พบ “บันทึกลับโอบาเรต์” เผยเบื้องหลังการเจรจาสนธิสัญญาสยามกับฝรั่งเศส

“บันทึกลับโอบาเรต์”

(1) เป็นบันทึกอะไร ทำไมถึงซื้อ?

คงเป็นเรื่องแปลก ถ้าใครสักคนซื้อรถราคาเป็นแสนทั้งที่ขับไม่ได้ หรือซื้อหนังสือราคาแพงที่อ่านไม่ออก ไม่รู้ด้วยคนเขียนเป็นใคร แต่ผมซื้อ

ระหว่างเดินชมนิทรรศการหนังสือโบราณที่กรุงลอนดอน ผมเหลือบไปเห็นเอกสารชิ้นหนึ่ง แผ่นป้ายข้างเอกสารเขียน Vietnam/Thailand/Cambodia Archive: An archive featuring the manuscript “diplomatic letter book” of Gabriel Aubaret, the French Consul to Vietnam and Siam, 1864-7.

ความรู้สึกแวบแรก “โห…แพง อ่านก็ไม่ออก โอบาเรต์นี่มันกงสุลฝรั่งเศส นิสัยไม่ดีไม่มีใครคบ จะซื้อดีเหรอ”

แต่อีกแวบ “มันเป็นแมนูสคริปต์มีเล่มเดียวในโลก งั้นขอเขาดูดีกว่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองไทยเยอะมั้ย”

“อเล็กซ์” หยิบเอกสารออกจากตู้ เป็นสมุดบันทึกเล่มใหญ่สีแดงเชอร์รี่สลับดำ สันปกหุ้มแถบผ้าสีเทาถ่าน ขนาดกว้าง 21.5 เซนติเมตร สูง 34.0 เซนติเมตร เนื้อหาภายในเป็นสำเนาจดหมายและร่างแก้ไขสนธิสัญญาที่กำลังเจรจาระหว่างสยาม เวียดนาม และฝรั่งเศส ช่วง ค.ศ. 1864-67/พ.ศ. 2407-2410 เขียนโดย กาบรีเอล โอบาเรต์ (Gabriel Aubaret) กงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ และอุปทูตที่เว้ เวียดนาม

ผมกับอเล็กซ์ และ “บันทึกลับโอบาเรต์”

สมุดหนา 374 หน้า มีข้อความบันทึก 145 หน้า แบ่งเป็นส่วนของ “เวียดนาม” 55 หน้า “สยาม” 90 หน้า ในส่วนแรกเป็นจดหมายที่โอบาเรต์เขียนที่เว้และไซ่ง่อนระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน – 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1864/พ.ศ. 2407 รวม 12 ฉบับ ไฮไลท์คือจดหมายที่โอบาเรต์เขียนถึง ดรูแอง เดอ ลุส (Edouard Drouyn de Lhuys) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เสนอร่างแก้ไขสนธิสัญญาไซ่ง่อน ซึ่งนำไปสู่สนธิสัญญาโอบาเรต์ และสำเนาพระราชสาส์นซึ่งจักรพรรดิตือดึก (Tu Duc) ทรงมีไปถวายจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ขอบพระทัยที่จักรพรรดินโปเลียนได้ทรงเห็นชอบกับสนธิสัญญาโอบาเรต์

ในส่วนของสยาม ประกอบด้วยจดหมายโดยโอบาเรต์, ดรูแอง เดอ ลุส, พระราชสาส์นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ปิดท้ายด้วยคำพิพากษาศาลคดีหมิ่นประมาทที่โอบาเรต์ฟ้องหมอบรัดเลย์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 20 ฉบับ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเจรจาทำสัญญากับสยามเรื่องเขมร จดหมายและเอกสารเขียนที่กรุงเทพฯ และกรุงปารีส ระหว่างวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1864/พ.ศ. 2406 – 18 เมษายน ค.ศ. 1867/พ.ศ. 2410 คัดลอกลงในสมุดบันทึกราวปี ค.ศ. 1867/พ.ศ. 2410

