“กองเรือเจิ้งเหอ” อาจไปถึงทวีปออสเตรเลียก่อน “กัปตันคุก” เกือบ 400 ปี

กองเรือเจิ้งเหอ พบ ทวีปออสเตรเลีย

สมุทรยาตราของ “เจิ้งเหอ” แม่ทัพขันทีคนสำคัญของราชวงศ์หมิง ผู้นำกองเรือมหาสมบัติล่องไปทั่วน่านน้ำและท้องทะเลที่ห่างไกลจากแผ่นดินจีนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนได้สำรวจและค้นพบดินแดนใหม่ ๆ มากมาย นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า มีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่กองเรือเจิ้งเหอจะเดินทางไปถึงทวีปออสเตรเลีย ณ ช่วงเวลาก่อนการค้นพบแผ่นดินใหญ่อันห่างไกลนี้ก่อนกัปตันเจมส์ คุก เกือบ 400 ปี!

เรื่องนี้ ปริวัฒน์ จันทร เล่าไว้ผ่านบทความ “กองเรือมหาสมบัติ (Treasure Fleet) ของแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ แพร่วัฒนธรรมซำปอกงจากเมืองจีนถึงอุษาคเนย์-ออสเตรเลีย-แอฟริกา-อเมริกา” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2545 ดังนี้ [เก็บความและเรียบเรียงเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

อนุสาวรีย์ เจิ้งเหอ มะละกา
อนุสาวรีย์เจิ้งเหอในมะละกา (Marcin Konsek, via Wikimedia Commons)

“กองเรือเจิ้งเหอ” เคยไปถึงทวีปออสเตรเลียหรือไม่?

หนังสือ When China Ruled the Seas : The Treasure Fleet of The Dragon Throne 1405-1433 ของ หลุยส์ เลวาเธส (Louise Levathes) วิเคราะห์ถึงคำถามดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ความว่า

“…ในบทเพลงของชาวอะบอริจิ้น (Aborigin) ในเขตอาร์นเฮน (Arnhem Land) ทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย (Australia) แถบเมืองท่าดาร์วิน (Darwin) ได้กล่าวถึงบรรพบุรุษของพวกเขาที่มาถึงดินแดนแห่งนี้ก่อนชาวอินโดนีเซียและชาวยุโรปที่เรียกว่า “ชาวไป๋จีนี่” (Baijini) อันเชื่อมโยงไปถึงชาวจีน

พวกเขาแล่นเรือมาถึงชายฝั่งของอาร์นเฮนในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือในราวเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน และจะหวนคืนกลับถิ่นหลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อฤดูของลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้มาเยือน พวกเขาเดินทางเพื่อหาปลิงทะเล รวมถึงกระดองเต่า ไข่มุก และไม้หอมที่จะหาได้จากแผ่นดินทางตอนใน

มีการงมพบสมอเรือไม้ของชาวไป๋จีนี่ที่มีลักษณะเหมือนสมอเรือของชาวจีนที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสมัยราชวงศ์ฮั่น ชาวไป๋จีนี่ได้ถูกจดจำมาว่า พวกเขาเหล่านี้มีสีผิวเหลืองทอง และมีรูปร่างที่เล็ก”

นักเขียนเล่าว่า บทเพลงของชาวอะบอริจินยังกล่าวถึงสตรีชาวไป๋จีนี่ที่เลอโฉม มักสวมกางเกงแพรขายาวหลากสี พวกเขาสร้างบ้านเรือนด้วยหินและเปลือกไม้ และนำกี่ทอผ้ามาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม นำเส้นด้ายมาต้มย้อมในหม้อให้ได้สีสันสวยงาม วิธีดังกล่าวถูกปกปิดเป็นความลับ ไม่ให้ชาวอะบอริจินรู้กรรมวิธี

“…อะไรทำให้เชื่อว่าชาวไป๋จีนี่นี้มาจากจีน ไม่ใช่ชาวประมงมาคัสสัน (Macassen) ที่มาจากหมู่เกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซียที่แล่นมาถึงที่นี่ หรือเป็นเพราะว่าพวกเขามีสีผิวเหลืองทองมากกว่าพวกมาคัสสัน?

