นางกำนัลพระนางศุภยาลัตเล่า ราชินีพม่าทรงมีรับสั่งจะฆ่าทหาร จากกรณีสุนัขทรงเลี้ยงตาย

ราชินีศุภยาลัต และพระเจ้าธีบอ (ภาพจากหนังสือ Thibaw's Queen)

พระนางศุภยาลัต เป็นราชินีในราชวงศ์พม่ายุคสุดท้าย พระนางขึ้นชื่อเรื่องอำนาจอิทธิพลทั้งในวังและสังคมภายนอก อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักกันดีเรื่องการออกคำสั่งที่เด็ดขาด หากอ้างอิงตามคำบอกเล่าของคนที่อ้างว่าเป็นผู้ใกล้ชิดพระนางแล้วอาจสะท้อนความดุดันที่มาจากอารมณ์เฉพาะหน้า เห็นได้จากเหตุการณ์ที่พระนางสั่งประหารทหารในวังเนื่องจากสุนัขทรงเลี้ยงที่ทรงโปรดมากตายลง

ข้อมูลเกี่ยวกับพระนางศุภยาลัต ที่เปิดเผยผ่านบทสัมภาษณ์ “นางกำนัล” ซึ่งถวายงานรับใช้พระนางนาน 4 ปี ถูกถ่ายทอดผ่านหนังสือ “Thibaw’s Queen” หรือในชื่อฉบับแปลไทยว่า “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” โดย แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) ซึ่งเล่าว่า นางกำนัลรายนี้เข้ามาอยู่ในวังหลังพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์แล้ว 2 ปี ช่วงเวลานั้น “นางกำนัล” (ที่ไม่เปิดเผยชื่อ) อายุ 9 ขวบเท่านั้น และถวายงานรับใช้พระราชินีวัย 21 ชันษา

เหตุการณ์ต่างๆ ที่บอกเล่าผ่านปากคำของ “นางกำนัล” มีเรื่องเบื้องลึกในวังมากมายซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพระนางศุภยาลัต จากเด็กสาวมาสู่ผู้กุมอำนาจแทบเทียบเท่ากษัตริย์ คำสั่งของพระนางไม่มีใครกล้าขัด ยิ่งเมื่อพระนางทรงกริ้วด้วยแล้ว ไม่มีใครกล้าทัดทานและไม่มีใครรู้ว่าพระนางจะกระทำได้ถึงขั้นไหนบ้าง

“นางกำนัล” เล่าข้อมูลส่วนหนึ่งว่า พระนางมีสุนัขทรงเลี้ยงที่โปรดปรานอยู่ตัวหนึ่ง รูปร่างเล็ก ขนนุ่มยาว เป็นมันราวเส้นไหม หูใหญ่ และตาโต แต่ไม่ได้ระบุสายพันธุ์ในเนื้อหา พระนางเสด็จไปไหนก็จะนำสุนัขตัวนี้ไปด้วย จนกระทั่งมันหายไป

วันที่สุนัขทรงเลี้ยงหายไป นางกำนัลเล่าบรรยากาศในวังว่า ทุกคนต่างอลหม่าน ค้นหาหมาตัวน้อยไปทั่วพื้นที่ ขณะที่พระนางทรงเสียพระทัยอย่างมาก และมักตรัสถามว่า “ใครกันนะมาขโมยหมาของข้า”

ทุกคนกราบทูลปลอบว่า ไม่มีใครกล้าขโมย มันอาจพลัดตกน้ำ หรือไปที่อื่นที่ยังหาไม่เจอ

วันรุ่งขึ้น ทหารมาเลื่อนกระจกบานใหญ่บานหนึ่งเนื่องจากพระนางเห็นว่าวางไม่เข้าที่ และต้องย้ายจุดไปไว้ที่อื่น เมื่อขยับกระจกออก ทหารจึงพบเห็นสุนัขตัวน้อยถูกบีบอัดอยู่กับผนังห้อง ทหารคนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนย้ายก็อุ้มร่างสุนัขขึ้นมาแล้วไปเข้าเฝ้าพระราชินีในอุทยานพร้อมกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น