เอกสารที่น่าสนใจได้แก่ จดหมายที่โอบาเรต์เขียนถึง ดรูแอง เดอ ลุส รายงานผลการเจรจากับเจ้าพระยากลาโหม, จดหมายถึง เดอ มูสติเย (De Moustier) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ รายงานปัญหาอันเนื่องมาจากการทำสัญญาลับระหว่างสยามกับเขมร, และจดหมายอีกฉบับ หัวข้อระบุว่า Affaires du Cambodge conclusion impossible à Bangkok” โอบาเรต์คงรับรู้แล้วว่าการพยายามทำสัญญาที่กรุงเทพฯ เป็นอันสิ้นสุด เพราะทางสยามได้ตัดสินใจแต่งทูตไปเจรจาโดยตรงที่กรุงปารีส ท้ายจดหมายเป็นภาคผนวก “มาตรา 4” เรื่องที่สร้างปัญหายืดเยื้อข้ามปี

อเล็กซ์บอกผม: This is a highly important original archive. Inside you’ll find top-secret information, ranging from political strategy papers, treaty negotiations, as well as lively accounts of audiences with King Mongkut and Emperor Tu Duc. These documents are indispensable primary sources on Siam and Indochina during a time of transformative change.”

ผมตอบ: Oh, I see. Nice handwriting. But it’s in French. I’m afraid I can’t read.”

ก่อนจะพูดต่อไปว่า: To be honest, I know almost nothing about Aubaret. Just that he was the French Consul in Siam during the time of colonial encroachment. And he caused many problems while in Bangkok. Oh, there was another French guy, Pavie. These two were such a pain. Anyway, the manuscript is very nice and quite unique. I’ll think about it.”

พูดจบ อเล็กซ์ยื่นจดหมายมาให้ผมอีก 4 ฉบับ เป็นจดหมายจากทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และ “สายสืบ” ในไซ่ง่อน These letters are also included. They informed Aubaret of events in the region after his return to Europe.”

ผมพูดยื้อเวลา แต่ในใจตัดสินแล้ว “ซื้อไปก่อน เดี๋ยวหาคนแปล”

(2) พบอีกแมนูสคริปต์ บันทึกชีวิตโอบาเรต์

เหมือนฟ้าลิขิต หรือใครกำหนดให้ผมมาจับเรื่องนี้ เมื่อเดินไปสักพัก สายตาก็ไปสะดุดกับเอกสารอีกชิ้น เป็นเอกสารปึกใหญ่วางในตู้ แผ่นป้ายบนเอกสารเขียน Aubaret (Thérèse) – Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main.

แมนูสคริปต์ “ชีวิตโอบาเรต์” เขียนโดยภรรยา “เทเรซา” ค.ศ. ๑๘๙๕-๙๗

เป็นเอกสารต้นฉบับชีวประวัติโอบาเรต์ เขียนโดย “เทเรซา” ภรรยาคู่ชีวิต เอกสารมีขนาดกว้าง 19.5 เซนติเมตร สูง 30.5 เซนติเมตร หนา 868 หน้า แบ่งเป็น 2 ภาค 36 บท บทที่เกี่ยวข้องกับสยามมี 4 บท ได้แก่ บทที่ 12-15

12. Prise de Possession du Consulat de France à Bang-kok – Mission à Hué, Janvier 1864-Juillet 1864 (หน้า ๒๙๗-๓๒๐);

13. Fin de la mission à Hué – Bang-kok, Juillet 1864–Novembre 1865 (หน้า 321-43);

14. Congé en France – Retour à Bang-kok, 9 he 1865–Mars 1867 (หน้า 346-65); และ

15. Chentabun – Adieux à l’extrême Orient, Son Mariage, Mars 1867-Février 1868 (หน้า 366-74)

เนื้อหาช่วงเวลาที่เขาอยู่ในกรุงเทพฯ และเว้ มีความยาวรวมทั้งสิ้น 78 หน้า เอกสารเขียนระหว่าง ค.ศ. 1895-97/พ.ศ. 2438-40 โดยบทที่เกี่ยวข้องกับสยาม เขียนที่โรม อิตาลี ระหว่างวันที่ 12 เมษายน – 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1896/พ.ศ. 2439 หรือกว่า 120 ปีมาแล้ว

“ฟรองซัวส์” ให้ข้อมูลว่า: This manuscript came directly from his [Aubaret] family. It’s a poignant account of his life written in his wife’s hand. It’s very detailed, written soon after he had died. And as you can see, she delicately tied pink ribbon to hold each section together. This practice is very French, very unique. I would say this manuscript is “a labour of love” from a very devoted wife.”

