ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
“นครราชสีมา” เมืองพญามหานคร มาจาก “เมืองราด” ของพ่อขุนผาเมือง ที่สูงเนิน ลำตะคอง
เมืองนครราชสีมา หรือเป็นที่รับรู้ในชื่อ “โคราช” วิถีของชาวโคราชโดยทั่วไปไกลจากวัฒนธรรมที่ราบสูง ได้แก่ กินข้าวเจ้า (ไม่ข้าวเหนียว), คลุกปลาร้า (ไม่ปลาแดก), นุ่งโจงกระเบน (ไม่นุ่งซิ่น), เล่นเพลงโคราช (ไม่หมอลำ), พูดสำเนียงโคราช (ไม่ปากลาว) เป็นต้น
เหตุน่าจะสืบเนื่องจาก “นครราชสีมา” มีต้นตอรากเหง้าจาก “เมืองราด” ของพ่อขุนผาเมือง และมีความเป็นมาทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองเกี่ยวดองเป็นเครือญาติใกล้ชิดรัฐพูดภาษาไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ รัฐอยุธยา, รัฐสุโขทัย, รัฐสุพรรณภูมิ ฯลฯ
คนโคราชที่นครราชสีมามีบรรพชนเป็นคนหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งจากที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม ซึ่งปะปนผสมกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมสืบเนื่องยาวนานหลายพันปีมาแล้ว ต่างกระจายอยู่ตามหุบเขาและทุ่งราบบริเวณต้นแม่น้ำมูลกับลำน้ำสาขา (ได้แก่ ลำเชียงไกร, ลำตะคอง) โดยมีพื้นที่หลักอยู่ลำตะคอง อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา อันเป็นที่ตั้งเมืองเสมา ซึ่งเป็นต้นตอหรือรากเหง้าเมืองนครราชสีมา มีพัฒนาการหรือความเป็นมาอย่างสรุปเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
[1.] หมู่บ้าน 3,000 ปีมาแล้ว
สูงเนินมีคนหลายเผ่าพันธุ์ อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน 3,000 ปีมาแล้ว นับถือศาสนาผี มีหินตั้ง ทําการเกษตรแบบดั้งเดิม มีประสบการณ์ถลุงเหล็กทําเครื่องมือเครื่องใช้
คนหลายเผ่าพันธุ์เหล่านี้ไม่มีหลักฐานว่าพูดภาษาอะไรบ้าง? แต่ทั้งหมดล้วนเป็นบรรพชนกลุ่มหนึ่งของคนไทยทุกวันนี้ และเป็นบรรพชนคนสูงเนินกลุ่มดั้งเดิม
หินตั้ง คือหินธรรมชาติทั้งก้อนหรือทั้งแท่ง ใช้ปักดินเป็นเครื่องหมายบอกเขตเฮี้ยนหรือขลังในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว ครั้นหลังศาสนาพุทธแผ่เข้ามาได้ปรับปรุงหินตั้งเป็นสีมาปักรอบโบสถ์และอาคารอื่นๆ ทางพุทธศาสนา แล้วเรียกภายหลังว่าเสมาหิน ชาวฝรั่งเศสเคยเดินทางสํารวจสมัย ร.5 พบหินตั้งจำนวนมากที่บ้านหินตั้ง อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา
[2.] บ้านเมือง ราว 1,500 ปีมาแล้ว
ชุมชนหมู่บ้านที่มีอยู่ก่อนเหล่านั้น เติบโตเป็นบ้านเมืองราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือ หลัง พ.ศ. 1000 เริ่มรับศาสนาพุทธ, พราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียซึ่งเข้าไทยทางภาคกลาง ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน (กาญจนบุรี-สุพรรณบุรี) ผ่านเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) เข้าลำตะคอง สูงเนิน แล้วขุดคูน้ำคันดินสืบจนทุกวันนี้เรียกเมืองเสมา (เมืองศรีเทพกับเมืองเสมาเป็นเมืองคู่กันเหมือน “บ้านพี่เมืองน้อง”)
