ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
ในสมัย จักรพรรดิหย่งเล่อ (Yongle, ค.ศ. 1402-1424) แห่งราชวงศ์หมิง เป็นช่วงเวลาที่จีนเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศขนานใหญ่ จากเป็นมหาอำนาจทางบกมาหลายศตวรรษ อยู่ ๆ ก็มุ่งสู่การเป็นมหาอำนาจทางทะเลแบบเต็มตัว
ราชสำนักหมิงส่งเสริมการสร้างเรือเดินสมุทรขนาดมหึมาร่วมร้อยลำ รวมถึงเรือรบและเรือขนาดต่าง ๆ อีกหลายพันลำ จากนั้นส่งมหานาวีภายใต้การนำของขันทีมุสลิมนาม “เจิ้งเหอ” ไปแผ่อานุภาพในน่านน้ำทั่วโลก
อะไรคือที่มาของการสร้างนาวิกานุภาพครั้งมโหฬารนี้? ทั้งที่ตลอดหลายพันปีในประวัติศาสตร์ จีนปิดประเทศมาโดยตลอด

เรื่องนี้ ผศ. ดร. สืบแสง พรหมบุญ เล่าไว้ในหนังสือ เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์ (มติชน : 2549) ระบุว่า เบื้องหลังนโยบายกองเรือมหาสมบัติของจีนโคจรรอบตัวหย่งเล่อ ผู้ดำริสร้างนโยบายดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 4 สาเหตุ ได้แก่
1. ส่งเสริมการค้าทางทะเล
จักรพรรดิหย่งเล่อไม่เห็นด้วยกับพระราโชบายของพระราชบิดา คือ จักรพรรดิหงอู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง เรื่องการห้ามติดต่อค้าขายหรือเดินทางทางทะเล พระองค์ต้องการควบคุมการค้าภายใต้ระบบบรรณาการ (จิ้มก้อง) และการค้าผูกขาดโดยรัฐ
การคุมเข้มเรื่องการค้าในสมัยอดีตจักรพรรดิ ยังบีบให้พ่อค้าชาวจีนบริเวณชายฝั่งที่ร่ำรวยจากการค้าต้องอพยพครอบครัวและทรัพย์สินไปตั้งรกรากในต่างแดน ซึ่งเป็นผลเสียต่อจีนเอง การที่หย่งเล่อมอบชื่อให้กลุ่มเรือธงของเจิ้งเหอว่า “เป่าฉวน” (Bao Chuan) ซึ่งแปลว่า เรือมหาสมบัติ ก็เผยให้เห็นแล้วว่า นโยบายดังกล่าวมีเรื่องการค้าหรือการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยแอบแฝงอยู่
2. เปิดเส้นทางใหม่แทนที่เส้นทางสายไหม
เส้นทางการติดต่อทางบกระหว่างจีนกับเอเชียกลางทางตะวันตก หรือ “เส้นทางสายไหม” ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจีนกับโลกตะวันตก ถือเป็นเส้นทางหลักที่จีนติดต่อกับโลกภายนอก ได้ถูกปิดกั้นอย่างสิ้นเชิงโดยอาณาจักรของชาวมองโกล นำโดย จักรพรรดิติมูร์ (Timur) หรือทาเมอร์เลน (Tamerlane, ค.ศ. 1336-1405) ผู้สืบเชื้อสายเจงกิสข่าน
อาณาจักรของติมูร์ปกครองทั่วตอนเหนือของอินเดีย เปอร์เซีย ซีเรีย มีเมืองหลวงอยู่ที่ซาร์มาร์คาน ในเอเชียกลาง เมื่อพวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับราชวงศ์หมิงอย่างเปิดเผย จีนจึงเหลือช่องทางติดต่อโลกภายนอกเพียงด้านทิศตะวันออก หรือออกทะเลสถานเดียว
การสร้างกองทัพเรือที่เข้มแข็งใหญ่โต จึงเป็นทางเลือกอันสมเหตุสมผลที่จะช่วยให้จีนสามารถรักษาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ดำรงเกียรติและศักดิ์ศรีของการเป็นศูนย์กลางโลก และประโยชน์ทางการค้าในระบบบรรณาการภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