ผมฟังแล้วรู้สึกซึ้ง เศร้า เจ็บปวด … “งั้นซื้อเลย เดี๋ยวค่อยหาใครมาแปล” ที่สำคัญ “มัน compliment บันทึกโอบาเรต์ที่ตัดสินใจซื้อ”

สรุป เอกสารที่ผมได้จากกรุงลอนดอน เป็นบันทึกเขียนโดยโอบาเรต์และภรรยา รวมกว่า 1,000 หน้า หลายชิ้นไม่เคยเผยแพร่ หาอ่านไม่ได้นอกจากในหอจดหมายเหตุฯ (Archives Nationales de France) หรือหอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส (Archives du Ministère des Affaires Étrangères) ที่เก ดอร์เซ (Quai d’Orsay) กรุงปารีส

(3) ชีวิตและผลงานของโอบาเรต์

“โอบาเรต์เป็นใคร” ถ้าถามผมสองเดือนก่อน ผมคงตอบ “โอบาเรต์เป็นคนฝรั่งเศส เข้ามาเป็นกงสุลสมัย ร. 4” ผมไม่ได้ตอบแบบกวนๆ แต่รู้เท่านี้จริงๆ และจำได้เลาๆ ว่าชอบมีเรื่องกับคนโน้นคนนี้

ภายหลังได้เอกสารชุดนี้ ผมพยายามสืบค้นว่าเขาเป็นใคร เข้ามาทำอะไรในสยาม ผมเริ่มต้นจากเอกสารฝั่งไทย แต่ข้อมูลชีวิตส่วนตัวของโอบาเรต์ในเอกสารไทยมีน้อยมาก จะมีก็แต่เรื่องความโอหังก้าวร้าวที่ถูกกล่าวหา

เอนก นาวิกมูล กล่าวในหนังสือ “ฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับสยาม 2” ว่า “ประวัติของออบาเรตมีในที่ใดบ้างยังไม่เคยเห็น … เริ่มแรกต้องรู้เสียก่อนว่าออบาเรตเกิดเมื่อใด ตายเมื่อไร คำถามทั้งสองข้อยังหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ รู้แต่ว่าออบาเรตเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2407 และกลับออกไปเมื่อ พ.ศ. 2410 … ถ้าช่วยกันค้นต่อได้ ความรู้ก็จะยิ่งกว้างขวางออกไป” [1]

ข้อมูลเท่าที่ผมสืบค้นได้มีดังนี้ครับ

ลูอี กาบรีเอล กาลเดริก โอบาเรต์ (Louis Gabriel Galdéric Aubaret) เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1825/พ.ศ. 2368 ที่เมืองมงแปลีเยร์ (Montpellier) ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เข้าศึกษาที่โรงเรียนนายเรือ (l’École navale) ค.ศ. 1841/พ.ศ. 2384 [2]

โอบาเรต์เข้าประจำการในกองทัพเรือฝรั่งเศส ค.ศ. 1843/พ.ศ. 2386, เข้าร่วมสงครามไครเมีย ค.ศ. 1854-55/พ.ศ. 2397-98, เข้าร่วมโครงการสำรวจแม่น้ำไนล์ ค.ศ. 1856-57/พ.ศ. 2399-2400, เข้าประจำการในจีน ค.ศ. 1858/พ.ศ. 2401, เข้ามาไซ่ง่อนพร้อมกองกำลังนำโดยพลเรือโทชาร์แนร์ ค.ศ. 1861/พ.ศ. 2404 [3]

โอบาเรต์เป็นคนใฝ่รู้ มีพรสวรรค์ทางภาษา เขาศึกษาภาษาจีนและเวียดนามจนแตกฉาน สามารถแปลตำราประวัติศาสตร์ (Histoire et description de la Basse Cochinchine) จากต้นฉบับภาษาจีน, ตำรากฎหมาย (Code annamite) จากภาษาเวียดนาม, แต่งพจนานุกรม (Vocabulaire Français-Annamite) และตำราไวยากรณ์เวียดนาม (Grammaire annamite) ฯลฯ [4]

พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-เวียดนาม แต่งโดยโอบาเรต์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ “Mission Catholique” กรุงเทพฯ ค.ศ. 1861/พ.ศ. 2404 ปลายรัชกาลที่ 4

โอบาเรต์ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้ตรวจการณ์กิจการชาวพื้นเมืองประจำไซ่ง่อน ค.ศ. 1862/พ.ศ. 2405 ทั้งทำหน้าที่ล่ามในการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดนามในปีเดียวกัน ต่อมา โอบาเรต์ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งกงสุลฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ และอุปทูตที่เว้ เขาเดินทางถึงกรุงเทพฯ วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1864/พ.ศ. 2407 ออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1867/พ.ศ. 2410 รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งกงสุลที่กรุงเทพฯ 3 ปี 3 เดือน และ 14 วัน [5]

ภายหลังกลับถึงฝรั่งเศส เขาได้แต่งงานกับ เทเรซา กรานีเย (Thérèse Granier) ค.ศ. 1868/พ.ศ. 2411, ต่อมาได้เข้าดำรงตำแหน่งกงสุลประจำเมืองสคูทาริ (Scutari) อัลบาเนีย, เมืองสมีร์นา (Smyrna) หรืออิซเมียร์ ตุรกี และเมือง Roustchouk บัลแกเรีย [6]

โอบาเรต์ได้รับแต่งตั้งเป็น “กงสุลใหญ่” คณะกรรมาธิการกำหนดเส้นเขตแดนเซอร์เบีย ค.ศ. 1878/พ.ศ. 2421 สี่ปีต่อมาเขาได้เลื่อนเป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม ทั้งยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารหนี้ภาครัฐของจักรวรรดิออตโตมัน [7]

โอบาเรต์ “รีไทร์” ในวัย 67 ปี เขาและภรรยาเดินทางออกจากเมืองคอนสแตนติโนเปิล ค.ศ. 1892/พ.ศ. 2435 ไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ปัวตีเย (Poitiers) เมืองโบสถ์เก่าแก่ทางตะวันตกของฝรั่งเศส เขาถึงแก่กรรมวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1894/พ.ศ. 2437 หนังสือชีวประวัติเขียนโดยภรรยาได้รับการตีพิมพ์ ค.ศ. 1898/พ.ศ. 2441 [8]

ผมร่ายประวัติเสียยาวเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ภายหลังเดินทางกลับฝรั่งเศส เขาไม่ได้ “กลายเป็นคนวิกลจริต เป็นที่รังเกียจของสังคมในบั้นปลายชีวิต” [9]

(4) การรุกคืบของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ค.ศ. 1856-63/พ.ศ. 2399-2406

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ค.ศ. 1851-68/พ.ศ. 2394-2411) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปเป็นเวทีแข่งอำนาจระหว่าง 2 ชาติตะวันตก คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งต่างแสวงหาอาณานิคมเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ช่วงแรกอังกฤษถือไพ่เหนือกว่าด้วยการเข้าครอบครองสิงคโปร์ (ค.ศ. 1819/พ.ศ. 2362), พม่าตอนล่าง (ค.ศ. 1826/พ.ศ. 2369) และพม่าตอนกลาง (ค.ศ. 1852/พ.ศ. 2395) ชัยชนะเหนือพม่าทำให้อังกฤษได้ครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำอิรวดีที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางสู่ยูนนาน ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในจีนตอนใต้ [10]

ต่อมา อังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับสยาม (ค.ศ. 1855/พ.ศ. 2398) ทำให้ฝรั่งเศสกังวลว่านอกจากผลประโยชน์และข้อได้เปรียบทางการค้า อังกฤษอาจใช้สยามเป็น “บันได้ก้าวตรงจากพม่าไปยังยูนนาน” [11]

เพื่อปกป้องผลประโยชน์ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงรีบแต่งตั้งชาร์ล เดอ มงตีญี (Charles de Montigny) กงสุลประจำเซี่ยงไฮ้ เข้ามาเจรจากับสยาม และได้มีการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีในปีถัดมา [12] มงตีญีเดินทางต่อไปยังกำปอต (Kampot) และดานัง (ค.ศ. 1856-57/พ.ศ. 2399-2400) เพื่อเจรจาทำสนธิสัญญากับเขมรและเวียดนาม แต่ไม่สำเร็จ [13]

