ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระนางศุภยาลัต” เป็นมเหสีเอกของ “พระเจ้าธีบอ” กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงค์คองบองของพม่า พระนางศุภยาลัต มักถูกพูดถึงในแง่ลบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ร้อน หึงหวงพระสวามีอย่างหนัก หรือแม้กระทั่งทำทุกวิถีทางที่พระนางจะขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง
ความโหดร้ายของพระนางศุภยาลัต ปรากฏในบันทึกของ ดอกเตอร์ จอห์นมาร์คส์ ผู้เป็นอนุศาสนาจารย์ให้พระราชโอรสของพระเจ้ามินดง (พระราชบิดาของกษัตริย์ธีบอ) และเด็กชายในกรุงมัณฑเลย์ ซึ่งกล่าวถึงนิสัยของพระนางไว้ว่า “เหี้ยมโหดอำมหิตมาตั้งแต่เด็ก ๆ”
หนังสือบางเล่มยังมีการขยายความไปอีกว่าพระนางศุภยาลัตได้ความร้ายกาจ กระหายในอำนาจมาจากพระนางแหม่นุ ผู้เป็นยาย เพราะพระนางแหม่นุขึ้นชื่อว่าเป็นพระมเหสีที่โหดเหี้ยมมากในรัชสมัยพระเจ้าบ๊ะจีด่อ เช่น คิดกลอุบายเพื่อสังหารเจ้าชายหลายพระองค์ เพื่อยึดบัลลังก์มาเป็นของตนเอง
ยิ่งไปกว่านั้น พระนางศุภยาลัตยังถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ราชวงศ์คองบองล่มสลาย เนื่องจากพระนางเข้าไปแทรกแซงการเมืองแทนพระสวามี เห็นได้จากการรับสั่งให้ทหารพม่ารบกับอังกฤษจนพ่ายแพ้ จนต้องจำนนต่อข้อตกลงมากมายของอังกฤษ
การกระทำข้างต้น ยิ่งทำให้พระราชินีศุภยาลัตกลายเป็น “ตัวร้าย” ในความคิดของใคร ๆ
ทว่าอีกแง่มุมหนึ่ง พระนางศุภยาลัต อาจเป็นราชินีผู้น่าสงสารก็เป็นได้ ดังที่ระบุในหนังสือของ แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) เรื่อง “Thibaw’s Queen” หรือฉบับแปลภาษาไทย “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” (สำนักพิมพ์มติชน) ซึ่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานจากคนวงในและผู้ใกล้ชิดพระนางหลายคน
ตั้งแต่ก่อนที่อังกฤษจะรุดหน้าเข้ามายึดพม่าได้สำเร็จ พระนางมีพระราชเสาวนีย์ให้พม่าทำสงครามกับอังกฤษ เนื่องจากทรงเชื่อว่ากองทัพของพม่าเข้มแข็ง
ผ่านไปไม่นาน ผลกลับออกมาว่าพม่ามีท่าทีจะพ่ายแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ และอังกฤษก็ค่อย ๆ รุกดินแดนเข้ามาทุกที แต่ไม่มีใครกราบทูลให้พระนางศุภยาลัตทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเลย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชบริพารที่พระนางชุบเลี้ยง บรรดาเสนาบดี หรือแม่ทัพทั้งหลาย จนพระนางทรงทราบข่าวทั้งหมดจากเด็กหญิงอายุ 8 ขวบคนหนึ่ง
เมื่อพม่าถึงคราต้องปราชัย หนังสือ “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” ได้กล่าวถึงถ้อยคำสุดท้ายที่พระนางกล่าวลานางกำนัลของพระองค์ไว้ว่า “พวกต่างชาติมาถึงแล้ว ยังพอมีเวลาให้พวกเจ้าหนีไปได้ทัน ข้าบอกแล้วว่าให้พวกเจ้ารีบไป รีบไปเถิดอย่าทำให้ข้าต้องเป็นทุกข์มากไปกว่านี้เลย”
ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า พระนางทรงเป็นห่วงข้าราชบริพาร และไม่ทรงต้องการให้ผู้ใกล้ชิดต้องมาเดือดร้อนกับสถานการณ์เลวร้ายที่จะเกิดขึ้น
หลังจากแฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ ได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากอดีตนางกำนัล ทำให้เขามีมุมมองต่อพระนางศุภยาลัตแตกต่างไปจากชาวต่างชาติคนอื่น ๆ เช่น
“พระราชาและพระราชินีในสถานะเยี่ยงพระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัต ย่อมสร้างศัตรูไว้มากมาย และรายงานว่าด้วยพฤติกรรมทั้งหลายของกษัตริย์และรัฐบาลของพระองค์ที่เราได้รับก็ล้วนแต่มาจากศัตรูเหล่านี้ คนที่เป็นพวกพ้องของราชสำนักและประชาชนมักจะไม่ค่อยสุงสิงกับคนต่างชาติ แต่พวกที่เป็นปฏิปักษ์พร้อมอย่างยิ่งที่จะระบายความทุกข์ระทมของพวกเขาและเล่าเรื่องน่าอัปยศให้พวกเราฟัง ด้วยหวังว่าพวกเราจะเห็นอกเห็นใจและช่วยกันแก้แค้นคนที่ทำร้ายพวกเขา บรรดาเรื่องพวกนี้แหละที่มักจะได้รับความเชื่อถือ”
เขายังระบุด้วยว่า
“ใครที่รู้จักผู้หญิงพม่าคงจะไม่กล่าวหาผู้หญิงที่จิตใจอ่อนละมุนและกิริยานุ่มนวลอย่างที่พวกเรายกย่องให้เกียรติว่าโหดร้ายได้ พระเจ้าธีบอรักพระนางมากและพระนางก็รักพระองค์เช่นเดียวกัน หากพระนางร้ายกาจจริงอย่างที่คนกล่าวหาจะได้รับความรักเยี่ยงนี้หรือ”
ส่วนประเด็นเกี่ยวกับ “การเข้าแทรกแซงการเมืองของพระสวามี” จนท้ายที่สุดราชวงศ์คองบองต้องล่มสลาย หากย้อนดูบริบทสังคมขณะนั้นจะเห็นได้ว่า การล่าอาณานิคมของตะวันตกกำลังแพร่หลายเข้ามาในโลกตะวันออก และ “พม่า” ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เจ้าอาณานิคมต้องการ เนื่องจากเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ อัญมณี รวมทั้งเขตแดนของพม่ายังติดกับอาณานิคมสำคัญของอังกฤษ อย่าง “อินเดีย” ซึ่งอังกฤษกังวลว่า ภายภาคหน้าหากพม่ามีปัญหาการเมืองภายในก็จะกระทบกับการค้าในพื้นที่ติดกัน ทำให้อังกฤษต้องเร่งเข้ายึดพม่าในที่สุด
ดังนั้น พระนางศุภยาลัต มเหสีเอก พระเจ้าธีบอ อาจเรียกได้ว่าเป็น “ตัวร้าย” ในสายตาของหลายคน ทว่าอีกด้านหนึ่งพระนางก็อาจได้ชื่อว่าเป็น “บุคคลน่าสงสาร” ขึ้นอยู่กับว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของพระนางออกมาอย่างไรเท่านั้นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- เมื่อพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายแอบมีสนมลับ กับความพิโรธของราชินีศุภยาลัต
- นางกำนัลพระนางศุภยาลัตเล่า ราชินีพม่าทรงมีรับสั่งจะฆ่าทหาร จากกรณีสุนัขทรงเลี้ยงตาย
- เปิดจดหมายตัดพ้อของพระนางศุภยาลัต ถึงความรักวันวาน ก่อนพระเจ้าธีบอครองบัลลังก์พม่า
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฟีลดิ้ง-ฮอลล์, แฮโรลด์. ราชินี ศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน. แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ. กรุงเทพ: มติชน, 2560.
สุภัตรา ภูมิประภาส. “วันเวลาก่อนสิ้นสลาย : ราชินีสุภยาลัต นางพญากษัตริย์สุดท้ายของพม่า”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566