พระอัจฉริยภาพทางการทูตและวาทศิลป์ของพระจอมเกล้าฯ

รัชกาลที่ 4 วิ่งเต้นติดสินบน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

เมื่อสยามเริ่มมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับบรรดาชาติตะวันตก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางการทูต และทรงใช้วาทศิลป์ในพระราชสาส์นเพื่อยืนยันว่าสยามมิได้เลือกที่รักมักที่ชังระหว่าง 2 มหาอำนาจอย่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงทดลองใช้คำลงท้ายพระนามของพระองค์ว่า “พระเชษฐาของท่าน” ในพระราชสาส์นที่ทรงส่งไปถึงควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เพื่อทดสอบสถานะและการยอมรับ ควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ก็ทรงแสดงมิตรภาพในท้ายพระราชสาส์นว่า “Your Sister-พระกนิษฐาภคินีที่รักของท่าน” เช่นกัน

Advertisement

ตัวอย่างพระอัจฉริยะภาพของพระจอมเกล้าฯ คือพระราชสาส์นส่วนพระองค์ฉบับหนึ่งที่ทรงส่งพระสาส์นไปปลอบโยนควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เมื่อครั้งทรงสูญเสียพระราชชนนี พระองค์ก็ทรงใช้คำว่า พระราชภคินีที่รักของกรุงสยามและทรงแสดงให้เห็นว่าสยามให้ความสำคัญที่ทัดเทียมกันระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)

“เพราะเหตุซึ่งกรุงสยามได้มีเกียรติยศ เพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอันออกหน้าปรากฎว่า มีพระราชไมตรีกับกรุงบริตาเนีย ให้พระราชสาสนไปมาถึงโดยตรง แลกรุงบริตาเนีย ได้มีคุณแก่กรุงสยาม ด้วยความสำแดงการยกย่องในเมื่อจาฤกพระนามของกรุงบริตาเนีย ว่าเป็นพระราชภคินีที่รักของกรุงสยาม ลงในพระราชสาสนที่มีมาทุกฉบับ เพราะความยกย่องเป็นเกียรติยศปรากฏดังนี้ มีแก่กรุงสยามแด่กรุงบริตาเนีย

กรุงสยามไม่อาจอดกลั้นความประสงค์ เพื่อจะสำแดงความร้อนใจอาไลยพร้อมด้วยกรุงบริตาเนีย ในอุบัติบังเกิดแห่งความวิโยคจากพระราชชนนีเปนที่รักนั้น ถึงว่าพระราชชนนีนั้น จะทรงพระชนม์ยืนมากถึง 75 ปีแล้ว กรุงสยามยังคิดเห็นว่ากรุงบริตาเนีย จะทรงสังเวชพระราชหฤทัยมาก ในความสิ้นพระชนม์ของพระราชชนนีนั้น ก็อุบัติเหตุใดๆ บังเกิดขึ้นแก่กรุงสยามเหมือนกัน ด้วยประการนี้กรุงสยามขอสำแดงความพลอยสังเวชแลโทมนัสด้วย ในเหตุซึ่งบังเกิดนี้โดยซื่อสัตย์สุจริต

เพราะเหตุซึ่งกรุงบริตาเนียได้มีความดีแลความประพฤติชอบเป็นเดิมเหตุให้สำเร็จผล ทำให้ชนที่ขึ้นอยู่ในพระราชอาณาจักรของกรุงบริตาเนีย มีประมาณนับตัวไม่ถ้วนเที่ยวแยกย้ายเรี่ยรายตั้งอยู่แทบทุกบ้านทุกเมืองในมนุษยโลก แลว่าโดยวิเศษ คือ ไพร่บ้านพลเมืองที่ตั้งอยู่ในเมืองขึ้นของกรุงบริตาเนีย ที่กว้างขวางโตใหญ่มากที่สุด จนถึงดวงอาทิตย์ได้เวียนส่องแสงอยู่เป็นนิตย์ไม่ได้ลับไปจากเมืองทั้งปวงซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงบริตาเนียนั้นเลย ให้ได้มีความสุขแลความชมเชยผลประโยชน์เป็นที่เพลิดเพลินของตนติดต่อไปในความสวัสดิ์

