ตำนานรักข้ามโลก “โทวัลเซ็น-เจ้าพิมพา” หนุ่มเดนมาร์กกับเจ้าล้านนา สมัยรัชกาลที่ 5

โทวัลเซ็น ชาวเดนมาร์ก พบรัก เจ้าพิมพา เจ้านายฝ่ายเหนือ
พ.ต.ท. บี. โทวัลเซ็น

พ.ต.ท. บี. โทวัลเซ็น (B. Thorvaldsen) หนุ่มเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นนายร้อยตำรวจในไทย สมัยรัชกาลที่ 5 สังกัดกลุ่ม “ฌองดามรี” ซึ่งทำหน้าที่คล้ายตำรวจและทหารในเวลาเดียวกัน เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่ในมณฑลพายัพ ได้พบรักกับ เจ้าพิมพา หรือ “เจ้าปา” สตรีสูงศักดิ์ในราชสกุล ณ ลำพูน เกิดเป็นตำนานรักแห่งเมืองเหนือ

โทวัลเซ็นเกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2418 ที่เมืองเรนเดอร์ ประเทศเดนมาร์ก ในตระกูลที่มีชื่อเสียงด้านความเป็นศิลปิน เพราะมีทั้งจิตรกร และช่างปั้น หลังเรียนจบแล้ว ในปี 2441 ก็สมัครรับราชการในกองทัพเดนมาร์ก ผ่านการอบรมหลักสูตรที่จะเป็นนายร้อย 15 เดือน และสำเร็จหลักสูตรในราวปี 2442-2443

ช่วงนั้น พลตรี พระยาวาสุเทพ ชาวเดนมาร์กที่สำเร็จโรงเรียนนายทหาร กรุงโคเปนเฮเกน แล้วมารับราชการในไทย มีจดหมายเสนอให้ผู้เข้ารับการอบรมมารับราชการในไทย แต่ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1-2 ไม่มา โทวัลเซ็น ซึ่งสอบได้คะแนนอันดับ 3 จึงตอบรับข้อเสนอ พร้อมกับนายร้อยตำรวจนายอื่นๆ (จุดนี้เองเป็นที่มาของ “ฌองดามรี” ในเมืองไทย)

โทวัลเซ็น และนายร้อยตำรวจชาวเดนมาร์ก อยู่ในสังกัดกรมตำรวจภูธร ขึ้นกับพลตรี พระยาวาสุเทพ จากนั้นทั้งหมดก็ถูกส่งไปยังมณฑลต่างๆ โทวัลเซ็นถูกส่งไปมณฑลปราจีนบุรี แต่อยู่ได้ไม่นานก็เกิดกบฏเงี้ยวขึ้นในปี 2445 ในมณฑลพายัพ พระยาวาสุเทพต้องคุมพลตำรวจภูธร 200 นาย ไปสมทบกับพลตำรวจภูธรที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งในการรบครั้งนี้ นายร้อยตำรวจตรีเยนเสน (Jensen) ชาวเดนมาร์ก ถูกยิงเสียชีวิต

โทวัลเซ็น จึงได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการแทนนายร้อยตำรวจตรีเยนเสนที่มณฑลพายัพอย่างเร่งด่วน เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย โทวัลเซ็นก็พบกับเจ้านายสตรีล้านนา ที่ต่อมาจะเป็นคู่ชีวิตตราบสิ้นลมหายใจ

เจ้าพิมพา หรือ เจ้าปา เป็นธิดาเจ้าอินทร ณ ลำปาง กับ เจ้าบัวเทพ ณ เชียงใหม่ เมื่อยังเด็ก พระยารัตนอาณาเขต เจ้าหลวงเชียงราย ซึ่งเป็นเจ้าลุงของเจ้าพิมพา ได้ขอเจ้าพิมพาจากเจ้าอินทรมาช่วยดูแลกิจการบ้านเรือนแทนท่าน เพราะเจ้าหญิงภรรยาของท่านสิ้นไป ไม่มีใครดูแลบ้านเรือนได้ดีเหมือนเจ้าพิมพา

