เปิด 5 โหงวเฮ้งเจิ้งเหอ ที่จักรพรรดิหย่งเล่อทรงวางใจให้เป็นแม่ทัพกองเรือมหาสมบัติ

เรือมหาสมบัติ เป่าฉวน จักรพรรดิหย่งเล่อ โหงวเฮ้งเจิ้งเหอ
เรือมหาสมบัติ "เป่าฉวน" (จำลอง) ของแม่ทัพเจิ้งเหอ น่าเชื่อว่ายกมาจอดทอดสมออยู่อ่าวไทยเพื่อสนับสนุนเจ้านายสยามรัฐสุพรรณภูมิยึดอยุธยาจากขอมละโว้ (แบบจำลองตามสัดส่วนที่บันทึกโดยหลอเหมาเติ้ง สมัยราชวงศ์หมิง ในหนังสือชื่อบันทึกการท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงไทเป ไต้หวัน)

เจิ้งเหอ เป็นแม่ทัพขันทีผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน เพราะนำ “กองเรือมหาสมบัติ” ของจักรพรรดิหย่งเล่อออกสำรวจมหาสมุทรและท่องผืนดินกว่า 30 ดินแดน ในระยะเวลา 28 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1405-1433 ซึ่งเหตุผลที่จักรพรรดิหย่งเล่อทรงไว้วางพระราชหฤทัยในตัวแม่ทัพผู้นี้ ไม่ได้มีเฉพาะผลงานเก่งฉกาจ ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์เท่านั้น แต่ยังมีเรื่อง “โหงวเฮ้ง” หรือ “นรลักษณ์” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วโหงวเฮ้งเจิ้งเหอเป็นอย่างไร?

จักรพรรดิหย่งเล่อ โหงวเฮ้งเจิ้งเหอ
จักรพรรดิหย่งเล่อ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เปิด “โหงวเฮ้งเจิ้งเหอ” แม่ทัพผู้เกรียงไกรในประวัติศาสตร์จีน

ปริวัฒน์ จันทร เล่าไว้ในผลงาน เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

เมื่อ จักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง (ครองราชย์ ค.ศ. 1402-1424) ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตั้ง “กองเรือมหาสมบัติ” ก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้ เจิ้งเหอ แม่ทัพคนสนิทของพระองค์เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองเรือออกเดินทางสู่น่านน้ำตะวันตก

เวลานั้นเจิ้งเหอมีอายุราว 35 ปี มีผิวหน้าที่กร้านดุจผิวส้มบ่งชี้ถึงประสบการณ์ในชีวิตที่ได้ผ่านความอดทนและอุตสาหะมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในการควบคุมการก่อสร้างกองเรือมานานกว่า 2 ปี และเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับจักรพรรดิหย่งเล่อ ครั้งดำรงตำแหน่งเอี้ยนหวางแห่งเมืองเป่ยผิง

แผนที่ ยุคเจิ้งเหอ กองเรือเจิ้งเหอ โหงวเฮ้งเจิ้งเหอ
แผนที่ในความครอบครองของนักสะสมชาวจีน ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นในยุคของ “เจิ้งเหอ”

“ขณะเดียวกัน เมื่อพินิจบนหน้าผากระหว่างคิ้วบนใบหน้าก็มีความกว้าง บ่งบอกถึงความกระตือรือร้นอย่างเต็มเปี่ยมพร้อมที่จะรับใช้ภารกิจอันยิ่งใหญ่จากจักรพรรดิ ส่วนบนหางคิ้วนั้นเล่า ก็มีความแหลมคมดุจกระบี่ แลความกว้างของหน้าผากดุจพยัคฆ์อันฮึกหาญ อีกทั้งยังมีริมฝีปากที่กว้างและบางเฉียบ แสดงถึงการมีวาจาอันคารมคมคาย และสายตาก็เป็นประกายแวววาว แสดงให้เห็นถึงปฏิภาณอันแคล่วคล่องและฉับไว นรลักษณ์ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงสมรรถภาพและความเข้มแข็งในการบังคับบัญชาของเจิ้งเหอได้เป็นอย่างดี” ปริวัฒน์ เล่าในหนังสือ แล้วบอกอีกว่า

จักรพรรดิหย่งเล่อทรงมีความเชื่อถือและศรัทธาในตำรานรลักษณ์ศาสตร์นี้เป็นอย่างยิ่ง กอปรกับเมื่อทรงปรึกษากับเหล่าโหราจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการพินิจนรลักษณ์แล้ว ก็ได้คำตอบว่า “รูปร่างลักษณะแลสติปัญญาประสบการณ์ของเจิ้งเหอนั้น บรรดาขุนนางในราชสำนักมิมีผู้ใดเทียมเทียบได้”

นอกจากฝีมือและโหงวเฮ้งแล้ว เหตุผลสำคัญอีกอย่างที่ทรงเลือกแม่ทัพผู้นี้เพราะดินแดนที่ต้องเดินทางไปนั้นเป็นดินแดนที่ผู้คนนับถือทั้งศาสนาพุทธและอิสลาม ซึ่งเจิ้งเหอเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เนื่องจากนับถือทั้ง 2 ศาสนานั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปริวัฒน์ จันทร. เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. กรุงเทพฯ : มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 4, 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2568