นอกจาก “ผู้นำ” แล้ว ยังมีปัจจัยอะไร? ที่ทำให้พม่าต้องเป็น “อาณานิคม” ของอังกฤษ

(จากซ้าย) พระนางศุภยาจี พระนางศุภยาลัต และพระเจ้าธีบอ ของพม่า

พม่า ถูกอังกฤษยึดทั้งประเทศในปี พ.ศ.  2428 มักถูกมองว่าเป็นปัญหาจากตัวบุคคล บุคคลที่ว่าก็คือ พระเจ้าธีบอ ที่ประวัติศาสตร์ประณามว่า ทารุณโหดร้าย ขึ้นครองราชย์ด้วยการแย่งชิงราชสมบัติ, รับสั่งประหารเจ้านายและขุนนางจำนวนมาก เป็นผู้นำที่อ่อนแอยอมอยู่ใต้อำนาจของพระราชินี (พระนางศุภยลัต)

ซึ่ง “ผู้นำ” นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด

เพราะยังมีปัจจัยอื่นประกอบด้วย นั่นคือ ทำเลที่ตั้งของ พม่า ที่เป็น Land Link สู่ประเทศจีน แหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ที่ชาติตะวันตกขณะนั้นต้องการ ยิ่งเมื่อมีคลองสุเอซมาเป็น “ตัวเร่งปฏิกริยา” จึงทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น

ด้วยก่อนหน้านั้น วิทยาการการเดินเรือได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับแล้ว โดยปี 2312 มีการคิดค้น “เครื่องจักรไอน้ำ” ได้แล้ว, ต่อมาในปี 2350 ชาวตะวันตกคิดค้นเรือกลไฟขนาดเล็กใช้เดินในแม่น้ำและเลียบชายฝั่ง, ปี 2361 เรือกลไฟขนาดเล็กก็พัฒนาเป็นเรือกลไฟขนาดใหญ่ข้ามหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งแรก แม้จะเป็นการใช้เครื่องจักรไอน้ำผสมใบเรือก็ตาม,

ถึงปี 2370 การใช้เครื่องจักรทั้งหมดในการเดินทางจึงเกิดขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางอย่างมาก นอกจากนี้ การเปลี่ยนวัสดุในการต่อเรือจาก “ไม้” มาเป็น “เหล็ก” เหล็กวัสดุที่มีแข็งแรงทนทานต่อพายุและคลื่นลม และทำให้เรือสามารถบรรทุกสิ่งของได้มากกว่าเดิม

ภาพเขียนคลองสุเอซ

เมื่อคลองสุเอซ (เชื่อมระหว่างทะเลเมติเตอร์เรเนียน-ทะเลแดง) เปิดใช้ในปี 2412 เส้นทางเดินเรือใหม่ก็เกิดขึ้น จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เข้าคลองสุเอซ ออกทะเลแดง สู่มหาสมุทรอินเดีย ย่อมประหยัด “ต้นทุน”, เวลา, ค่าใช้จ่าย กว่าการแล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกาทั้งแบบเดิม

ขณะที่อังกฤษได้ยึดพม่าตอนล่างไปแล้ว จึงเดินหน้ายึดพม่าตอนบนที่เหลือ นอกจากได้ทรัพยการและแรงงานในพม่าแล้ว ยังได้เส้นทางลัดเข้าสู่ประเทศจีนตอนใต้ ผ่านทางรัฐฉานของพม่าที่มีเขตแดนติดกับมณฑลยูนานของจีน

ฝรั่งเศสเองก็พยายามเข้าสู่ประเทศจีนจากทางตอนใต้ โดยการยึดเวียดนามตอนใต้ และเขมร ก่อนจะขยายไปสู่ตอนบนของประเทศเวียดนาม โดยหวังจะใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางหลัก ถึงกับมีการสำรวจแม่น้ำโขงเป็นการใหญ่เมื่อปี 2409 แต่แม่น้ำโขงในเวลานั้นก็ไม่เหมาะกับการเดินเรือขนาดใหญ่ได้ตลอดสาย

เมื่อเวลาและสถานการณ์เหมาสมทุกอย่างก็ลงเอยด้วยประการละฉะนี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : สิ้นชาติสูญเอกราช “พม่าเสียเมือง” เมื่อทูตพม่าปรับทุกข์กับทูตไทย ณ ปารีส

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เบื้องหลังอันน่าสลด พระศพพระเจ้าธีบอไม่ได้หวนคืนพม่า ทั้งที่สิ้นพระชนม์กว่าร้อยปี


ข้อมูลจาก

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่าขบวนการนักศึกษากับประวัติศาสตร์อันระทึกใจ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศษสตร์และมนุษยศาสตร์, มิถุนายน 2533


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2563