ผู้เขียน | รัชตะ จึงวิวัฒน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า หรือ พระเจ้าธีบอ จำนนต่ออังกฤษเมื่อกว่าร้อยปีก่อนเป็นเรื่องราวที่ทั่วโลกรับทราบกันดี แต่นอกเหนือจากนั้น หลังม่านในพระราชวังแล้วพระองค์ยังต้องยำเกรง พระนางศุภยาลัต พระราชินีซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีสีสันอย่างมาก ถึงแม้พระองค์จะยำเกรงพระราชินี แต่ก็ยังเคยลืมรักพระนางไปชั่วขณะ ในช่วงที่มี “สนมลับ” ตามที่คนสนิทยุยงส่งเสริม
พระเจ้าธีบอ เป็นพระโอรสพระเจ้ามินดง พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน ซึ่งประชาชนต่างจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างมาก หลังจากพระเจ้ามินดงสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2421 ราชวงศ์พม่าเริ่มต้องประสบชะตากรรมในรัชสมัยพระเจ้าธีบอ และมาสิ้นสุดยุคราชวงศ์ลงหลังการจำนนต่ออังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2428
พระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์เมื่ออายุเกือบ 20 พรรษา ภายหลังพระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์ เจ้าชายธีบอถูกพาตัวจากในวัดมาสู่วัง จากวิถีชีวิตในพระพุทธศาสนามาสู่กษัตริย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต่างจากการการเปลี่ยนเพียงชั่วข้ามคืน
แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) ผู้เขียนหนังสือ “Thibaw’s Queen” หรือในชื่อฉบับแปลไทยว่า “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน“ หนังสือที่หยิบยกข้อมูลชีิวิตเบื้องลึกในพระราชวังจากคำบอกเล่าของ “นางกำนัล” ที่ถวายงานรับใช้พระนางศุภยาลัตนาน 4 ปี เล่าว่า พระองค์แปรเปลี่ยนจากชายผู้บวชเรียนดำรงเพศอย่างภิกษุในพุทธศาสนา หนุ่มที่สุภาพ อารมณ์ดี และมีเมตตา มาสู่อำนาจไร้ขีดจำกัด และการออกคำสั่งตามอำเภอใจ
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกพระองค์ต้องพึ่งพาอาศัยบุคคลอื่นรอบตัว ขณะที่เจ้าชายคู่แข่งต่างถูกกักขังไว้ตามแผนการของพระนางซินผิ่วมะฉิ่น มเหสีเอกของพระเจ้ามินดง (ในที่นี้ขอข้ามรายละเอียดเรื่องการเปลี่ยนรัชกาลไปก่อน)
เจ้าหญิงศุภยาลัต
พระนางซินผิ่วมะฉิ่น ไม่มีโอรส แต่มีธิดา 3 คน ซึ่งทั้ง 3 คนได้เป็น “มเหสี” (ในนาม) ของพระเจ้าธีบอทั้งหมดในเวลาต่อมา ทั้ง 3 คนคือ ศุภยาจี เจ้าหญิงใหญ่, ศุภยาลัต เจ้าหญิงกลาง และศุภยากะเล เจ้าหญิงเล็ก
แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง ฮอลล์ บรรยายว่า เจ้าหญิงศุภยาจี ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก เป็นคนเงียบๆ เรียบร้อย พร้อมที่จะทำตามคำสั่ง พร้อมเป็นมเหสีพระเจ้าธีบอ พี่ชายต่างมารดา