เมื่อการทูตล้มเหลว ฝรั่งเศสอาศัยข้ออ้างเรื่องการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา ใช้กำลังเข้ายึดโคชินจีนหรือเวียดนามตอนใต้ไว้เป็นอาณานิคม (สนธิสัญญาไซ่ง่อน ค.ศ. 1862/พ.ศ. 2405) [14] และได้รุกคืบไปยังเขมรเพื่อควบคุมแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าจะเป็นเส้นทางเข้าสู่จีน นอกจากนี้ เขมรยังเป็นเจ้าของชุมทางแม่น้ำ 4 สายของแม่น้ำโขงซึ่งจะทำให้เวียดนามตอนใต้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ทั้งเป็นศูนย์กลางเสบียงอาหารสำหรับกองทัพฝรั่งเศสในเวียดนาม เขมรจึงมีความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์และแหล่งเสบียงอาหาร [15]

วันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1863/พ.ศ. 2406 พลเรือตรี ปิแอร์ เดอ ลา กรองดิเยร์ (Pierre-Paul de La Grandière) ผู้ว่าการและแม่ทัพใหญ่ในโคชินจีน ส่งรายงานไปยัง กงต์ เดอ ชาสลู โลบา (Comte de Chasseloup Laubat) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือและอาณานิคมว่า “ถึงเวลาที่จะสถาปนาเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส” [16]

สองเดือนต่อมา เดอ ลา กรองดิเยร์ เข้าเฝ้าองค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์ พร้อมเสนอร่างสนธิสัญญาให้เขมรอยู่ในอารักขาของฝรั่งเศส องค์พระนโรดมฯ ยินยอมและลงนามในสนธิสัญญา (11 สิงหาคม) ให้เขมรอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของฝรั่งเศส [17]

วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1863 … เจ้าพระยาพระคลัง (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์) มีหนังสือทักท้วงไปถึง ดรูแอง เดอ ลุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ชี้แจงสิทธิของสยามเหนือเขมร ทั้งทูลขอร้องให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ทรงยับยั้งการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสัญญาที่ทางราชสำนักสยามไม่ทราบเรื่องมาก่อน [18] ภายหลังสามเดือนต่อมา (11 ธันวาคม) ก็ได้มีหนังสือไปถึง เดอ ลา กรองดิเยร์ แม้จะยอมรับในที่สุดว่าฝรั่งเศสได้ทำสัญญากับเขมร แต่เนื่องจากเขมรเคยเป็นเมืองขึ้น สยามควรต้องให้ความเห็นชอบก่อน สรุปคือ สยามเรียกร้องให้มีการต่อรองเรื่องการแบ่งปันอำนาจกับฝรั่งเศส [19] และในช่วงเวลาเดียวกัน สยามได้ทำ “หนังสือสัญญาลับ” กับเขมร (1 ธันวาคม) ยืนยันว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของสยาม [20]

กล่าวโดยสรุป ฝรั่งเศสยึดเวียดนามใต้และเข้าอารักขาเขมร สยามประท้วงและทำสัญญาลับ

(5) โอบาเรต์กับการเจรจาในสยาม ค.ศ. 1864-67/พ.ศ. 2407-10

โอบาเรต์เดินทางถึงกรุงเทพฯ วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1864/พ.ศ. 2407 เพื่อเข้ารับตำแหน่งกงสุลฝรั่งเศสประจำสยาม ภารกิจหลักคือเจรจาต่อรองกับสยามเรื่องเขมร [21] ในวันรุ่งขึ้นเขาได้เข้าเฝ้าและนำพระราชสาส์นจากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว [22]

เดือนต่อมา (15 พฤษภาคม) โอบาเรต์ออกเดินทางไปยังเมืองอุดงมีชัย พร้อมพระยามนตรีสุริยวงศ์ ผู้แทนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เพื่อเข้าร่วมพิธีราชาภิเษกองค์พระนโรดมฯ (3 มิถุนายน) ควรกล่าว ณ ที่นี้ว่า โอบาเรต์เป็นผู้เสนอให้ข้าหลวงสยามได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธี ขณะที่ เดอ ลา กรองดิเยร์ และนายทหารฝรั่งเศสคนอื่นๆ คัดค้าน ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขากล่าวหาโอบาเรต์ว่าทำให้จักรพรรดินโปเลียนเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของสยามเหนือเขมร [23]

