ผู้เขียน | อนุชิต อุ่นจิต |
---|---|
เผยแพร่ |
“อำเภอปากพนัง” มีความสำคัญอย่างไร และเหตุใดจึงถูกเรียกว่าปากพนัง
“อำเภอปากพนัง” เป็นอำเภอหนึ่งของ จ. นครศรีธรรมราช ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีชื่อทางราชการว่า อำเภอเบี้ยซัด คำว่า “เบี้ยซัด” เล่ากันว่า เป็นเพราะบริเวณฝั่งแม่น้ำปากพนังเป็นสถานที่ที่คลื่นมักจะซัดเอาเปลือกหอยหรือเบี้ยหอยขึ้นมากจากทะเลตรงนั้น
เบี้ยหอยเป็นเปลือกหอยที่หลวงนำมาใช้เป็นสกุลเงินในสมั้ยนั้น และที่เบี้ยซัดนี้ทางราชการได้ตั้งกรมการผู้ปกครองท้องที่ขึ้นไว้ดูแล โดยจะเป็นผู้ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเมืองรามธานี ถึงแม้ว่าทางราชการจะตั้งชื่อว่า อำเภอเบี้ยซัด แต่ราษฎรในท้องที่ยังคงเรียกพื้นที่นี้ว่าปากพนัง ก่อนที่ภายหลังจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ปากพนัง
เดิมทีพื้นที่อำเภอปากพนังเป็นทะเล แต่ต่อมาในภายหลังได้ตื้นเขินขึ้นเป็นดินดอนมีแม่น้ำปากพนังไหลผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาและป่าจาก ปากพนังถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งตามลำน้ำปากพนังที่ไหลผ่าน เป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ปากแม่น้ำนั้นมีแหลมจะงอยยื่นออกไปกลางทะเลชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “แหลมตะลุมพุก”
ปากพนังเคยเป็นศูนย์กลางของความเจริญแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าและศูนย์การคมนาคม ปากพนังจึงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและด้านยุทธนาวี คำว่า “ปากพนัง”นั้นอาจมาจากคำว่าปากน้ำพนัง คำว่า “พนัง”นั้นแปลได้ว่า “กำบัง” ดังนั้นคำว่าปากพนังจึงตีความได้สองสาเหตุ
สาเหตุแรก ตีความได้จากการที่เปลือกหอยหรือเบี้ยหอยถูกซัดขึ้นมาจากทะเลและไปติดอยู่ที่พนังดิน ซึ่งมีลักษณะเป็นสันดินยาวที่ตื้นเขินสูงเหนือน้ำทะเลบริเวณปากอ่าวพนัง
สาเหตุที่สอง ตีความได้จากการที่ปากพนังมีความสำคัญทางด้านยุทนาวีของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งการยกกองทัพเรือจากนครศรีธรรมราชไปฝ่ายใต้นั้น สามารถยกกองทัพไปทางแม่น้ำพนังทางหนึ่ง และทางทะเลนอกอีกทางหนึ่ง
กองเรือที่ยกออกมาจากเมืองนครฯ มาสู่ทะเล จะหาที่กำบังคลื่นลมที่ปากพนังนี้ ซึ่งคำว่าพนังที่แปลว่ากำบังจึงเป็นชื่อแม่น้ำ คือแม่น้ำพนังซึ่งไหลผ่านอำเภอเบี้ยซัด และที่บริเวณปากแม่น้ำสายนี้จึงถูกเรียกว่า ปากแม่น้ำพนังหรือปากพนัง ที่เราเรียกกันอยู่ในทุกวันนี้
อ่านเพิ่มเติม :
- นครราชสีมา เมืองพญามหานคร มาจากเมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง ที่สูงเนิน ลำตะคอง
- “ตามพรลิงค์” ชื่อเดิมอาณาจักรนครศรีธรรมราช มาจากภาษาเขมรและไม่ได้แปลว่าฝ่ามือสีแดง
- นครศรีธรรมราช แปลว่าอะไร? มีนัยอย่างไรแฝงอยู่?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 5. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2529.
100 ปี โรงเรียนปากพนัง. กรุงเทพฯ : เลิฟแอนด์ลิพเพรส จำกัด, 2542.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2562