ร้อยกว่าปีที่แล้ว รัชสมัย “พระเจ้าธีบอ” เต็มไปด้วยเสียงโหยหวนจากเหตุ “สังหารหมู่” !!!

พระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัต ทรงประทับ บนแท่นพระที่นั่ง
ราชินีศุภยาลัต และพระเจ้าธีบอ

ในรัชสมัย “พระเจ้าธีบอ เกิด “เหตุการณ์สังหารหมู่” เป็นโศกนาฏกรรมในหน้าประวัติศาสตร์พม่า ย้อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2422 ช่วงที่ “พระเจ้าธีบอ” ครองราชย์ ท่ามกลางเสียงมโหรีบรรเลง คือเสียงกรีดร้องโหยหวนที่ไม่มีใครได้ยินของเชื้อพระวงศ์พม่ากว่า 80 คน กว่าผู้อื่นจะล่วงรู้ถึงเหตุการณ์ “สังหารหมู่” เหล่าองค์ชาย องค์หญิง และบรรดานางสนม ต่างก็พบจุดจบอย่างน่าเศร้าเสียแล้ว

เมื่อ “พระเจ้ามินดง” ประชวรหนัก ผู้คนในราชสำนักต่างเริ่มมองหาว่าที่กษัตริย์องค์ใหม่ที่จะขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามินดง มีเจ้าชายมากมายที่ถูกหมายตาว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อ เนื่องจากพระเจ้ามินดงมีพระราชโอรสถึง 22 พระองค์ แต่ท้ายสุด “พระเจ้าธีบอ” กลับเป็นผู้ขึ้นครองราชบัลลังก์

Advertisement

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าธีบอ เกิดจากการผลักดันของพระนางอเลนันดอ หรือพระมเหสีเอกของพระเจ้ามินดง เนื่องจากพระนางต้องการคงอำนาจของตนไว้ รวมถึงการที่พระนางมีแต่พระราชธิดา ทำให้ต้องทรงหาว่าที่กษัตริย์องค์ใหม่ ซึ่งสามารถอยู่ใต้อาณัติของพระนางได้

พระเจ้าธีบอเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากพระองค์ไม่ทะเยอทะยาน ถูกชักจูงได้ง่าย และไม่มีความรู้ด้านการเมืองนัก เพราะพระองค์สนใจเรื่องศาสนามากกว่า ทั้งพระมารดาของพระเจ้าธีบอคือ มเหสีแลซา มเหสีอีกพระองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดง เดิมเป็นเจ้าหญิงจากรัฐฉาน จึงมีความเหมาะสมเรื่องชาติตระกูล เพราะเจ้าชายองค์อื่นที่มีสิทธิ์จะได้ขึ้นครองราชย์ล้วนมีพระมารดาเป็นสามัญชนทั้งสิ้น พระนางอเลนันดอจึงทรงเลือกพระเจ้าธีบอขึ้นเป็นกษัตริย์

เพื่อไม่ให้มีใครมาขวางเส้นทาง พระนางอเลนันดอจึงทรงออกอุบายเรียกพระราชโอรสทั้งหมดของพระเจ้ามินดงให้มาเข้าเฝ้าที่แท่นบรรทมของพระเจ้ามินดง ทว่าแผนการของพระนางล้มเหลว พระเจ้ามินดงทรงทราบเรื่อง จึงให้ข้าราชบริพารตามพระองค์ชายทั้งหมดมาเข้าเฝ้า และรับสั่งให้องค์ชายหลายคนออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการในหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงรับสั่งให้เจ้าชายองค์อื่น ๆ เลือกว่าจะอยู่กับผู้สำเร็จราชการคนใดได้อย่างเสรี

แต่พระนางอเลนันดอไม่ยอมแพ้ ทรงหาทางจับกุมคุมขังเจ้าชายหลายพระองค์ รวมทั้งมีพระเสาวนีย์ให้จับชายา เจ้าหญิง บรรดาสนมของเหล่าเจ้าชาย รวมถึงคนที่เข้าข่ายจะคิดคดต่อพระนางไปจองจำ

เมื่อพระเจ้ามินดงเสด็จสวรรคตในวันที่ 28 ตุลาคม ปี 2421 (อ้างอิงจากหนังสือราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน ขณะที่หนังสือราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง ระบุว่าสวรรคตเมื่อ 1 ตุลาคม ปี 2421) พระเจ้าธีบอได้ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อ ทว่าหลังจากขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 วัน ก็ถูกต่อต้านและมีผู้คิดก่อกบฏอยู่มาก เนื่องจากมองว่ากษัตริย์องค์ใหม่ไม่มีคุณสมบัติมากพอจะขึ้นเป็นกษัตริย์ รวมถึงกลุ่มผู้มีอำนาจยังดึงดันจะให้ปล่อยพระโอรสองค์อื่น ๆ ออกมาเพื่อขึ้นครองราชย์แทน

