“แปดปาก” ชื่อเก่าก่อนกลายเป็น “ล้านนา”

ตลาด ล้านนา แปดปาก
ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม

อาณาจักร “ล้านนา” เชื่อกันว่าเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 หลังพญามังรายรวบรวมอำนาจได้สำเร็จ แต่ก่อนที่จะได้ชื่อว่า “ล้านนา” มีการตั้งข้อสงสัยว่าชื่อเดิมอาจคือ “แปดปาก”

เรื่องนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย หรือ ที่หลายคนรู้จักในนามว่า “เพนกวิน” วิเคราะห์ไว้ในวารสารประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผ่านบทความ “ความเป็นมาของคำล้านนาและล้านนาไทยโดยสังเขป” ดังนี้

พริษฐ์เล่าว่า ช่วงเริ่มต้นของการเกิดอาณาจักรนี้ ไม่มีระบุไว้ว่าใช้ชื่อใดกันแน่ แต่ในเอกสารจีนระบุและเรียกชื่อว่า “ไป่” หรือ “ปาไป่สีฟู่”

ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม
ตลาดใน “ล้านนา” ภาคเหนือของสยาม

ชื่อปาไป่สีฟู่ ปรากฏครั้งแรกใน “หยวนสือ” หรือพงศาวดารราชวงศ์หยวน แปลความหมายได้ว่า “แปดร้อยชายา” หรือ “แปดร้อยสะใภ้” รวมถึงในเอกสารอื่น ๆ เช่น ต้าหมิงอีถงจื้อ หรือ บันทึกประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์ราชวงศ์หมิง ก็กล่าวถึงที่มาได้ความหมายดังนี้

จนราชสำนักหยวนตั้งให้รัฐราชวงศ์มังรายเป็นเขตปกครอง ก็ได้ชื่อว่า “ปาไป่” เท่านั้น ไร้คำว่าสีฟู่เหมือนแต่ก่อน อย่างในหมิงสือลู่หรือพงศาวดารราชวงศ์หมิงก็ใช้คำว่าปาไป่ 

ต่อมาเชียงใหม่ก็ถูกเรียกว่า “ปาไป่ต้าเตี้ยน” และเชียงรายก็ได้ชื่อว่า “ปาไป่เจ๋อหน่าย” จึงทำให้เห็นว่าในภาษาจีน “ปาไป่” คือคำหลัก ส่วนสีฟู่ ต้าเตียน รวมถึง เจ๋อหน่าย เป็นคำสร้อยที่เสริมเข้ามา อย่างปาไป่เจ๋อหน่าย หากแปลตรงตัวจะได้ว่า เชียงรายทั้งแปดร้อย ซึ่งไม่ได้ความ 

แต่ถ้าแยกแปลก็จะเข้าใจถึงที่มามากยิ่งขึ้น เพราะแปลได้ว่าปาไป่เชียงราย เชื่อมโยงกับสถานการณ์ขณะนั้นที่เกิดสงครามกลางเมือง แย่งชิงบัลลังก์ระหว่างท้าวสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่กับท้าวยี่กุมแห่งเชียงรายพอดิบพอดี

แต่ปาไป่เชียงรายกับการแย่งชิงบัลลังก์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ต้องอ่านที่มาของคำนี้ ซึ่งเจ้าของบทความเล่าไว้ดังนี้

คำว่า “ปาไป่” แปลตรงตัวคือ “แปดร้อย” หรือ “แปดปาก” เป็นภาษาตระกูลไท หมายถึงจำนวนหลักร้อย ไม่แน่ชัดว่าแปดร้อยในที่นี้คืออะไร แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับคำว่า “ปาก” ที่ข้องเกี่ยวกับหน่วยการปกครองระดับปากนา ดังที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ว่า…

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คือ พญามังราย (องค์กลาง) พญางำเมือง (องค์ซ้าย) และพญาร่วง (องค์ขวา) ตั้งอยู่กลางเวียงเชียงใหม่ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

“พญาทัง 2 ก็ใช้มนตรีผู้รู้สืบคำเมืองไปมาหากัน ลวดกระทำไมตรีสนิทติดต่อกันเป็นทัฬหสารหมมั้นแก่นกับด้วยกัน เจ้าพญามังรายจึงเรียกพญางำเมืองว่าระเรือนเดียว พญางำเมืองก็มีความชมชื่นยินดี จึงฝากแคว้นแก่พญามังรายพุ่นปากนา มีคน 500 หลังเรือนแก่พญามังราย…”

แล้วระดับการปกครองเกี่ยวข้องอะไรกับชื่อเดิมก่อนเป็นเมืองล้านนา เรื่องนี้พริษฐ์อธิบายว่า…

“ในระบบพันนาซึ่งจัดเรียงหน่วยการปกครองตามหน่วยการผลิตข้าว ปากนาถือเป็นหน่วยการปกครองที่มีขนาดสูงกว่าสิบนาและหมวดนา (ห้าสิบนา) แต่ต่ำกว่าพันนา มีขุนนางชั้นพันเป็นผู้ปกครอง และยังอาจมีความหมายใกล้เคียงกับ ‘แคว้น’ ในภาษาล้านนา ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองในระดับต่ำเช่นกัน

ผู้เขียนจึงสันนิษฐานว่าปาไป่หรือแปดปากดังกล่าว หมายถึงแปดปากนาหรือแปดร้อยนา โดยตัวเลขดังกล่าวอาจสื่อถึงจำนวนหน่วยการปกครองปากนาแปดหน่วย หรือหมายถึงจำนวนศักดินาของกษัตริย์ผู้ปกครองจำนวนแปดร้อยนา หรืออาจเป็นทั้งคู่

จำนวนนับเพียงแปดร้อยดังกล่าวซึ่งถือว่าไม่สูงนักอาจสะท้อนสภาพของอาณาจักรที่ยังไม่เป็นอาณาจักรยุคจารีตโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ ยังคงเป็นเพียงเครือสมาพันธ์หลวม ๆ ของหัวเมืองแว่นแคว้นต่าง ๆ และยังไม่มีการรวมศูนย์อำนาจอย่างมั่นคง 

อำนาจของกษัตริย์ขึ้นอยู่กับความภักดีส่วนตัวของขุนนางใต้ปกครองต่อตัวกษัตริย์ มีเพียงเดชานุภาพทางการทหารและความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นหลักประกันความภักดีเพียงเท่านั้น ยังไม่มีสิทธิธรรมทางศาสนาสนับสนุนการปกครองของกษัตริย์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐอย่างชัดเจน

สภาวะดังกล่าวถือเป็นลักษณะของอาณาจักรยุคแรกเริ่ม (early kingdom) โดยสภาวะนี้จะได้รับการแก้ไขในการปฏิรูปช่วงศตวรรษต่อมา” 

จากข้างต้นจึงคาดได้ว่า “แปดปาก” น่าจะเป็นชื่อในช่วงอาณาจักรยุคแรกเริ่มของล้านนา ซึ่งเกี่ยวโยงกับระบบการปกครองเดิม ที่ไม่เป็นปึกแผ่น และยังเป็นคำตอบของคำถามด้านบนอีกด้วยว่าชื่อปาไป่เชียงรายเกี่ยวข้องกับการแย่งชิงอำนาจในขณะนั้น

หมายเหตุ : เน้นคำโดยกองศิลปวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://so05.tci-thaijo.org/index.php/thammasat_history/article/view/262649/178720


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2568