ศิลาจารึกพบชื่อ “ศรีจนาศะ” และ “จนาศะปุระ” น่าจะเป็นชื่อเมืองทางการของเมืองเสมา (และอาจรวมเป็นเครือข่ายหรือเครือญาติถึงเมืองศรีเทพที่เพชรบูรณ์)
พระนอนอยู่นอกคูน้ำคันดินและธรรมจักร ลักษณะเดียวกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติหรือเครือข่ายทางวัฒนธรรม [พระนอน หมายถึง พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน, ธรรมจักร หมายถึง กงล้อพระธรรมหมุนแผ่ไป แสดงความเป็นจักรพรรดิราชของกษัตริย์เมืองนั้น]
ช่วงเดียวกันนี้บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเสมา ขณะนั้นมีเมืองพิมายเติบโตขึ้นพร้อมกัน แต่ต่างกันที่เมืองพิมายนับถือศาสนาพุธคติมหายาน
[3] เครือข่ายกัมพูชา ราว 1,000 ปีมาแล้ว
พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ขยายอํานาจสู่ลุ่มน้ำมูล แล้วสร้างเครือข่าย “วัฒนธรรมขอม” เข้าถึงลำตะคอง ราว 1,000 ปีมาแล้ว ระหว่าง พ.ศ. 1400-1500 สถาปนาเทวสถานในศาสนาพราหมณ์ ปะปนกับวัดในศาสนาพุทธเป็นปราสาทบ่ออีกา, ปราสาทเมืองแขก, ปราสาทโนนกู่
[4] ชัยวรมันที่ 7 ควบคุมย่านลำตะคอง ราว 800 ปีมาแล้ว
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือศาสนาพุทธคติมหายาน แล้วแผ่บารมีถึงลุ่มน้ำมูลกับบริเวณลำตะคอง ราว 800 ปีมาแล้ว หรือ หลัง พ.ศ. 1700 จากนั้นสร้าง “อโรคยศาล” (หมายถึงศาลาไร้โรค) แต่ทุกวันนี้เรียกปราสาทเมืองเก่า
[5.] เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง ราว 700 ปีมาแล้ว
เมืองเสมาที่สูงเนิน เป็นที่ตั้งเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง (สมัยต้นประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย) ราว 700 ปีมาแล้ว หรือ หลัง พ.ศ. 1800
พ่อขุนผาเมือง (เป็นโอรสผู้ก่อตั้งกรุงสุโขทัย) ได้ยกพลจากเมืองราดขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง (เจ้านายเชื้อสายเมืองละโว้) พ้นจากกรุงสุโขทัย ต่อมาพ่อขุนผาเมืองยกเมืองสุโขทัยให้สหาย (คือพ่อขุนบางกลางหาว) พร้อมนาม “ศรีอินทราทิตย์” ที่ได้จากกษัตริย์นครธมในกัมพูชา ส่วน “พระขรรค์ชัยศรี” ของกษัตริย์กัมพูชามอบให้พ่อขุนผาเมือง หลังจากนั้นได้รับยกย่องเป็นแบบแผนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกษัตริย์อยุธยา พบร่องรอยหลายอย่างแสดงว่าเจ้านายรัฐสุโขทัยไปมาหาสู่ใกล้ชิดบ้านเมืองต้นลุ่มน้ำมูล
ช่วงเวลานี้อำนาจของภาษาไทย (ตระกูลไท-ไตจากตอนใต้ของจีนที่ยกย่องเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายใน) ได้รับการยอมรับมากขึ้นจากบ้านเมืองทางฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คู่ขนานกับภาษาเขมรซึ่งหนาแน่นทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มน้ำมูล) รวมทั้งที่เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง แล้วทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
[หลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมีมากอย่างยิ่งเกี่ยวกับเมืองเสมา, เมืองราด ผมเคยบอกกล่าวไว้หลายหนและหลายแห่งในมติชน ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ระหว่าง พ.ศ. 2561-2562 แล้วเผยแพร่ทางมติชนทีวี รายการทอดน่องท่องเที่ยว พ.ศ. 2562]
[6.] กรุงศรีอยุธยา ควบคุมลุ่มน้ำมูล ราว 600 ปีมาแล้ว
กรุงศรีอยุธยาขยายอํานาจควบคุมลำตะคองและลุ่มน้ำมูล ราว 600 ปีมาแล้ว หรือ หลัง พ.ศ. 1900 มีอำนาจเหนือเมืองพิมาย, เมืองพนมรุ้ง รวมทั้งบริเวณสูงเนิน ลำตะคอง
[7] เมืองนครราชสีมา เริ่มแรกอยู่สูงเนิน ราว 500 ปีมาแล้ว
เมืองนครราชสีมาอยู่เมืองเสมา สูงเนิน พบชื่อครั้งแรกในกฎมณเฑียรบาล ราว 500 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2011 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยา เป็น “เมืองพญามหานคร” ได้ถือน้ำพระพัท (น้ำสาบาน) มีศักดิ์ศรีความเป็นมาเก่าแก่ และมีเจ้านายสืบวงศ์ไม่ขาดสายเป็นที่รับรู้ทั่วกัน
นครราชสีมา หมายถึง เมืองอันเป็นพระราชอาณาเขต (ของกรุงศรีอยุธยา) มาจากคำบาลี-สันสกฤต นคร แปลว่า เมือง, ราช แปลว่า พระราชา, สีมา แปลว่า เขต หรือแดน
โคราชกลายคำจาก “ครราช” ชื่อย่อของนครราชสีมา มีเหตุจากภาษาปากชาวบ้านสมัยแรกๆ เรียกเมืองนครราชสีมาอย่างย่อว่า “ครราช” (คอน-ราด) ครั้นนานไปก็กลายคำเป็น โคราช
กรุงศรีอยุธยาสถาปนาเมืองนครราชสีมา (ที่สูงเนิน) เป็นเมืองพญามหานครได้เข้าพิธีถือน้ำ เท่ากับเจ้านายและประชาชนพลเมืองไพร่บ้านของเมืองนครราชสีมา (ที่สูงเนิน) พูดภาษาไทยอย่างเดียวกับสำเนียงหลวงอยุธยา และมีประเพณีเล่นเพลงโต้ตอบอย่างเดียวกับอยุธยา ได้แก่ เพลงปรบไก่, เพลงฉ่อย และเพลงเข้าทรง ได้แก่ เพลงแม่ศรี เป็นต้น
[8.] สร้างใหม่เมืองนครราชสีมา ราว 400 ปีมาแล้ว
รัฐอยุธยาสร้างใหม่เมืองนครราชสีมา (บริเวณที่เป็นเมืองนครราชสีมาปัจจุบัน) ราว 400 ปีมาแล้ว หรือ หลัง พ.ศ. 2100 ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเส้นทางคมนาคมการค้าและการเมือง
ไพร่บ้านพลเมืองจากเมืองเก่าสูงเนินที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานสร้างเมืองใหม่ก็กลายเป็น ประชากรเมืองนครราชสีมาแห่งใหม่ แล้วมีทยอยอพยพโยกย้ายตามไปอีกนับไม่ถ้วน
บริเวณสูงเนินถูกเรียกว่า “เมืองเสมา” (มาจากคําว่า “สีมา”) บางทีก็เรียก “เมืองโคราชเก่า” (มาจากคำว่า “นครราช” กร่อนเหลือ “ครราช” ออกเสียง “คอนราด” แล้ว กลายเป็น “โคราช”)
สินค้า “ของป่า” จากโคราชไปขายที่อยุธยา
สมัยอยุธยา คนในพระนครศรีอยุธยาเรียกเมืองนครราชสีมาอย่างคุ้นเคยว่า “โคราช” พบเป็นลายลักษณ์อักษรในเอกสารจากหอหลวง (คำให้การขุนหลวงหาวัด)
สินค้าจากโคราชมีขายในพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ น้ำรัก, ขี้ผึ้งปากนก, ผ้าตะราง, ผ้าสายบัวสี่คืบหน้าเก็บทอง, ผ้าตาบัวปอกเตล็ดงา, หนังเนื้อ, เอ็นเนื้อ, เนื้อแผ่น, ครั่ง, ไหม, กำยาน, ดีบุก, หน่อ, งา ของป่าต่างๆ
เกวียนโคราชบรรทุกสินค้าของป่าต่างๆ ตามเส้นทางดั้งเดิม ผ่านโคราชเก่า (อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา) แล้วลาดลงจากที่ราบสูงไปทางเหวตาบัว ดงพญากลาง (ลำสนธิ) เขาพังเหย (อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา ต่อเขต อ. ลำสนธิ-อ. ชัยบาดาล จ. ลพบุรี) จากนั้นเป็นที่ราบลุ่มมุ่งข้ามแม่น้ำป่าสักไปอยุธยา
ช่วงเวลาเกวียนขนสินค้าจากโคราชลงไปอยุธยาอยู่ในหน้าแล้งน้ำแห้งเกือบหมดหรือหมดทุกแม่น้ำตรงที่เกวียนจะข้าม ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม (ทางจันทรคติเรียกเดือนสาม เดือนสี่)
เกวียนโคราช ในภาษาชาวบ้านทั่วไปเรียก “เกวียนกระแทะ” (กลายคำจากภาษาเขมรว่าระแทะ หรือรันแทะ) เป็นเกวียนขนาดเล็ก มีหลังคามุงด้วยใบไม้ใหญ่ เทียมด้วยวัวคู่หนึ่ง (2 ตัว) เคลื่อนที่สะดวกบริเวณที่ราบสูงดินปนทราย พบบ่อยๆ ในภาพสลักตามปราสาทหิน เช่น ปราสาทนครวัด, ปราสาทบายน ในกัมพูชา
สำเนียงโคราช
สำเนียงโคราชมีรากเหง้าเค้าต้นจากสำเนียงหลวงอยุธยา น่าจะมาจากสำเนียงพูดของกลุ่มคนลุ่มน้ำโขงในตระกูลภาษาไท-ไต แล้วปะปนสำเนียงภาษาเขมร เช่นเดียวกับสำเนียงระยองและจันทบุรี
เพลงโคราช
เพลงโคราช เป็นเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิง-ชาย ด้วยฉันทลักษณ์กลอนหัวเดียวที่โครงสร้างอย่างเดียวกันกับเพลงโต้ตอบของภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เพลงปรบไก่, เพลงพาดควาย, เพลงฉ่อย เป็นต้น
เพลงเหล่านี้ล้วนมีต้นตอรากเหง้าจากพิธีกรรมเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพรรณว่านยาข้าวปลาอาหารของชุมชนหลายพันปีมาแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- คนโคราช ไม่ใช่ “ลาว” แล้วคนโคราชเป็นใคร? มาจากไหน?
- “สำเนียงหลวงอยุธยา” มาจาก “สำเนียงเหน่อสุพรรณบุรี” รากเหง้าสำเนียงโคราช?
- ที่มา “นามสกุล” ชาว “โคราช” หลักฐานสำคัญบ่งชี้ภูมิประเทศถิ่นกำเนิด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลใหม่
คนโคราช เมืองนครราชสีมา พบข้อมูลใหม่หลายอย่างมากกว่าแต่ก่อน (อยู่ในข้อเขียนเรื่องนี้) ทำให้ข้อเขียนเก่าบางประเด็นพ้นสมัย ไม่ “อัพเดท” ในหนังสือที่ผมเขียนมานานแล้ว 2 เล่ม ได้แก่ “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน? (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549) และ โคราชของเรา (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2558)
ขอความกรุณา ถ้าพบข้อผิดพลาดช่วยแก้ไขตามข้อมูลพบใหม่ตามข้อเขียนเรื่องนี้
สุจิตต์ วงษ์เทศ (กรกฎาคม 2563)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กรกฎาคม 2563