กำเนิด “ดีเซล” เครื่องยนต์ปฏิวัติโลก ฝีมือเด็กชอบรื้อ สาบสูญอย่างลึกลับในบั้นปลาย

รูดอล์ฟ ดีเซล ผู้ออกแบบเครื่องยนต์ ดีเซล
รูดอล์ฟ ดีเซล (Rudolf Diesel) ผู้ออกแบบเครื่องยนต์ดีเซล (ถ่ายก่อน 1913)

จากเด็กเหลือขอ แสนดื้อรั้น ชอบรื้อเครื่องยนต์กลไกในวัยเด็ก รูดอล์ฟ ดีเซล (Rudolf Diesel) เติบโตขึ้นมาเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ อัธยาศัยดี ขี้อาย พูดจานุ่มนวล สนทนาได้ถึง 3 ภาษา และเป็นนักประดิษฐ์คนสำคัญของโลก

ชีวิตของครอบครัวดีเซลต้องพลิกผัน เมื่อฝรั่งเศสประกาศสงครามกับปรัสเซียในเดือนกรกฎาคม ปี 1870 ครอบครัวของเขาจึงต้องอพยพไปอังกฤษในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว ทว่าโชคยังเป็นของ รูดอล์ฟ ดีเซล วัย 12 ปี เมื่อบิดาตัดสินใจส่งเขาไปอยู่กับลุงและป้าในอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่มีฐานะพอจะส่งเสียให้เขาร่ำเรียนจนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี กรุงมิวนิก ประเทศเยอรมนี

หลังจบการศึกษา ดีเซลกลับบ้านเกิดที่กรุงปารีส และได้เข้าทำงานในโรงงานประกอบเครื่องทำน้ำแข็งของศาสตราจารย์คาร์ฟอนลินเด และได้รับสิทธิบัตรใบแรกคือ เครื่องผลิตน้ำแข็งที่ผลิตน้ำแข็งได้ใสราวผลึกคริสตัล ทว่ากำไรทั้งหมดจากการทำน้ำแข็งต้องตกเป็นของนายจ้างตามกฎหมายของฝรั่งเศส ดีเซลจึงย้ายไปทำงานในเมืองมิวนิก และหันไปพัฒนาเครื่องยนต์แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง

เนื่องจากตอนเรียนมหาวิทยาลัย เขาเคยได้ยินอาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวว่า เครื่องจักรไอน้ำทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเกินความจำเป็น ทำให้ดีเซลคิดหาทางที่จะประดิษฐ์เครื่องจักรที่ใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งขณะนั้นมีการประดิษฐ์เครื่องยนต์เบนซินซึ่งใช้หัวเทียนจุดระเบิดก๊าซออกมาใช้แล้ว ในปี 1892 ดีเซลได้รับสิทธิบัตรเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการจุดระเบิดโดยความร้อนจากการอัดน้ำมันในกระบอกสูบโดยไม่ใช้ประกายไฟหรือหัวเทียน

ทว่าสุดท้ายเครื่องยนต์ที่เขาออกแบบก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการอัดฉีดเชื้อเพลิงให้เป็นฝอย เพราะผนังกระบอกสูบไม่แข็งแรงพอที่จะต่อความดันอากาศสูงๆ ได้ เนื่องจากไม่มีทุนหมุนเวียนที่จะพัฒนาเครื่องยนต์ ดีเซลจึงต้องขายสิทธิ์การจำหน่ายในเยอรมนีให้แก่ มาสคีเนนฟาบริค อ็อกซบูร์ก (Maschinenfabrik Augsburg) ในปี 1893 ในออสเตรีย-ฮังการีให้แก่ ครุปป์ แวร์กค์ (Krupp Werke) ในสวิตเซอร์แลนด์ให้แก่ ซูลเซอร์ คอมพานี (Sulzer Company)

จากนั้นบริษัทที่มีทุนหนาอย่างอ็อกซบูร์กและครุปป์ได้ร่วมทุนกันสร้างเครื่องยนต์ต้นแบบ ในที่สุด เครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่มีกำลังแรงกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดิม 2 เท่า ซึ่งดีเซลให้เวลาพัฒนา 5 ปี ก็ปรากฏโฉม และเขาก็ตั้งชื่อเครื่องยนต์ชนิดนี้ว่า “ดีเซล” ตามคำแนะนำของภรรยา

