เบื้องหลังอันน่าสลด พระศพพระเจ้าธีบอไม่ได้หวนคืนพม่า ทั้งที่สิ้นพระชนม์กว่าร้อยปี

ภาพถ่าย พระเจ้าธีบอ และ พระราชินีศุภยาลัต
พระเจ้าธีบอ และพระราชินีศุภยาลัต

พม่าถูกอังกฤษเข้ายึดครองเมื่อ ค.ศ. 1885 ภายหลังจากสงครามครั้งที่ 3 ระหว่างพม่ากับอังกฤษจบลงในระยะเวลาอันสั้นในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ กองทัพอังกฤษเข้ายึดมัณฑะเลย์ เนรเทศ พระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่า และพระราชินีไปพำนักที่อินเดีย

ณ ที่พำนักในต่างแดน พระเจ้าธีบอ (บางแห่งเขียน “พระเจ้าสีป่อ”) สิ้นพระชนม์ในเมืองรัตนคีรี เมื่อ ค.ศ. 1916 หีบพระศพของพระองค์ถูกเชิญไปไว้ในที่เก็บคล้ายสุสานในบริเวณวังเจ้า ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่สุสานแห่งใหม่ในภายหลัง แต่จนถึงวันนี้พระศพของพระองค์ยังไม่ได้หวนกลับคืนพม่า

Advertisement

ก่อนหน้าพม่าจะถูกอังกฤษยึดครอง สถานการณ์ภายในประเทศเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนักถูกซ้ำเติมจากเหตุการณ์ปะทะกับอังกฤษในอินเดีย สงครามกับอังกฤษในครั้งแรกจบลงด้วยสัญญาสงบศึกใน ค.ศ. 1824 (พ.ศ. 2367)

สงครามครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) จบลงด้วยผลลัพธ์ที่พม่าตอนล่างถูกผนวกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สงครามครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) อังกฤษเข้าถึงมัณฑะเลย์และยกพลขึ้นบก ตั้งแถวเคลื่อนมาที่พระราชวัง เจรจาให้พระเจ้าธีบอมอบตัว แม่ทัพอังกฤษให้เวลาพระเจ้าธีบอจัดเก็บของใช้ส่วนตัว 45 นาที จากนั้นก็ควบคุมตัวพระเจ้าธีบอออกจากพระราชวัง เนรเทศ พระเจ้าธีบอ และ พระนางศุภยาลัต พระราชินีไปอินเดีย

ครอบครัวกษัตริย์พลัดแผ่นดินพำนักในเมืองรัตนคีรี เมืองบนชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย ห่างไปทางตอนใต้ของบอมเบย์ จากการบอกเล่าของ Sudha Shah  ผู้เขียนหนังสือ “ราชันผู้พลัดแผ่นดินเมื่อพม่าเสียเมือง” บ่งชี้ว่า ช่วงเวลานั้นหมู่บ้านในแถบรัตนคีรี เมืองที่ไม่มีเส้นทางรถไฟไปถึง เข้าถึงได้จากการเดินเท้าหรือเรือเท่านั้น แต่มีสภาพภูมิอากาศดี

Sudha Shah เล่าว่า กระทั่งเมื่อถึงปี 1905 พระเจ้าธีบอยังแสดงพระประสงค์ได้บ้านหลังใหม่โดยให้เหตุผลว่า ต้องการบ้านที่กว้างขึ้นเพื่อเจ้าหญิงคนเล็กอายุ 19 ปี คนโตอายุ 26 ปี ประกอบกับพระองค์กังวลอย่างมากเรื่องกาฬโรคที่ระบาดในกระต๊อบรอบเขตบ้านพักพระองค์มานาน 5 ปี พระเจ้าธีบอขอบ้านหลังใหญ่ขึ้นและห่างไปจากเมือง และขอเพิ่มค่าครองชีพให้พระองค์ด้วย ส่วนบ้านพักใหม่ หรือวังเจ้า (คำที่ทายาทรุ่นหลังในพม่าเรียกขาน) สร้างเสร็จสิ้นในปี 1910

หลังจากได้บ้านใหม่ ในปี 1912 พระนางศุภยากะเล มเหสีรองของพระเจ้าธีบอ สิ้นพระชนม์จากอาการผิดปกติของทางเดินอาหารหลังล้มป่วยเพียง 12 ชั่วโมง รองผู้ว่าราชการแห่งพม่าปฏิเสธคำขอของพระเจ้าธีบอ ที่ร้องขอให้ส่งร่างของพระนางกลับไปที่กรุงมัณฑะเลย์ โดยให้เหตุผลว่า การยอมตามคำร้องขอย่อมเป็นบรรทัดฐานต่อการพิจารณาเรื่องอื่นในอนาคต

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงท่าทีว่าไม่ต้องการให้ร่างของพระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตส่งกลับมาพม่าหลังสวรรคตด้วย เพราะเชื่อว่า อาจส่งผลต่อสถานการณ์ในพม่าจนนำไปสู่ความวุ่นวาย พระนางศุภยากะเล จึงต้องถูกฝังในเมืองรัตนคีรี เบื้องต้นหีบศพของพระนางฝังในอาณาเขตบ้านพัก

