กำเนิดรถ “เบนซ์” จากลูกชายคนขับรถไฟ และที่มาของชื่อเต็มว่า “เมอร์ซิเดส-เบนซ์”

คาร์ล เบนซ์ ขับรถ "เบนซ์โมเดล" ปี 1888 ของเขา ภาพถ่ายช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก STF / AFP)

สัญลักษณ์ดาวสามแฉกล้อมรอบด้วยวงกลมบนรถของ “เมอร์ซิเดส-เบนซ์” แทบเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของบริษัทรถยนต์แห่งเยอรมนีซึ่งมีประวัติความเป็นมามากกว่าร้อยปี บุคคลสำคัญที่บุกเบิกเมอร์ซิเดส-เบนซ์ มี 3 รายด้วยกันคือ คาร์ล เบนซ์, กอตต์ลิบ เดมเลอร์ และวิลเฮล์ม เมย์บาร์ค หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วคำว่า “เมอร์ซิเดส” มาจากไหน

ท่ามกลางเกียรติประวัติของบริษัทรถยนต์อันเก่าแก่ของโลก พิพิธภัณฑ์รถเมอร์ซิเดส-เบนซ์ ถูกจัดตั้งขึ้นในโรงงานเมืองสตุตการ์ต ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี จัดวางรถที่เป็นเกียรติประวัติของบริษัทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถที่นายเบนซ์ ประดิษฐ์ขึ้นยุคแรกๆ หรือรถซึ่งเคยเป็นของ ไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ไปจนถึงรูปปั้นเหมือนจริงของ คาร์ล เบนซ์, กอตต์ลิบ เดมเลอร์ และวิลเฮล์ม เมย์บาร์ค ผู้บุกเบิกสร้างประวัติศาสตร์ให้กับเมอร์ซิเดส-เบนซ์

นายคาร์ล เบนซ์ เป็นลูกชายคนขับรถไฟแห่งเมืองคาร์ลสรูห์ (Karlsruhe) ในละแวกไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองสตุตการ์ต เขาคือผู้เอาเครื่องยนต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองมาใส่ในรถซึ่งออกแบบมาโดยเฉพาะ มี 3 ล้อ ด้านเป็นล้อเดียวคล้ายกับรถสามล้อถีบในไทย

การออกแบบรถ 3 ล้อข้างต้นเป็นเรื่องฮือฮาในหมู่ชาวเมืองในสมัยนั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังใช้รถม้า ไม่มีรถยนต์ นอกเหนือจากเรือยนต์ เรือกลไฟและรถไฟ ขณะที่รถของนายเบนซ์ ใช้เครื่องยนต์แบบลูกสูบ 1 สูบ ขับเคลื่อนล้อและบังคับด้วยคันโยก ทำความเร็วได้ 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่อมา ในช่วงกลางปี ค.ศ. 1886 นายเบนซ์ ขับรถออกมาอวดชาวบ้านชาวเมือง หนังสือพิมพ์ช่วงนั้นลงข่าวกันเป็นที่ฮือฮาว่าผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ

ในปีเดียวกัน นายเดมเลอร์ ลูกชายคนทำขนมปังจากเมืองชอร์นดอร์ฟ ผู้ประดิษฐ์รถมอเตอร์ไซค์ออกมาเป็นคันแรกของโลก และเครื่องยนต์ที่ใช้กับเรือ เขาหันมาสนใจทำรถยนต์เช่นเดียวกัน แต่รถของนายเดมเลอร์ ที่ทำออกมาในคราแรกใช้วิธีดัดแปลงรถม้าและเอาเครื่องยนต์ใส่เข้าไป

ขณะที่นายบาร์ค มีชื่อเสียงจากการคิดค้นหัวฉีด คาบิวเรเตอร์ หม้อน้ำระบายความร้อน ชื่อเสียงของเดมเลอร์ ในฐานะวิศวกรก็โด่งดังในเยอรมนีไม่แพ้นายบาร์ค

ยุโรปในเวลานั้นกำลังมีเศรษฐกิจย่ำแย่ บริษัทของเบนซ์ และนายเดมเลอร์ เจอผลกระทบเช่นเดียวกัน จึงคิดผนึกกำลังสร้างบริษัทเมอร์ซิเดส-เบนซ์ เมื่อปี ค.ศ. 1936 และทำธุรกิจต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ รถยนต์และเครื่องประดิษฐ์ยุคแรกๆ ที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์รถ ฉลองครบ 50 ปีของเมอร์ซิเดส-เบนซ์ ยังใช้งานได้ (ยกเว้นรถต้นแบบของนายเบนซ์ เมื่อค.ศ. 1886)

รถสัญลักษณ์ชิ้นหนึ่งที่มีความเป็นมาน่าสนใจคือ รุ่นทัวริ่ง โคช ของบริษัทเดมเลอร์ ผลิตเมื่อปี ค.ศ. 1907 ในช่วงที่ยังไม่ได้รวมกับบริษัทเบนซ์ เป็นเครื่องเน้นย้ำความผูกพันระหว่างนายเดมเลอร์ กับ นายอีมิล เจลลิเน็ต คหบดีชาวเวียนนา เอเยนต์ใหญ่ของเดมเลอร์ ในยุโรป และอเมริกา

นายเจลลิเน็ต รายนี้เป็นผู้นำชื่อลูกสาวคือ “เมอร์ซิเดส” มาเป็นเงื่อนไขในการเจรจาธุรกิจกับเดมเลอร์ นายเจลลิเน็ต ต่อรองว่า ถ้าสั่งซื้อรถเดมเลอร์ 36 คัน มูลค่า 550,000 มาร์กทองคำ ต้องใส่ชื่อ “เมอร์ซิเดส” ซึ่งเป็นภาษาสเปน หมายความว่า “สง่างาม” ในรถทุกคันที่เดมเลอร์ผลิต เงื่อนไขนี้เป็นที่ตกลง คำว่า “เมอร์ซิเดส” กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเดมเลอร์ กระทั่งมารวมกับบริษัทเบนซ์ จึงใช้ชื่อ “เมอร์ซิเดส-เบนซ์” มาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากรวมกันแล้ว รถยนต์หลากหลายรุ่นก็ทยอยออกมา บางรุ่นเป็นรถยนต์ที่ต้องเป็นบุคคลระดับมหาเศรษฐีเท่านั้นถึงจะมีโอกาสเป็นเจ้าของได้ อาทิ รุ่น 770 ผลิตเมื่อปี 1931 เครื่องยนต์ 8 สูบ ทำด้วยมือทั้งคัน ผลิตเพียง 119 คัน ใช้ชื่อรุ่น “แกรนด์ เมอร์ซิเดส” ขายเฉพาะเจ้านครชั้นสูงและมหาเศรษฐี คันสีเทาคันหนึ่งที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เมื่อครั้งนั้นมีเจ้าของในอดีตคือไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 และยังมีอีกคัน สีแดงเข้ม หลังคาดำ เป็นของจักรพรรดิฮิโรฮิโต แห่งญี่ปุ่นสมัยสงครามโลก ซึ่งบริษัทเมอร์ซิเดส ติดต่อซื้อกลับมาตกแต่งบูรณะใหม่ เมื่อ ค.ศ. 1971


อ้างอิง:

ทวีศักดิ์ บุตรตัน. “ซื้อไม่ได้ ก็ขอไปดู พิพิธภัณฑ์เมอร์ซิเดส-เบนซ์ อดีตที่บ่งบอกอนาคต” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2535.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 14 เมษายน 2563