ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้เป็นยุคข้าวยากหมากแพง แต่ก็ยังพอมีของกินอร่อยๆ ช่วยให้ชีวิตไม่ห่อเหี่ยวจนเกินไปนัก อย่าง “ขนมเค้กท่านหญิงเป้า” ฝีมือของหม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล หรือ “ท่านหญิงเป้า” ที่เมื่อหลายคนได้ชิมแล้วต่างติดอกติดใจในรสชาติ
เชื้อพระวงศ์สตรีผู้แต่งงานกับสามัญชน
หม่อมเจ้าเราหินาวดี ดิศกุล (พ.ศ. 2455-2527) ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมแสง ศตะรัตน์ (บ้างสะกด ศตะรัต) เมื่อแรกประสูติ แก้มของหม่อมเจ้าเราหินาวดีดูพองๆ และปากห่อ เจ้าพี่องค์หนึ่งจึงทรงเรียกเล่นๆ ว่า “ปลาปักเป้า” เป็นที่มาของพระนามลำลองว่า “ท่านหญิงเป้า”

เมื่อท่านหญิงเป้าทรงเจริญวัยได้ไม่กี่ปี หม่อมแสงก็สิ้น จึงทรงอยู่ในความดูแลของ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล หรือ “ท่านหญิงจง” พระธิดาในกรมดำรงกับหม่อมนวม
ท่านเริ่มเรียนหนังสือที่วังบางขุนพรหม เนื่องด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงมีพระเมตตาให้ความอุปถัมภ์ จากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยและโรงเรียนมาแตร์เดอี
ท่านหญิงเป้าทรงเคยเป็นเลขานุการให้พระบิดา 3 ปี ขณะทรงลี้ภัยทางการเมืองที่ปีนัง ต่อมาทรงกลับประเทศไทย และได้ฝึกปรือทักษะการปรุงอาหารจาก หม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล รวมถึงท่านหญิงจง
ต่อมา ท่านทรงมีความรักกับสามัญชน คือ หม่อมหลวงฉายชื่น กำภู ซึ่งกรมดำรงก็ทรงยินยอมให้พระธิดาแต่งงาน ตามที่ทรงมีพระดำริว่า
“ฉันไม่บังคับลูกให้แต่งงานกับใคร เพราะเห็นว่าการแต่งงานเป็นมูลซึ่งจะนำความสุขทุกข์ดีชั่วให้แก่ตัวเขาทั้ง 2 ไปตลอดชีวิต ตัวเขาควรเป็นผู้รับผิดชอบเองในการเลือกคู่ พ่อแม่ควรแต่แนะนำตักเตือน… เพราะฉะนั้นเมื่อมีผู้มาสู่ขอลูกสาวฉัน ฉันถามลูกสาวก่อนเสมอ ว่าสมัครจะแต่งงานกับชายคนนั้นหรือไม่ ตอบสมัครจึงให้แต่งงาน…
ในเรื่องเจ้าหญิงแต่งงานกับชายต่ำศักดิ์กว่าเจ้า แม้ตามประเพณีโบราณห้ามกวดขันถึงรัชกาลที่ 7 ก็โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แต่งได้แล้ว เป็นแต่ให้เจ้าหญิงผู้แต่งงานเวนคืนยศเจ้า มีตัวอย่างมาแล้วหลายราย ข้อนี้ถ้าหญิงเป้าเวนคืนยศเจ้า ฉันก็ไม่ขัดขวาง”