ดร. อู ค์จอ ถั่น ศาสตราจารย์ชาวพม่า ผู้เคยทำงานกับโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาศาสนศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายในการปาฐกถาเรื่อง “พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า” เมื่อ พ.ศ. 2528 ว่า สมัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินพม่าจะทรงอภิเษกกับพระชายา ซึ่งประสูติในพระราชวงศ์เดียวกัน เพื่อรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ไม่ปะปนกับไพร่ ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางกลุ่มมองว่า เรื่องนี้เป็นสาเหตุหนึ่งในจุดเริ่มต้นของหายนะในระบบราชาธิปไตยของพม่า
ส่วนเจ้าหญิงศุภยาลัต ชันษาอ่อนกว่าพระเจ้าธีบอ 1 ปี เจ้าหญิงองค์นี้มีนิสัยเหมือนพระมารดา คือหยิ่งทะนง อารมณ์รุนแรง และทะเยอทะยาน แฮโรลด์ อธิบายโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของ “นางกำนัล” ใกล้ชิดพระนางศุภยาลัตว่า นางรักเจ้าชายธีบอมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กอยู่ในวังที่ทั้งคู่เล่นด้วยกัน
แฮโรลด์ เล่าต่อว่า เมื่อเจ้าหญิงองค์กลางทราบข่าวว่าเจ้าชายธีบอจะขึ้นเป็นกษัตริย์ และจะอภิเษกกับเจ้าหญิงใหญ่ เจ้าหญิงศุภยาลัต ทรงเขียนจดหมายถึงเจ้าชาย และไปเข้าเฝ้ากษัตริย์ มุ่งตรงไปยังที่ประทับของกษัตริย์และพำนักที่นั่น แม้ว่าพระชนนีจะทรงรับสั่งอย่างไร เหล่าเสนาบดีทูลทัดทานอย่างไร ก็ไม่เป็นผล พระองค์รับนางไว้และทั้งสองก็ไม่พรากจากกันอีกเลย เหตุการณ์ที่น้องสาวแย่งสิทธิครอบครองจากพี่สาว และสถาปนาตัวเองเป็นราชินี ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรัชสมัยก่อนหน้านี้
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นอันจะทำให้ราชสำนักพม่าเปลี่ยนแปลง พระนางศุภยาลัตทวีอำนาจขยายอิทธิพลออกไปอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นเป็นผู้ทรงอำนาจในแผ่นดินพม่า
นางกำนัลที่ใกล้ชิดพระนางยอมรับว่า “พระนางศุภยาลัต” ไม่ได้มีรูปโฉมงดงาม แต่บรรดาสตรีที่โฉมงามกว่าต่างถูกกลบกลืนไป พระนางเอาใจใส่ดูแลตัวเองอย่างที่สุด เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องดูมีรสนิยมดี ประณีต แต่งหน้าด้วยแป้งอย่างพองาม จัดแต่งทรงผมให้งดงาม พระนางรู้ดีว่าเสน่ห์มัดใจพระเจ้าธีบออยู่ที่ใด ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในวัง พระนางทำ 2 สิ่งคือ รักษาอำนาจไม่ให้ใครมาช่วงชิง และรักษาคู่ครองไม่ให้หญิงใดมาแย่งคนรักของตัวเองไป
แม้จะดูแลเอาใจใส่อย่างดี ผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นที่หวัง เมื่อพระเจ้าธีบอก็ยังมีเรื่องนอกใจ
เจ้าหญิงเมืองฉาน