ปัญหาระหว่างโอบาเรต์กับรัฐบาลสยามเริ่มจากกรณีหนังสือพิมพ์สเตรทไทมส์ (Straits Times) ของสิงคโปร์ (20 สิงหาคม) ตีพิมพ์สนธิสัญญาลับระหว่างเขมรและสยาม [24] เป็นครั้งแรกที่โอบาเรต์ทราบเกี่ยวกับสนธิสัญญานี้ เขารู้สึกเป็นการหักหน้าเพราะถูกปิดบังมาโดยตลอด ทันทีที่ทราบเรื่องเขาประท้วงเจ้าพระยากลาโหม (30 กันยายน) ว่าสนธิสัญญาดังกล่าวขัดต่อสนธิสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับเขมร และรายงานต่อ ดรูแอง เดอ ลุส (5 ตุลาคม) ว่ามาตรา 6, 7 และ 11 ในสนธิสัญญาลับบรรจุข้อความอันหมายถึงการ “กลืนเขมรไว้ทั้งประเทศ”

ท่าทีของชาสลู โลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือและอาณานิคม คือ ฝรั่งเศสต้องยืนกรานไม่ยอมรับสนธิสัญญาลับฉบับนี้ ส่วน ดรูแอง เดอ ลุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสริมว่าหากสยามยอมรับว่าเขมรเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสก็พร้อมสัญญาจะไม่เอาดินแดนอื่นของเขมรมาไว้ในอำนาจเพิ่มเติม

ดรูแอง เดอ ลุส ยังได้ชี้แจงต่อโอบาเรต์ (14 มกราคม ค.ศ. 1865) ว่า “เป้าหมายของฝรั่งเศสคือยืนยันความเป็นอิสระของเขมร เพราะมันสำคัญยิ่งยวดต่อความมั่นคงของโคชินจีน” ทั้งสั่งให้โอบาเรต์เดินหน้าเจรจากับสยาม [25]

โอบาเรต์เดินทางกลับมายังสยาม (9 เมษายน) โดยเรือ “มิตราย” (Mitralle) [26] และเริ่มการเจรจากับเจ้าพระยากลาโหมโดยทันที (10 เมษายน) อย่างไรก็ตาม การเจรจารอบนี้ไม่ราบรื่น ร่างสัญญาโดยโอบาเรต์ถูกเจ้าพระยากลาโหมตีกลับ ภายหลังที่ได้มีการแก้ไขข้อความบางตอน ทั้งสองฝ่ายก็ยินยอมลงนามในร่างสัญญา (14 เมษายน) [27]

สัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสฉบับวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865/พ.ศ. 2408 มีทั้งหมด 7 มาตรา แต่ต่อมามาตราข้อที่ 4 ว่าด้วย “Laos Siamois” หรือ “เมืองลาวของสยาม” (‘เขตแดนเมืองบัตบอง นครเสียมราบ แลเมืองลาวของสยามซึ่งติดต่อเขตแดนเขมร ฝรั่งเศสยอมรับให้คงอยู่ตามที่ซึ่งได้สังเกตกัน …’) ได้ถูกคัดค้านโดยชาสลู โลบา ซึ่งเกรงว่าการยอมรับความเป็นเจ้าอธิราชของสยามเหลือลาว ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่านกลางประเทศ อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าของฝรั่งเศสในภายภาคหน้า ส่วน เดอ ลากรองดิเยร์ ข้าหลวงใหญ่ประจำโคชินจีน เห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องทำสัญญาอีกฉบับ เพราะเรื่องเขมรในฐานะรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสนั้นเป็น “เฟทาคองพลี” (fait accompli) ซึ่งพอกล้อมแกล้มแปลได้ว่า “มันจบแล้ว” [28]

มาตรา 4 ใน “สัญญาโอบาเรต์” ลายมือโอบาเรต์ ร่างนี้ตัดข้อความเจ้าปัญหา “Laos Siamois” (เมืองลาวของไทย)