หลังจากถูกเนรเทศมานานถึง 31 ปี พระเจ้าธีบอสวรรคตในวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1916 ก่อนถึงวันคล้ายวันประสูติปีที่ 58 ของพระองค์ราวสองสัปดาห์ บันทึกของรัฐบาล (ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ) ระบุสาเหตุไว้ว่า “หัวใจและไตทำงานล้มเหลว” ท่าทีของรัฐบาลชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้นำพระศพมาฝังในพม่าไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เวลาต่อมา ราวเดือนพฤศจิกายน 1918 รัฐบาลในพม่าส่งสัญญาณไฟเขียวให้ส่งครอบครัวอดีตกษัตริย์กลับมาพม่า แต่ให้ไปอยู่ย่างกุ้ง ไม่ได้เป็นมัณฑะเลย์ พระนางศุภยาลัต ขอร้องให้อนุญาตให้ครอบครัวของพระนางเดินทางในเดือนมกราคม 1919 หลังจากจัดงานครบหนึ่งปีของการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าธีบอก่อน และยังขออนุญาตนำหีบพระศพของพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยากะเลกลับพม่าด้วย

รัฐบาลในพม่าแจ้งกลับมาว่า ไม่อนุญาตให้นำพระศพทั้งสองพระองค์กลับมาพม่าในทุกกรณี เหตุผลที่อธิบายคือ “มีความเป็นไปได้ที่จะใช้การนี้เป็นสัญลักษณ์เพื่อปลุกเร้าพวกหูเบาอย่างชนชาติพม่า ความมักใหญ่ใฝ่สูงทางการเมืองของบุคคลที่อันตรายเกินไปจะถูกปลุกขึ้นมา และพวกเขาจะสร้างความไม่สงบมิรู้จบ”

พระนางศุภยาลัตระงับการเดินทางเมื่อได้ยินข่าวนี้ และยืนกรานว่าจะไม่เดินทางหากไม่มีหีบศพของทั้งสองพระองค์ไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 มกราคม พระนางศุภยาลัต แจ้งอย่างกะทันหันว่า พระนางให้เก็บพระศพทั้งสองพระองค์ไว้ที่สุสานในรัตนคีรีโดยไม่ฝัง (Sudha Shah อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ศพของพระบรมวงศานุวงศ์พม่าจะไม่ถูกฝังใต้ดิน)

แต่วันที่ 30 มกราคม พระนางเปลี่ยนใจอีกครั้ง กลายเป็นบอกว่าพระนางจะไม่เดินทางโดยไร้หีบศพ เหตุผลในครั้งนี้คือ ถ้ารัฐบาลพิจารณาเห็นว่าการส่งหีบพระศพกลับพม่ามีแนวโน้มอาจทำให้เกิดสถานการณ์ล่อแหลม การที่พระนางกลับพม่าก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน

พระนางศุภยาลัตขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการแห่งบอมเบย์ โดยเขียนจดหมายวอนให้นำหีบพระศพทั้งสองพระองค์ไปด้วย ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลในพม่าแจ้งรายละเอียดเรื่องการจัดการพิธีฝังพระศพอย่างสมเกียรติในรัตนคีรี และร้องขอให้ดำเนินการก่อนครอบครัวกษัตริย์จะเดินทางออกจากเมือง

รายละเอียดที่แจ้งมีทั้งก่อสร้าง “ละอองได้” ที่เก็บพระศพชั่วคราวในช่วงจัดพิธีกรรมทางศาสนา, มีฉัตรสีขาว 8 คันกางเหนือที่เก็บพระศพ, พนักงานตีกลอง 8 คน, นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 8-10 รูปเพื่อสวดอภิธรรม, สร้างมณฑป (เอ้านัน ปยะตั๊ด) โดยเจาะโพรงสำหรับบรรจุพระศพทั้งสอง และก่ออิฐปิดโพรงทันทีที่พิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้น

ทางการของอินเดียหวั่นว่า พระศพของทั้งสองพระองค์จะถูกเคลื่อนย้ายอย่างลับๆ ผู้ว่าการเบรนดอน ผู้ว่าการเมืองรัตนคีรีสั่งซื้อที่ดินแปลงหนึ่งและให้จัดสร้างสุสานโดยเร็ว ที่ดินที่เลือกนี้ห่างจากวังเจ้าไม่เกิน 1 กิโลเมตร ผู้ว่าการฯ ยังสั่งให้ผู้ว่าการตำรวจและรองผู้ว่าการเมืองเปิดหีบศพต่อหน้าเจ้าหญิงสี่ เพื่อพิสูจน์ว่ายังมีพระศพบรรจุอยู่ด้วย แต่ครอบครัวไม่ยินยอม เจ้าหน้าที่จึงปิดล็อกหีบศพและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้ายามสุสานชั่วคราวในอาณาเขตวังเจ้า