ดีเซลกลายเป็นเศรษฐีในวันเกิดครบรอบ 40 ปี เขามีรายได้หลายล้านเหรียญจากการขายสิทธิ์จำหน่ายเครื่องยนต์ทั่วยุโรป ทำให้ อดอลฟุส บุช (Adolphus Busch) เจ้าของธุรกิจผลิตเบียร์ในอเมริกาสนใจและขอซื้อสิทธิ์จำหน่ายในอเมริกาและแคนาดา โดยให้ค่าลิขสิทธิ์ 1 ล้านเหรียญ จากนั้น สำนักงานดีเซล มอเตอร์ คัมปะนีของบุชก็เปิดทำการในนิวยอร์ก ในปี 1898

แม้ฐานะจะมั่งคั่งขึ้น แต่ดีเซลก็ยังต้องทุกข์ทรมานกับอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงซึ่งรุมเร้าเขาตลอดเวลา มิหนำซ้ำภรรยาของเขาก็ยังไม่ใส่ใจและทำตัวออกห่าง นอกจากนี้กระแสนิยมของเครื่องยนต์ดีเซลยังทำให้ประดิษฐกรรมของเขาถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น ซ้ำร้ายโรงงานที่ผลิตเครื่องยนต์ ยังผลิตสินค้าออกมาไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ราคาหุ้นของเจเนอรัล ดีเซล คอมพานี ที่ดูแลสิทธิบัตรของเขาอยู่ตกฮวบ และบริษัทต้องล้มละลายในที่สุด เงินสำรองที่ดีเซลสะสมไว้ก็เริ่มร่อยหรอลง

ในที่สุด ดีเซลผู้เชื่อมั่นว่าชะตาชีวิตของเขาผูกติดอยู่กับเครื่องยนต์ จึงหันมาพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับเรือธรรมดา เรือเดินสมุทร เครื่องบิน รถยนต์ในจินตนาการ ซึ่งแม้จะทำเงินได้บ้างแต่ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ในปี 1912 สถานะทางการเงินของเขาแย่ลง และสถานการณ์โลกที่เริ่มเข้าสู่ความตึงเครียดของสงครามทำให้ดีเซลที่ชอบสันติและความสันโดษ รู้สึกหดหู่มากยิ่งขึ้น

ทว่าในปีเดียวกัน เขาก็ได้รับเชิญจากบุชให้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงาน และบรรยายเรื่องประดิษฐกรรมของเขาให้บรรดาผู้ประกอบการฟัง นอกจากนี้การเดินทางมาเยือนอเมริกา ทำให้ดีเซลได้พบกับ โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) นักประดิษฐ์ชื่อดัง แต่ทั้งสองก็ไม่ใคร่ถูกชะตากันนัก หลังจากดีเซลพบว่าเอดิสันขาดความรู้ด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับนักประดิษฐ์ และคิดว่านักประดิษฐ์ก็เป็นแค่คนที่นำความคิดคนอื่นมารวมกันอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น ส่วนเอดิสันก็มองว่าดีเซลนั้นหลุดโลกและเป็นขบถสังคมมากเกินไป

ในบั้นปลายชีวิต ดีเซลรู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง เมื่อเห็นว่าธุรกิจอันมาจากผลงานของเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่คิด วันหนึ่งเขามอบกระเป๋าให้ภรรยาและกำชับให้เธอเปิดหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ แล้วออกเดินทางเพื่อขึ้นเรือข้ามช่องแคบไปอังกฤษ ในวันที่ 30 กันยายน ปี 1913 ดีเซลหายตัวไปจากเรืออย่างไร้ร่องรอย มีเพียงหมวกและเสื้อนอกที่พาดอยู่ตรงราวกั้นดาดฟ้าเรือ และเมื่อภรรยาเปิดกระเป๋าก็พบว่ามีเงินสดอยู่จำนวนมาก

หลังดีเซลเสียชีวิตร่วม 2 ทศวรรษ เครื่องยนต์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นก็ถูกนำไปติดตั้งในรถเมอร์เซเดสเบนซ์ 2600 ซึ่งเป็นรถยนต์โดยสารคันแรกที่มีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมจำนวนมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ปรับปรุงเนื้อหาและในระบบออนไลน์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2563