เจ้าหลวงเชียงรายดูแลหลานเป็นอย่างดี ส่งเจ้าพิมพามากรุงเทพฯ ให้มารับการอบรมที่สำนักเจ้าจอมมารดาดวงคำ พระสนมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นหลานปู่ของเจ้าอนุเวียงจันทน์ ทั้งยังขอให้ หมอดอดจ์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งเผยแผ่ศาสนาในพื้นที่เชียงราย เชียงรุ้ง เชียงตุง แสนหวี เป็นครูสอนเรื่องวิชาการตัดเย็บเสื้อผ้า และทำอาหาร ทำให้เจ้าพิมพาเชี่ยวชาญงานบ้านงานเรือนเป็นอย่างยิ่ง

ตามธรรมเนียมที่ผู้มาใหม่ต้องเข้าคารวะเจ้าหลวงเชียงราย โทวัลเซ็นได้เข้าพบเจ้าหลวงหลายครั้ง แต่ทุกครั้งเจ้าพิมพาต้องออกจากคุ้มไปก่อน เพื่อป้องกันการพบปะกันระหว่างนายตำรวจต่างชาติกับเจ้านายฝ่ายเหนือ

โชคชะตานำพาให้มาพบกันจนได้ โทวัลเซ็นเข้าคารวะเจ้าหลวงโดยมิได้นัดหมาย เจ้าพิมพาจึงปีนต้นไม้แอบดู กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โทวัลเซ็น และเจ้าพิมพา ได้พบหน้ากันเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรัก

เจ้าหลวงเชียงรายไม่ขัดข้องที่จะยกเจ้าพิมพาให้ เพราะขณะนั้นโทวัลเซ็นมีตำแหน่ง “ทำการนายร้อยเอก โทวัลเซ็น” มีหน้าที่เป็นครูฝึกหัดประจำเมืองยวน ขึ้นกับมณฑลพายัพ ทั้งคู่จึงได้สมรสกันในราวปี 2449-2450

แล้วเหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่งโทวัลเซ็นจับกุมชายที่พกหีบห่อทองคำแท่งติดตัวมาด้วยจำนวนมาก พร้อมจดหมายลับถึงบุคคลคนหนึ่ง มอบทองเป็นค่าสมนาคุณในการแบ่งแยกดินแดน แต่แทนที่โทวัลเซ็นจะได้ความดีความชอบ กลับถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน จนเขาต้องเขียนจดหมายชี้แจง

เหตุการณ์นี้น่าจะส่งผลกับชีวิตของโทวัลเซ็นอยู่บ้าง เพราะเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจกลับเดนมาร์ก โดยมีเจ้าพิมพาเดินทางไปด้วย ทั้งสองอยู่ที่นั่นพักใหญ่ แต่เมื่ออากาศหนาวเย็นเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเจ้าพิมพา สองสามีภรรยาจึงเดินทางกลับไทย โทวัลเซ็นเข้ารับราชการในสังกัดตำรวจภูธรในราวปี 2459-2460 โยกย้ายไปประจำหลายที่ กระทั่งไปประจำที่เชียงรายในที่สุด

โทวัลเซ็นเกษียณอายุราชการในปี 2469 มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขกับเจ้าพิมพา ด้วยรายได้จากกิจการส่วนตัว อย่าง บ้านพักรับรอง ธุรกิจรถโดยสารลำปาง-เชียงราย และการขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง

เจ้าพิมพาเสียชีวิตไปก่อน ส่วนโทวัลเซ็นเสียชีวิตในปี 2500 ทั้งสองมีบุตรธิดารวม 10 คน ธิดาคนสุดท้องจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา และสมรสกับนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล

หากใครได้ไปเยือน สุสานคริสเตียน หนองเหียง ถนนราชโยธา อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ลองสังเกตดีๆ มีหลุมศพของโทวัลเซ็นอยู่ที่นั่น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นิยะดา เหล่าสุนทร. “ฌองดามรี กับ หนึ่งหน้าของประวัติกรมตำรวจ”. ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567