วาตภัย “แหลมตะลุมพุก” กับความทรงจำผ่านเรื่องสั้น

แหลมตะลุมพุก (ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 9 . จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542)

เข้าสู่เดือนแรกของปี 2562 ประเทศไทยต้องเผชิญกับพายุโซนร้อน “ปาปึก” ที่เข้ามาทักทายและส่งผลกระทบต่อจังหวัดทางภาคใต้ของไทยในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ต้องรับมือกับพายุปาปึกในวันที่ 4 มกราคม ซึ่งอดีตก็เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก และยังคงอยู่ในความทรงจำของชาวนครศรีธรรมราช เช่นเดียวเรื่องสั้นที่มีการบันทึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้

“แหลมตะลุมพุก” คือเรื่องสั้นจากปลายปากกาของ มนัส สัตยารักษ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรวมเรื่องสั้น “หนุ่มเหน้าสาวสวย” เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งเป็นเรื่องราวของเหตุการณ์วาตภัยทางภาคใต้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 ที่แหลมตะลุมพุก ที่ถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในขณะที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องไปตรวจสภาพพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ และเห็นสภาพความเสียหายของบ้านเรือนและศพของผู้คนในพื่นที่ที่ได้รับผลกระทบจากหายนะในครั้งนั้น

แหลมตะลุมพุก หลังพายุแฮร์เรียตผ่านไป (ภาพโดย ตรึก พฤกษะศรี)

มนัส สัตยารักษ์ ได้บรรยายถึงเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียดในหลายตอน อย่างเช่นในช่วงที่เกิดพายุว่า

“คนที่อยู่ปลายแหลมขึ้นมาหน่อยจะได้ยินเสียงโครมสนั่นหวั่นไหวทามกลางเสียงพายุครวญคราง น้ำค่อยๆ เอ่อขึ้นมาโดยไม่มีใครรู้ เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนที่มืดสนิทและไม่มีแสงไฟอื่นใด บ้านในละแวกนี้มั่นคงแข็งแรงกว่าพวกกระท่อมของพวกที่อยู่ปลายแหลม เพราะเขาเป็นคนพื้นที่นั้นไม่ใช่พวกประมงที่มาอยู่กันชั่วหน้าหาปลา แต่กระนั้นพายุก็กระทบบ้านของเขาเหมือนถูกยักษ์จับเขย่า”

นอกจากจะบรรยายช่วงที่เกิดพายุแล้ว บางตอนก็เขียนให้เห็นภาพบรรยากาศในเขตอำเภอปากพนัง ซึ่งอยู่ห่างจากแหลมตะลุมพุกไม่น้อยว่า

“กลางดึกของคืนนั้น ในอำเภอของเราซึ่งอยู่ห่างจากแหลมตะลุมพุกลงมาทางใต้ก็ถูกหางพายุลูกเดียวกันนี้พัดเฉียดมาด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นเพราะบ้านเขย่าไหวยวบขณะกระเบื้องหลังคาปลิวหายไปหลายแถบ ฝนกระหน่ำเข้ามาทางรูโหว่ ทางช่องลมและกระทั่งทางร่องไม้กระดานฝาบ้านมองออกไปภายนอกเห็นสีดำของกลางคืน ภายในก็มืดเช่นกันเพราะไม่มีไฟฟ้าหลังห้าทุ่ม”

เรื่องสั้น “แหลมตะลุมพุก” ของ มนัส สัตยารักษ์ นับว่าเป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นภาพความหายนะที่เกิดขึ้นมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างชัดเจน การให้รายละเอียด รวมถึงกลวิธีการเล่าเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายและสะเทือนใจเสมือนอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังเป็นการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สร้างผลกระทบต่อชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อ 50 ปีก่อน


ข้อมูลจาก

สถาพร ศรีสัจจัง. “แหลมตะลุมพุก : เรื่องสั้น”. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 14. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2565