มาตราข้อที่ 4 ได้ก่อให้เกิดการประท้วงตอบโต้กันไปมาข้ามปี ต่างฝ่ายต่างยึดมั่นในความคิดของตน จนสัญญาฉบับนี้ถูกเพิกถอน และโอบาเรต์ต้องยุติบทบาท (12 มกราคม ค.ศ. 1867) เมื่อทางการสยามตัดสินใจส่งราชทูตไปฝรั่งเศสเพื่อขอเจรจาทำสัญญาฉบับใหม่ [29] จนในที่สุดได้มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1867/พ.ศ. 2410

(6) บทสรุป

ธิบดี บัวคำศรี “สยามกับฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ (ยุคมืด) ของกัมพูชา” มีข้อความตอนหนึ่งว่า “เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาจากเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1864 ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1867 เป็นประเด็นที่ต้องการการศึกษาในรายละเอียดต่อไป” [30]

หนังสือ Diplomatic Letter Book หรือบันทึกโอบาเรต์ที่ผมได้มาจากอังกฤษ รวบรวมสำเนาจดหมายและเอกสารการทูต เขียนระหว่างวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1864/พ.ศ. 2406 – 18 เมษายน ค.ศ. 1867/พ.ศ. 2410 น่าจะช่วยไขปริศนาและตอบประเด็นข้อสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงการเจรจาทำสัญญาระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม

บันทึกนี้เป็นหลักฐานชั้นต้นที่ผมนำกลับมาเมืองไทย เพื่อหวังให้เราได้รับรู้ ได้ศึกษาแง่มุมประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมจากเอกสารชั้นรอง และเอกสารฝ่ายไทยที่มีอยู่อย่างจำกัด

* ขอขอบพระคุณอาจารย์ Krislert Samphantharak ที่ได้มอบบทความ Siam and France 1863-1870 มาให้ครับ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] เอนก นาวิกมูล. ฝรั่งที่เกี่ยวข้องกับสยาม 2 (กรุงเทพฯ : สายธาร, 2549), . 114-115.

[2] Thérèse Aubaret, Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main (Poitiers, c. 1895-97), p. 1, 11. เอกสารต้นฉบับไม่ระบุเลขหน้า ผมยึดตามเลขหน้าที่ผู้จำหน่ายเขียนไว้ที่มุมกระดาษ

[3] Thérèse Aubaret, Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main, p. 54, chapters 8-11, Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” The Far Eastern Quarterly, Vol. 6, No. 2 (February 1947): 124, และ K. W. Taylor, A History of the Vietnamese (Cambridge: Cambridge University Press, 2013), p. 450.

[4] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” pp. 124-125.

[5] Thérèse Aubaret, Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main, pp. 276, 292, 369-370, Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” pp. 125-127, Abbot Low Maffat, Mongkut, the King of Siam (Ithaca, New York: Cornell University Press, 1961), p. 114, Jim Mizerski, Cambodia Captured: Angkor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues (Phnom Penh: Jusmin Image Machine, 2015), p. 23, วิลาส นิรันดร์สุขศิริ, “เผยโฉมกงสุลโอบาเรต์ (ตอนที่ 1),” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2555): 102, และ วิลาส นิรันด์สุขศิริ, “เผยโฉมกงสุลโอบาเรต์ (ตอนที่ 2),” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 33 ฉบับที่ 11 (กันยายน 2555): 139.

[6] Thérèse Aubaret, Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main, pp. 372-74, chapters 16-17, 19-21, Alexander Johnson, The Gabriel Aubaret Archive of Ottoman Economic and Transportation History (Munich: Antiquariat Daša Pahor, 2019), p. 16, และ วิลาส นิรันด์สุขศิริ, “เผยโฉมกงสุลโอบาเรต์ (ตอนที่ 2),” . 139-41.

[7] Thérèse Aubaret, Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main, chapters 23-24, 28, และ Alexander Johnson, The Gabriel Aubaret Archive of Ottoman Economic and Transportation History, p. 16.

[8] H. Oudin ผู้จัดพิมพ์ชีวประวัติของกาบรีเอล โอบาเรต์ ให้ชื่อหนังสือว่า “Gabriel Aubaret” (Poitiers: Librarie H. Oudin, 1898) แต่ไม่เครดิตเทเรซา ภรรยาผู้เป็นเจ้าของผลงาน. Thérèse Aubaret, Vie de Gabriel Aubaret par sa femme, entiéremenrt écrite de sa main, p. 840, และ Alexander Johnson, The Gabriel Aubaret Archive of Ottoman Economic and Transportation History, p. 16.