ในประวัติศาสตร์สมัยศตวรรษที่ 4 ก่อนปีคริสกาลจีนได้เรียนรู้ถึงตำแหน่งของหมู่ดาวทิศใต้ และได้มีการบันทึกถึงการเกิดสุริยุปราคาในดินแดนทางตอนใต้หมู่เกาะฟิลิปปินส์ที่มีเส้นรุ้งต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรถึง 30 องศา”

แผนที่ ยุคเจิ้งเหอ กองเรือเจิ้งเหอ
แผนที่ในความครอบครองของนักสะสมชาวจีน ซึ่งมีผู้อ้างว่าเป็นฉบับที่คัดลอกมาจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นในยุคของ “เจิ้งเหอ”

นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าชาวจีนได้นำเครื่องถ้วยมาค้าขายในแถบหมู่เกาะบอร์เนียวตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 8 และเดินเรือไปถึงชายฝั่งของออสเตรเลียเพื่อหาปลิงทะเลที่พวกเขานิยมนำมาเผาและทำน้ำแกงอันเลิศรส

ตำนานสุยซู (Sui Shu) หรือประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย ได้บันทึกเกี่ยวกับดินแดนทางใต้ที่ต้องเดินเรือด้วยระยะเวลา 60-100 วัน กล่าวถึงนกชนิดหนึ่งชื่อ เซ่อลี่ (She Li) ที่สามารถเข้าใจภาษามนุษย์ได้ ซึ่งอาจเป็นนกแก้วพื้นถิ่นของออสเตรเลีย

ที่สำคัญคือการบรรยายถึงกลุ่มชนที่ชำนาญการโยน หลุนเตา (Lun Dao) หรือมีดหมุนได้ ระบุว่าเป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ตอนกลางมีหลุมกลมและมีด้านคมคล้ายใบเลื่อย ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็น บูมเมอแรง (Boomerang) ของชาวอะบอริจิน

ฉะนั้น อย่าว่าแต่กองเรือเจิ้งเหอพบทวีปออสเตรเลียก่อนกัปตันคุกหรือชาวยุโรปคนใดเลย เพราะดูเหมือนว่าชาวจีนก่อนยุคเจิ้งเหอเองรู้ถึงการมีอยู่ของทวีปออสเตรเลียอยู่แล้ว

ยังมีอีกหลักฐานคือ ตำนานซันไห่จิง (Shan Hai Jing) หรือตำนานแห่งขุนเขาและทะเล ที่แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราวพิสดาร แต่ยังพบร่องรอยการพรรณนาถึงดินแดนป่าเถื่อนทางทะเลใต้ที่นิยามในภาษาจีนว่า “ดินแดนอันยิ่งใหญ่” มีสัตว์กระโดดสูงเรียกว่า ซูถี (Shu Ti) มีสองหัว สัตว์ประหลาดนี้อาจเป็นจิงโจ้แม่ลูกอ่อนที่มีเจ้าตัวเล็กอยู่ในกระเป๋าหน้าท้อง แต่ชาวจีนซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อนเข้าใจไปว่ามันมี 2 หัว

เลวาเธสสรุปว่า “สำหรับของเรือของเจิ้งเหอแล้ว มีบันทึกของเฟ่ยซิน (Fei Xin) ใน Xing Cha Sheng Lan หรือท่องดินแดนนานาชาติ กล่าวได้ว่า กองเรือได้เดินทางไปถึงชายฝั่งติมอร์ (Timor) ซึ่งจากที่นั่นอีกราว 400 ไมล์เท่านั้นก็จะถึงชายฝั่งของเขตอาร์นเฮมของออสเตรเลีย

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่กองเรือของเฟ่ยซินจะเดินทางไปถึงที่นั่นก่อนกัปตันคุกถึงเกือบสี่ศตวรรษ?!…”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2567