กรุงสยามจึงได้มีความหวังว่าสิ่งซึ่งเป็นต้นเหตุเป็นประธานของสกลโลกจะมีความโปรดด้วยความประพฤติของกรุงบริตาเนียมากที่สุด แล้วจะโสรจสรงกรุงบริตาเนียเนื่องๆ ด้วยน้ำคือทิพยพรให้ซึมซาบในพระกายของกรุงบริตาเนียทุกเมื่อ เพื่อให้ทรงพระเจริญปราศจากพระโรค แลรักษาพระชนมชีพให้มั่นคง ดำรงไปยึดยาวกว่าพระราชชนนี ซึ่งสิ้นพระชนม์ให้ครั้งนี้นั้น กรุงสยามแน่ใจว่า กรุงบริตาเนียทรงพระปัญญาทราบธรรมดาของชีวิตอยู่แล้วว่า หนทางอย่างนี้จำจะเป็นที่ไปเมื่อหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาปลายอายุของคนทุกคนในโลก

อนึ่งกรุงสยามได้มีความยินดี เพื่อจะได้ฟังคำยืนยันบอกความมั่นคง แต่เซอรอเบิต จอมเบิคกงสุลของกรุงบริตาเนีย ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ ว่ากรุงบริตาเนียได้โปรดรับว่ากรุงบริตาเนียจะรับทูตสยามซึ่งกรุงสยามได้ส่งไปจากกรุงเทพฯ นี้ แต่เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 10 ค่ำ ของเดือนจิตรา ซึ่งเป็นเดือนที่ 5 นับแต่ต้นรดูหนาว ตรงกันกับวันที่นับโดยสุริยคติ เป็นวันที่ 12 ของเดือนมาร์ชในปีประจุบันนี้นั้น

เพื่อจะให้เฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยการเจริญทางพระราชไมตรี ซึ่งมีขึ้นด้วยการทำสัญญาโดยแบบอย่างเหมือน กันกับครั้งเมื่อกรุงสยามได้ส่งทูตานุทูตไปเฝ้ากรุงบริตาเนียเมื่อปีมเสงนพศก ศักราช 1219 ตรงกันกับคฤศตศักราช 1857 นั้น

ครั้งนี้กรุงสยามมีความปรารถนายิ่งขึ้นไป เพื่อจะให้ทูตต่อไปกรุงลอนดอนเจริญทางพระราชไมตรีแก่กรุงบริตาเนีย โดยความในพระราชสาสนอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งมีไปเมื่อทูตานุทูตพวกนั้นแล้ว กรุงสยามมีความหวังเฉพาะ ว่าทูตานุทูตพวกนั้น จะได้มียศเพื่อจะได้เฝ้าในที่ฉเพาะพระพักตร์ของกรุงบริตาเนียก่อน

แต่พระราชสาสนนี้จะได้ไปถึงกรุงลอนดอน ถ้าจะพร้อมเข้าในเวลาเดียวกัน ก็เพราะเหตุที่กรุงสยามได้ฟังข่าวของความสิ้นพระชนม์แห่งพระราชชนนีของกรุงบริตาเนียนั้น เปนภายหลังแต่เวลาเมื่อทูตไปจากกรุงเทพฯ นี้นั้นนานแล้ว จึงต้องส่งพระราชสาสนนี้มอบให้กงสุลต่อไป” [พระราชสาสน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานไปยังประเทศต่าง (ภาค 1)]


ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. “เบื้องหลังความสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน 150 ปี” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2554

ไกรฤกษ์ นานา. ค้นหารัตนโกสินทร์ 2 เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคต รัชกาลที่ 5, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2553


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 สิงหาคม 2564