3. ไล่ล่าพระนัดดา ศัตรูทางการเมือง
หย่งเล่อ หรือนามก่อนเถลิงราชย์คือ เจ้าชายจูตี้ (Zhu Di) เป็นผู้ครองแคว้นเยี่ยนจิง (บริเวณโดยรอบกรุงปักกิ่ง) มาก่อน เมื่อเป็นโอรสลำดับที่ 4 ในพระเจ้าหงอู่ ตามหลักแล้วราชบัลลังก์จึงไม่น่าตกทอดมาสู่พระองค์ แต่จูตี้สามารถชิงราชสมบัติมาได้ โดยการทำสงครามกลางเมืองกับเครือญาติ คือ จักรพรรดิเจี้ยนเหวิน (ค.ศ. 1399-1402) ผู้มีศักดิ์เป็นพระนัดดา (หลาน)
แม้เจ้าชายจูตี้จะคว้าชัย แต่ไม่สามารถจับกุมจักรพรรดิเจี้ยนเหวินได้ มีข่าวลือหนาหูว่า พระองค์เสด็จหนีไปอยู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนครหลวงหนานจิงอยู่ใกล้ทะเล
เป็นที่มาของนโยบายสร้างทัพเรือ เพื่อตามล่าพระนัดดา หรืออาจเป็นเหตุผลเพื่อกลบเกลื่อนกิจกรรมทางการค้าของกองเรือก็ได้

4. แผ่อำนาจและสร้างยุคสันติภาพแห่งราชวงศ์หมิง
หย่งเล่อทรงเชี่ยวชาญการทำสงคราม และชื่นชอบระบบอำนาจนิยม พระองค์ประสงค์การยอมรับว่าเป็นฮ่องเต้ผู้ยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ด้าน ทัดเทียมกับจักรพรรดิสมัยราชวงศ์ถังหรือราชวงศ์ซ่ง ซึ่งเป็นยุคทองของประวัติศาสตร์จีน เป็นที่มาของการส่งคณะทูตพร้อมแผ่อำนาจให้นานาประเทศโดยรอบยอมรับในความยิ่งใหญ่ของจีน
นโยบายแผ่แสนยานุภาพของหย่งเล่อ มีอยู่ 4 แนวทาง ดังนี้
1) ส่งกองทัพขนาดใหญ่ไปทำสงครามยืดเยื้อกับชาวมองโกลทั้งทางเหนือและตะวันตกเป็นประจำเกือบทุกปี แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก
2) รุกรานและยึดครองยูนนาน และดินแดนของชนเผ่าไตทางใต้
3) รุกรานอาณาจักรอันนัม หรือไดเวียด (เวียดนาม)
4) ส่งกองเรือมหาสมบัติออกท่องทะเลทั้ง 4 ได้แก่ ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย ทะเลแดง และทะเลอาหรับ เพื่อเยือนดินแดนโดยรอบทะเลทั้ง 4 ให้ยอมรับความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการ
อีกนัยหนึ่ง กองเรือมหาสมบัติคือการสร้างความชอบธรรมในการครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเล่อ และทำให้นานาชาติยอมรับในอำนาจอันยิ่งใหญ่ของราชวงศ์หมิง เพื่อสร้างยุคแห่งสันติสุขระหว่างประเทศ (The Pax Ming) ขึ้นนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมจีนส่งกองเรือสำรวจทะเลอย่างยิ่งใหญ่ และหยุดไปแบบหน้าตาเฉย
- กองเรือเจิ้งเหอถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น “การทูตเรือปืน”
- “กองเรือเจิ้งเหอ” อาจไปถึงทวีปออสเตรเลียก่อน “กัปตันคุก” เกือบ 400 ปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สืบแสง พรหมบุญ ; รศ. ดร. (2549). เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2568