นางกำนัลเล่าว่า ครั้งหนึ่งเจ้าหญิงเมืองฉานที่เป็นนางกำนัลเช่นเดียวกัน เกือบถูกพระนางศุภยาลัตสั่งประหารชีวิต แต่ตอนหลังทรงเปลี่ยนพระทัย เจ้าหญิงเมืองฉานถูกนำตัวไปโบย 1-2 ครั้งกลางอุทยานเพื่อประจาน แล้วถูกขับออกจากพระราชวัง นางกำนัลไม่ทราบเรื่องทั้งหมดว่าเกี่ยวกับเหตุอันใด ไม่มีใครพูดถึงเจ้าหญิงอีกเลย พระราชินีทรงกริ้วมาก และกันแสงอยู่หลายวัน ขณะที่พระเจ้าธีบอก็อับอายมาก
สนมลับ และเจ้าชายยะหน่อง
แต่การนอกใจที่น่าหดหู่อีกครั้งคือ เมื่อพระเจ้าธีบอมีสนมลับจากการยุยงของเจ้าชายยะหน่อง ซึ่งเป็นสหายกับพระเจ้าธีบอเมื่อครั้งร่ำเรียนในวัยเยาว์ นางกำนัลที่เป็นแหล่งข้อมูลของแฮโรลด์ ไม่รู้ข้อมูลภูมิหลังของเจ้าชายยะหน่องมากนัก แต่สังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม พระเจ้าธีบอกับเจ้าชายยะหน่องยังเป็นเพื่อนกันได้
เมื่อพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์ พระองค์ส่งคนไปตามเด็กชายที่เคยเล่นด้วยกันและยกฐานะให้ภายหลังกลายมาเป็นเจ้าชายยะหน่อง เจ้าชายองค์นี้ขอสิ่งใด พระเจ้าธีบอจะประทานให้หมด เจ้าชายยะหน่ององค์นี้กลับไม่เป็นที่ชื่นชอบของพระราชินีศุภยาลัต
เจ้าชายยะหน่องมีผู้หญิงนับไม่ถ้วน ผู้คนหวาดกลัวเมื่อเห็นเขาขี่ม้าผ่าน เจ้าชายพำนักในบ้านที่แน่นหนาพร้อมภรรยาหลายคน นางกำนัลเล่าว่า เจ้าชายติดกริ่งไฟฟ้าเชื่อมยังห้องของภรรยาแต่ละคน เมื่อต้องการคนไหนจะสั่นกริ่ง วิธีนี้ทำให้ภรรยาคนอื่นไม่รู้ว่าคืนนี้เขาอยู่กับเมียคนไหน พระราชินีทรงไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้อย่างยิ่ง เจ้าชายยะหน่องมักเยาะเย้ยพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่ในโอวาทของพระราชินี และเปรียบเทียบกับพระราชบิดาของพระเจ้าธีบอมีสนม 50 คน ยิ่งทำให้พระนางศุภยาลัตเกลียดเจ้าชายยะหน่องมากทวีคูณ สถานการณ์ถึงขั้นที่ต่างฝ่ายหวังกำจัดอิทธิพลอีกฝ่าย
คำบอกเล่าของนางกำนัลระบุว่า วันหนึ่งที่พระเจ้าธีบอเสด็จไปบ้านของเจ้าชายยะหน่อง เจ้าชายพาหญิงสาวผู้หนึ่งเข้ามาห้องด้วย พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยและตกหลุมรักเด็กสาวทันที
เจ้าชายยะหน่องแนะนำหญิงสาวรายนี้ว่าเป็นธิดาคันนี หวุ่น ขุนนางที่ทรงอำนาจ หญิงสาวรายนี้อายุ 17 ปีเท่านั้น
“พระองค์ลุ่มหลงนางถึงกับลืมความรักของพระราชินีไปชั่วขณะ พระองค์ลืมที่จะรักแต่ไม่ลืมที่จะยำเกรงพระนาง” แฮโรลด์ ระบุคำบอกเล่าของนางกำนัลในหนังสือ “ราชินีศุภยาลัตฯ”
เป็นสถานการณ์ที่น่ากระอักกระอ่วน เมื่อพระองค์ทรงโปรดปรานหญิงสาว แต่ก็ไม่สามารถเสด็จออกหานางที่บ้านเจ้าชายได้บ่อยครั้ง แต่เจ้าชายยะหน่องเตรียมแผนเอาไว้ โดยให้เด็กสาวปลอมเป็นชายและกลับเข้าวังพร้อมพระเจ้าอยู่หัว การปลอมตัวจากหญิงเป็นชายไม่ยากเย็นนักสำหรับชาวพม่า แค่เปลี่ยนผ้าซิ่นมาสวมโสร่งไหมแทน และจัดแต่งทรงผมใหม่ เด็กหญิงและชายวัยประมาณนี้มักรูปร่างคล้ายกันจนแยกจากกันไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงมักมีคำบอกเล่าเด็กหญิงถูกลอบนำเข้าวังบ่อยครั้ง