หนังสือของ แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) เรื่อง “Thibaw’s Queen” หรือฉบับแปลภาษาไทย “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” (สำนักพิมพ์มติชน) กล่าวถึงช่วงนั้นไว้ว่า

“มีการคบคิดวางอุบายมากมายนับไม่ถ้วนเพื่อยกเจ้าชายองค์นั้นองค์นี้ขึ้นครองบัลลังก์ และทั้งหมดต่างเห็นพ้องตรงกันว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือกำจัดพระเจ้าธีบอ และทำลายเครือข่ายราชสำนักของพระชนนีและเหล่าเสนาบดีให้สิ้น”

จวบจนเข้าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2422 “เหตุการณ์สังหารหมู่” ก็เกิดขึ้น โดยมีการวางแผนมาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสังหารเหล่าเจ้านายและคนที่ถูกจองจำให้เงียบที่สุด มีการตระเตรียมหลุมไว้เพื่อนำศพมาทิ้ง และจัดงานรื่นเริงทั้งในและนอกพระราชวังขึ้น เพื่อให้เสียงเพลงบรรเลงและเสียงหัวเราะกลบเสียงกรีดร้องของคนที่กำลังจะถูกสังหาร

ในผลงาน “The King in Exile” หรือฉบับแปลภาษาไทย “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” (สำนักพิมพ์มติชน) ของ ซูดา ชาห์ (Sudha Shah) กล่าวไว้ว่า ผู้บงการเรื่องทั้งหมดคือ “พระนางอเลนันดอ” ซึ่งนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับพระนางศุภยาลัต พระราชธิดาของพระนาง เพราะรู้ว่าหากปล่อยให้เจ้าชาย หรือขุนนางโค่นล้มราชบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอได้สำเร็จ พระนางและพระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ต้องอยู่ในอันตราย เนื่องจากทรงสร้างศัตรูไว้มาก

ทว่าในงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่าง “พม่าเสียเมือง” กลับเขียนไว้ว่า “พระนางศุภยาลัต” เป็นคนบงการเรื่องทั้งหมด จนทำให้ผู้อ่านจำนวนมากมีภาพจำเกี่ยวกับพระนางศุภยาลัตว่าเป็นคนโหดเหี้ยม

เหตุการณ์สังหารหมู่ เกิดขึ้นขณะที่เสียงของมหรสพดังไปทั่วทั้งในวังและนอกวัง เจ้านายถูกนำตัวออกมาจากห้องขังทีละคน ๆ เพื่อสังหาร

หนังสือ “พม่าเสียเมือง” บรรยายความทุกข์ทรมานของเหล่าเจ้านายไว้อย่างสยดสยองว่า

“เจ้านายฝ่ายหน้านั้นใช้ท่อนจันทร์ทุบที่พระศอด้านหลังตรงคอ พระมเหสีและเจ้านายฝ่ายในใช้ทุบที่พระศอทางด้านหน้าที่ลูกกระเดือก เจ้าจอมมารดาและคนอื่น ๆ ที่มิใช่เจ้าใช้ดาบหรือใช้ไม้พลองกระบองสั้นตามแต่เพชฌฆาตจะเห็นสนุก การสำเร็จโทษและการประหารชีวิตทำกันไปโดยไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางเสียงครวญครางของผู้ที่กำลังจะตายและเสียงหวีดร้องด้วยความสยดสยองของสตรีที่กำลังรอเวลาที่ตนจะต้องถูกประหาร”

ความโหดร้ายไม่จบอยู่แค่นั้น เพราะหลังจากนำศพไปโยนลงหลุมที่ตระเตรียมไว้แล้ว อีก 4-5 วันต่อมา ศพทั้งหลายก็อืดขึ้นมาเป็นเนิน และเริ่มแตกออกจากกันเป็นร่อง ท้ายสุดต้องนำช้างหลวงหลายเชือกมาเหยียบย่ำศพเหล่านั้นให้แนบสนิทลงไปอย่างเดิม

แม้เหตุการณ์สังหารหมู่จะทำให้ราชบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอมั่นคงขึ้น แต่อำนาจก็ไม่ได้คงอยู่เสมอไป เพราะในเวลาต่อมา “ราชวงศ์คองบอง” ก็ต้องล่มสลาย เนื่องจากการล่าอาณานิคมของอังกฤษ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว., พม่าเสียเมือง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2545.

ซูดา ชาห์. ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง. แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส. กรุงเทพ: มติชน, 2560.

ฟีลดิ้ง-ฮอลล์, แฮโรลด์. ราชินี ศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน. แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ. กรุงเทพ: มติชน, 2560.

The Nation Thailand. “Massacre at Mandalay Palace.” สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 https://www.nationthailand.com/lifestyle/30211816.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2566