ขนมเค้กท่านหญิงเป้า
เมื่อท่านหญิงเป้าทรงแต่งงานสร้างครอบครัวกับหม่อมหลวงฉายชื่น ก็ทรงนำทักษะการปรุงอาหารโดยเฉพาะขนมหวานมาประกอบอาชีพ ด้วยการทำขนมเค้กขายให้ห้องน้ำชาบริษัทไทยนิยม ขนมที่ผู้คนนิยม คือ ขนมเค้กสำหรับวันเกิดและขนมงานเลี้ยงน้ำชา เป็นที่รู้จักในชื่อ “ขนมเค้กท่านหญิงเป้า”
ขนมของท่านหญิงเป้าเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ได้กิน เกิดการบอกกันปากต่อปากเป็นที่เลื่องลือในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้วัตถุดิบหลายอย่างจะหายาก แต่ท่านหญิงเป้าก็ทรงดัดแปลงและพลิกแพลงวัตถุดิบให้ออกมาเป็นขนมแสนอร่อย ขายดีถึงขั้นที่ทรงออกปากว่า “จนแทบจะทำไม่ไหว” เลยทีเดียว
ความที่การทำขนมเป็นงานที่เหนื่อยและหนัก จึงมีผู้แสดงความเป็นห่วงอยากให้ท่านหญิงเป้าทรงหยุดทำงานหรือขายขนม แต่ท่านก็ยังคงทำขนมต่อไป ด้วยเหตุผลว่า พอเห็นลูกสองคนได้นอนหลับสบายแล้วก็รู้สึกว่ายังหยุดทำไม่ได้ เลยต้องทำต่อไป

กล่าวได้ว่าพระธิดาในกรมดำรงหลายพระองค์ทรงมีความสามารถด้านอาหารก็ไม่เกินจริงไปนัก อย่างท่านหญิงจงทรงมีฝีมือปรุงอาหาร เช่น “กะปิพล่า” ที่เมื่อรัชกาลที่ 5 เสวยแล้วทรงพอพระราชหฤทัยมาก ถึงกับทรงมีพระราชหัตถเลขามาทรงชม ส่วนท่านหญิงเป้าทรงมีฝีมือการทำขนมเค้ก
รวมถึง หม่อมเจ้ากุมารีเฉลีมลักษณ์ ดิศกุล พระธิดาในกรมดำรงกับหม่อมเจิม ที่เมื่อทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ ก็ทรงทำขนมขาย และรับขนมเค้กท่านหญิงเป้าไปขายด้วยเช่นกัน
หม่อมราชวงศ์กัลยา ติงศภัทิย์ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธิดาในหม่อมเจ้ากุมารีเฉลีมลักษณ์ เล่าถึงกิจการของพระมารดาว่า
“ท่านสร้างโรงทำขนมขึ้นข้างๆ ศาลาน้ำ มีข้าหลวงมหาดเล็กที่จ้างมาเพื่อทำขนมหลายคน กลุ่มหนึ่งจะตื่นเช้าประมาณตี 4 ทำกะหรี่ปั๊บ รังนก กรอบเค็ม ทอฟฟี่นม เป็นต้น บนตำหนักไทยก็จะมีส่วนที่ต่อออกไปเป็นห้องตั้งตู้เย็นหลายตู้ไว้ทำหวานเย็น ทำหวานเย็นรสต่างๆ และใส่กระติกไปขาย ท่านแม่ทำขนมปังไส้ไก่ขายด้วย ทำกันบนตำหนักไทย นอกจากขนมท่านแม่ยังขายก๋วยเตี๋ยว ขายทอฟฟี่ต่างๆ วางเรียงรายกันเต็มโต๊ะใหญ่ และยังรับขนมเค้กท่านป้าเป้าไปขายด้วย ท่านป้าเป้าทำขนมเค้กเก่งมาก”
ขนมเค้กท่านหญิงเป้า จึงไม่ได้เป็นเพียงของอร่อยแห่งยุคสมัย แต่ในแง่หนึ่งยังเป็นหลักฐานการปรับตัวของเชื้อพระวงศ์สตรีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่นำทักษะความรู้มาสร้างอาชีพและรายได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุรุษเสมอไป
อ่านเพิ่มเติม :
- อาหารชาววัง ไม่ได้เน้นรสหวาน! อาหารชาววังแท้จริงเป็นอย่างไร?
- เปิดที่มา “อาหารชาววัง” 4 วังขึ้นชื่อ มีวังอะไรบ้าง?
- เปิดบันทึกความรักของ “เจ้านายสตรี” ที่ลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรสกับสามัญชน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับสร้าง(รส)ชาติ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.
เสมียนอารีย์. “เจ้านายสตรีไทยทำมาค้าขายอะไรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2568