นางกำนัลเล่าต่อว่า เด็กสาวอยู่ในวังหลายเดือน แผนการที่วางไว้ไม่ใช่แค่ให้เด็กสาวใกล้ชิด แต่หวังว่าวันหนึ่งจะให้นางเป็นมเหสี ทำให้พระเจ้าอยู่หัวอยู่ในกำมือนาง พระราชินีเองไม่ระแคะระคายนานหลายเดือน แต่โปรดอย่าลืมคำกล่าวว่า “ความลับไม่มีในโลก”
คำบอกเล่าของนางกำนัลระบุว่า นางไม่ทราบว่าความแตกได้อย่างไร แต่เรื่องทั้งหมดถูกเปิดเผย
“…เพียงชั่วขณะก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงตระหนักว่าความลับของพระองค์แตกแล้ว ก่อนที่เด็กสาวและพรรคพวกของนางจะมีเวลาหนี เด็กสาวและบิดาของนางรวมทั้งทุกคนที่มีส่วนในเรื่องนี้ก็ถูกจับและนำไปประหารทันที”
“…ตอนนั้นน่ากลัวมาก พระราชินีเหมือนทรงเสียพระสติไปแล้วเมื่อทรงตระหนักว่าพระนางเกือบจะสูญเสียพระเจ้าอยู่หัวและทุกสิ่งซึ่งมีค่าต่อการดำรงอยู่ในโลกนี้ของพระนางไป”
นางกำนัลเล่าว่า ผู้ร่วมคิดแผนการนี้ที่ถูกจับได้ล้วนถูกประหารหมด พระนางเคยอภัยโทษให้เจ้าหญิงเมืองฉานมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป พระนางเข้มแข็งและทรงอำนาจขึ้น การอภัยจึงไม่มีอีกแล้ว มีเพียง 2 คนที่ยังมีชีวิตรอดคือ พระเจ้าอยู่หัว และเจ้าชายยะหน่อง (นางกำนัลเล่าข้อมูลต่อมาว่าเจ้าชายยะหน่องเสียชีวิตจากอีกเหตุการณ์หนึ่ง)
หากพิจารณาตามพื้นฐานข้อมูลของนางกำนัลที่เป็นแหล่งข้อมูลของแฮโรลด์ เรื่องนี้บ่งบอกถึงอำนาจเกินธรรมดาของราชินีองค์นี้ แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินพม่ามีสิทธิทางกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี ที่จะมีมเหสีได้ 4 องค์ดังเช่นพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน
แต่การที่พระราชินีก้าวข้ามเรื่องเหล่านี้ได้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและอำนาจที่หาผู้ต่อกรพระนางในแผ่นดินพม่าได้ยากยิ่ง และไม่มีใครรู้ว่าอำนาจนี้จะเป็นชนวนหนึ่งที่นำมาสู่หายนะในภายหลัง เมื่อพม่าเสียเมืองให้กองทัพอังกฤษใน พ.ศ. 2428
- เปิดจดหมายตัดพ้อของพระนางศุภยาลัต ถึงความรักวันวาน ก่อนพระเจ้าธีบอครองบัลลังก์พม่า
- เบื้องหลังอันน่าสลด พระศพพระเจ้าธีบอไม่ได้หวนคืนพม่า ทั้งที่สิ้นพระชนม์กว่าร้อยปี
- พระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คองบอง แท้จริงเหี้ยมโหดหรือน่าสงสาร?
อ้างอิง :
ฟีลดิ้ง-ฮอลล์, แฮโรลด์. ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560
อู ค์จอ ถั่น. “พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า” จากปาฐกถา “The Last Lord of the Sunrise”. แปลโดย บุญยก ตามไท. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2528)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2562