[9] ไกรฤกษ์ นานา, “เกร็ดนอกพงศาวดาร: ‘การ์ตูนต้องห้ามชุดแรกและชุดเดียว วาดสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2547): 112.

[10] แม่น้ำอิรวดีมีประสิทธิภาพมากกว่าแม่น้ำสาละวินในการเป็นเส้นทางสู่จีน เพราะมีความกว้างมากกว่า ดู ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, เสียดินแดนมลายู: ประวัติศาสตร์ชาติฉบับ Plot Twist (กรุงเทพฯ : มติชน, 2562), . 67, และ K. W. Taylor, A History of the Vietnamese, p. 444.

[11] เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม), พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2544), . 15.

[12] K. W. Taylor, A History of the Vietnamese, p. 441, ร้อยเอกโซฟ, สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม .. 2223-2450, แปลโดยนันทพร บันลือสินธุ์ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2544), . 32, 41.

[13] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” p. 122, K. W. Taylor, A History of the Vietnamese, p. 442, ร้อยเอกโซฟ, สัมพันธภาพของประเทศฝรั่งเศสกับประเทศสยาม, . 35, 56-57, และ เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, . 21.

[14] Pierre Brocheux and Daniel Hémery, Indochina: An Ambiguous Colonization, 1858-1954 (Berkeley: University of California Press, 2009), pp. 19, 24-25, และ K. W. Taylor, A History of the Vietnamese, p. 443.

[15] เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, . 25.

[16] Jim Mizerski, Cambodia Captured: Angkor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues, p. 11.

[17] Jim Mizerski, Cambodia Captured: Angkor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues, p. 12, และ เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, . 25-27.

[18] The Committee for the Publication of Historical Documents, Foreign Records of the Bangkok Period up to A.D. 1932 (Bangkok: Office of the Prime Minister, 1982), pp. 51-52, และ เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, . 28.

[19] ธิบดี บัวคำศรี, “สยามกับฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์(ยุคมืด)ของกัมพูชา,“ ใน พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (บรรณาธิการ), ยุคมืดของประวัติศาสตร์ไทย: หลังบายน พุทธเถรวาท การเข้ามาของคนไท, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559), . 230-232.

[20] ธิบดี บัวคำศรี, “สยามกับฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์(ยุคมืด)ของกัมพูชา,” . 236-239.

[21] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” p. 128, Jim Mizerski, Cambodia Captured: Angkor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues, p. 23.

[22] จดหมายที่โอบาเรต์เขียนถึง ดรูแอง เดอ ลุส ลงวันที่ 16 เมษายน ค.. 1864, หนังสือ Diplomatic Letter Book จากคอลเล็กชั่นของผู้เขียน (Paris, c. 1867), 9 pp.

[23] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” p. 128, Jim Mizerski, Cambodia Captured: Angkor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues, p. 24.

[24] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” p. 129, Jim Mizerski, Cambodia Captured: Angkor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues, p. 28.

[25] R. Stanley Thomson, “Siam and France 1863-1870,” The Far Eastern Quarterly, Vol. 5, No. 1 (November 1945): 28-31, เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, . 31.

[26] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” p. 130, อาร์. สแตนลี ทอมสัน ระบุว่าโอบาเรต์ถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ดู R. Stanley Thomson, “Siam and France 1863-1870,”, p. 31 แต่บริกส์อ้างจดหมายเหตุหมอบรัดเลย์ Abstract of the Journal of Dr. Dan Beach Bradley ที่ระบุว่าเขามาถึงเมื่อวันที่ 9 เมษายน

[27] R. Stanley Thomson, “Siam and France 1863-1870,”, p. 31.

[28] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” pp. 131, 134, R. Stanley Thomson, “Siam and France 1863-1870,” p. 32.

[29] Lawrence Palmer Briggs, “Aubaret and the Treaty of July 15, 1867 between France and Siam,” p. 132, R. Stanley Thomson, “Siam and France 1863-1870,” p. 38, เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย, . 36.

[30] ธิบดี บัวคำศรี, “สยามกับฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์(ยุคมืด)ของกัมพูชา,” . 240.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562