พระนางศุภยาลัตโทรเลขถึงผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียและรองผู้ว่าราชการพม่า วอนให้ยุติความพยายามเปิดหีบพระศพพระเจ้าธีบอ หลังจากนั้นผู้ว่าการเบรนดอน มาเข้าเฝ้าพระนางศุภยาลัตและอธิบายเรื่องพิธีฝังพระศพ พร้อมเตือนว่า นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่พระนางจะได้จัดการพระศพ เพราะครอบครัวของพระนางจะถูกส่งกลับพม่าในอีกไม่นาน และอยากให้พระนางยืนยันว่าพระศพในหีบไม่ได้ถูกแตะต้อง ซึ่งพระนางศุภยาลัตตกลงยืนยันว่าพระศพทั้งสองยังอยู่ในหีบพระศพ อีกทั้งยินดีให้ตรวจค้นหีบสัมภาระของครอบครัวก่อนออกเดินทาง

วันที่ 19 มีนาคม 1919 พระศพของทั้งสองพระองค์ถูกนำไปบรรจุที่สุสานแห่งใหม่ โดยที่พระนางศุภยาลัตและเจ้าหญิงใหญ่ไม่ได้มาร่วมพิธี แม้ว่าทั้งสองพระองค์ยังอยู่ในรัตนคีรี Sudha Shah มองว่า อาจเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ มีเพียงเจ้าหญิงคนเล็ก 2 พระองค์เท่านั้นมาร่วมพิธี หลังจากพิธีฝังพระศพแล้ว รัฐบาลพม่าส่งโทรเลขแจ้งอนุญาตให้ครอบครัวกษัตริย์กลับพม่าในวันที่ 1 เมษายน 1919

รัฐบาลบอมเบย์ยังถือหนังสือสำคัญที่ลงนามโดยพระนางศุภยาลัตและเจ้าหญิงสี่ว่าเห็นชอบ โดยเต็มใจให้ฝังพระศพพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยากะเลที่รัตนคีรี และจะไม่ร้องขอให้เคลื่อนย้ายอีก

นับตั้งแต่นั้นมา ทายาทที่สืบสายพระเจ้าธีบอยังคงเคลื่อนไหวให้เคลื่อนย้ายพระศพพระเจ้าธีบอกลับพม่า ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฏการยื่นหนังสือแก่รัฐบาลทหารและผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย

สุสาน พระเจ้าธีบอ และ พระนางศุภยากะเล
ภาพถ่ายสุสานของพระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยากะเล ในรัตนคีรี เมื่อปี 2019 ภาพโดย Aniket Konkar / Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งานไฟล์ภาพ CC BY-SA 4.0

อย่างไรก็ตาม Kelsey Utne นักศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ ผู้เขียนบทความ “Ex-King Still in Exile” เล่าว่า ผู้นำเผด็จการหลังยุคอาณานิคมมองเชื้อพระวงศ์พม่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของพวกเขา พระศพของพระเจ้าธีบออาจถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจโดยกลุ่มขั้วตรงข้าม ซึ่งอาจเคลื่อนไหวเรียกร้องเสียงสนับสนุนจากสาธารณชน เพื่อนำระบอบการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกลับมา

ไม่เพียงปฏิเสธการนำพระศพกลับคืน ผู้มีอำนาจในรัฐบาลพม่ายังกีดกันสมาชิกราชวงศ์พม่าจากการเข้าไปในสุสานในเมืองรัตนคีรี อย่างไรก็ตาม ในปี 1993 ผู้สืบเชื้อสายรุ่นหลังกลุ่มเล็กๆ สามารถเดินทางเข้าสุสานในรัตนคีรี และประกอบพิธีกรรมทางศาสนาครั้งสุดท้ายได้

ในวันที่ 16 ธันวาคม 2016 อันเป็นวาระครบ 100 ปีของการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าธีบอ ผู้สืบเชื้อสาย บรรดาผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์ และพระสงฆ์ในพุทธศาสนามารวมตัวกันที่สุสานของพระองค์ในเมืองรัตนคีรี เพื่อรำลึกถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า แต่ท้ายที่สุด พวกเขายังไม่ได้นำพระศพของพระองค์กลับคืนพม่า

ชาวพม่า รวมตัว การทำพิธี สุสาน พระเจ้าธีบอ
ภาพการทำพิธีทางศาสนาบริเวณสุสานของพระเจ้าธีบอ ที่เมืองรัตนคีรี เมื่อ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2016 ภาพจาก AFP PHOTO / OFFICE OF MYANMAR COMMANDER-IN-CHIEF

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. สิ้นชาติสูญเอกราช “พม่าเสียเมือง” เมื่อทูตพม่าปรับทุกข์กับทูตไทย ณ ปารีส. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงเมื่อ 17 มิถุนายน 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_40617>

ชาห์ สุดา. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561. สุภัตรา ภูมิประภาส, แปล.

Utne, Kelsey. “Ex-King Still in Exile”. Southeast-Asia Program Cornell University. New York : SEAP Publications, Spring Bulletin 2020.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2563