาก และคุ้นเคยกับโอบาเรต์เป็นพิเศษอยู่แล้ว กลับให้การต้อนรับเขาอย่างเย็นชาและชิงชัง เพื่อเป็นการตอบโต้

โอบาเรต์จึงแสดงปฏิกิริยาหน่วงเหนี่ยวไม่ยอมมอบ “ของขวัญ” (เป็นพระแสงดาบ 2 เล่มซึ่งมีความหมายอย่างยิ่ง เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของผู้นำโลกที่สนับสนุน ให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ในสมัยต่อมา-ผู้เขียน) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งมีมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อการเจรจากับตัวแทนฝรั่งเศสดูไม่เป็นผลอีกต่อไป ในที่สุดจึงมีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้จัดส่งคณะทูตพิเศษไปเจรจาความถึงในกรุงปารีส เพื่อทูลเสนอต่อพระจักรพรรดิโดยตรง เรื่องการปักปันเขตแดนเขมร และเพื่อประณามความประพฤติของโอบาเรต์

ราชทูตไทยชุดนี้นำโดยพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนโตของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และทูตอื่นๆ อีก 3 ท่านส่วนล่ามภาษาฝรั่งเศสคือบาทหลวงลาร์โนดีคนเดิม จะสังเกตได้ว่าคุณพ่อลาร์โนดีเป็นสาธุคุณชาวฝรั่งเศสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้วางพระราชหฤทัยที่สุดในขณะนั้น โดยตำแหน่งแล้วเป็นผู้ช่วยของท่านสังฆราชปาลเลอกัวซ์ คณะทูตชุดนี้จึงเป็นชุดที่ 2 ที่ได้ไปถึงฝรั่งเศสในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าคณะราชทูตชุดแรกในปี พ.ศ. 2404 (คณะของมงติญยี่) แต่กลับมีการกล่าวถึงน้อยมาก แม้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยก็ตาม [3]

…………

เมษายน พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) คณะราชทูตไทยเดินทางถึงกรุงปารีส พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ได้เข้าเผ้าพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในทันที เพื่อถวายฎีกาพร้อมกับกราบบังคมทูลเรื่องราวอันยืดยาวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องขอทำให้พระจักรพรรดิได้ทรงสดับด้วยพระงอค์เองถึงสถานการณ์และความไพ่อใจของไทยในเรื่องสนธิสัญญาฝรั่งเศส-เขมร พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863)

อีก 3 เดือนต่อมานายโอบาเรต์ทูตฝรั่งเศสก็ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และเดินทางกลับกรุงปารีส ต่อมาได้กลายเป็นคนวิกลจริต เป็นที่รังเกียจของสังคมในบั้นปลายชีวิต

อีก 6 เดือนต่อมาพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ภาพลักษณ์ของเมืองไทยและเหตุการณ์ร่วมสมัยในครั้งนั้น ที่เคานต์โบวัวร์บันทึกไว้ก็ตีพิมพ์เผยแพร่ทันเวลาในปีที่สิ้นพระชนม์ และเป็นแหล่งข้อมูล “แบบไม่เป็นทางการ” ที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารอ้างอิง :

[1] Le Comte de Beauvoir. Voyage Autour du Monde. (เรื่องสยาม หน้า 459-536). Paris, 1868.

[2] เพ็ญศรี ดุ๊ก, ศ.ดร. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 19. ราชบัณฑิตยสถาน, 2539

[3] เพ็ญศรี ตุ๊ก, ศ.ดร. การต่างประเทศกับเอกราชและ อธิปไตยของไทย ราชบัณฑิตยสถาน, 2542


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เกร็ดนอกพงศาวดาร ‘การ์ตูนต้องห้าม’ ชุดแรกและชุดเดียว วาดสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2565