พระราชินีทรงเสียพระทัยอย่างมาก ทรงรับร่างสุนัขมาอุ้มและลูบไล้ร่าง แต่ไม่นานก็ทรงกริ้วกะทันหัน ทรงรับสั่งจะสั่งประหารทหารพวกนั้นให้หมดโทษฐานที่สะเพร่าเลินเล่อระหว่างยกกระจกมาวางตั้งแต่แรก

พระเจ้าอยู่หัวทรงกังวลเมื่อได้ยินรับสั่งพระราชินี นางกำนัลเล่าว่า พระองค์พยายามตรัสเตือนว่า การเอาชีวิตคนเกือบยี่สิบคน เพราะสุนัขตัวเดียวอาจทำให้พระนางต้องเสียใจหลังออกคำสั่ง พระราชินียังทรงกริ้ว ทรงผละกลับเข้าตำหนักเพื่อออกคำสั่งประหารทหาร พระเจ้าธีบอทรงเสด็จตามไปและต้องตรัสปลอบโยนพระนางไปตลอดทาง

นางกำนัลเล่าว่า ช่วงเวลานั้นเหล่านางกำนัลต่างมองหน้ากันด้วยความกลัวและเดินตามไปอย่างหวาดหวั่น หลังจากพระเจ้าธีบอปลอบโยนอีกสักพัก พระราชินีสงบลง และรับสั่งว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงขอไว้ จึงเมตตาเหล่าทหารที่ทำให้สุนัขโปรดของพระนางต้องตาย ทรงรับสั่งให้ทหารระมัดระวังมากขึ้น เรื่องที่น่าตื่นตกใจก็ผ่านไป และทุกคนเสมือนลืมเรื่องที่เกิดขึ้นกันหมด

อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบหลักฐานจากปากคำหรือแหล่งข้อมูลอื่นเพิ่มเติมที่พอสนับสนุนของข้อมูลเบื้องลึกเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ถูกพูดถึงในหนังสือ ขณะที่ข้อมูลเรื่องอื่นที่นางกำนัลบอกเล่ามานั้น บางจุดก็โต้แย้งมุมมองของนักประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งคือ ข้อมูลเกี่ยวกับพระเจ้าธีบอซึ่งภาพที่นักประวัติศาสตร์จำนวนไม่น้อยมองพระองค์คือ ทรงเป็นกษัตริย์นักดื่ม

แต่นางกำนัลผู้นี้เล่าข้อมูลที่ตรงกันข้าม โดยระบุว่า ตอนเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ พระองค์ทรงปิติต่อการได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ค่ำวันหนึ่งพระองค์ถูกพวกมหาดเล็กชักจูงให้เสวยน้ำจัณฑ์และทรงทำเรื่องน่าอับอาย ผู้เขียนหนังสือไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า “เรื่องน่าอับอาย” ที่ว่านี้คือเรื่องอะไร ขณะที่นางกำนัลยืนยันว่านั่นเป็นเพียงครั้งเดียว และทำให้พระองค์ละอายพระทัยไปอีกนานที่ทรงหลงลืมว่ากษัตริย์ควรประพฤติตนเช่นไร

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดจดหมายตัดพ้อของพระนางศุภยาลัต ถึงความรักวันวาน ก่อนพระเจ้าธีบอครองบัลลังก์พม่า

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เมื่อพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่าองค์สุดท้ายแอบมีสนมลับ กับความพิโรธของราชินีศุภยาลัต


อ้างอิง:

ฟีลดิ้ง-ฮอลล์, แฮโรลด์. ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560

CHAMPEON, KENNETH. “The Last Queen of Burma,”. The Irawaddy. 17 December 2016. <https://www.irrawaddy.com/from-the-archive/burmas-queen-supayalat-ruler-feared-revered.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2562