“อโยธยา” ในเอกสารและตำนานเก่าแก่ อยู่ร่วมสมัยกับ “สุโขทัย-ล้านนา”

แผนที่ เกาะเมือง กรุงศรีอยุธยา บริเวณ ทิศตะวันออก ของ เกาะเมือง สันนิษฐาน ว่าเป็น ที่ตั้ง เมือง อโยธยา
แผนที่เกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา และบริเวณทิศตะวันออกของเกาะเมืองที่สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของเมืองอโยธยา (ภาพจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมสยามประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547. หน้า 71.)

“อโยธยา” เมืองต้นกำเนิด กรุงศรีอยุธยา อาจเก่าแก่ร่วมสมัยกับ “สุโขทัย” และ “ล้านนา” ดังปรากฏการเอ่ยถึงในเอกสารและตำนานโบราณต่าง ๆ มากมาย

“อโยธยา” ร่วมสมัยกับสุโขทัยและล้านนา

จารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (หลักที่ 1) ด้านที่ 4 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบ้านเมืองในเครือข่ายความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ครั้งรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในตอนที่กล่าวถึงเมืองในภาคกลางนั้น จารึกระบุชื่อเมืองที่อยู่ทางด้านทิศหัวนอน (ทิศใต้) ของสุโขทัย นับตั้งแต่เมืองคณฑีในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ลงไปจนถึงนครศรีธรรมราช ไว้ว่า “เบื้องหัวนอน รอดคณฑี พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว”

สังเกตได้ว่า จารึกกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง ได้แก่ แพรกศรีราชา สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี แต่ไม่กล่าวถึงเมืองสำคัญที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ละโว้ (ลพบุรี) และ อโยธยา แสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 เมืองนี้ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัย และในขณะเดียวกันแสดงให้เห็นว่า สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับเมืองในเขตอิทธิพลของราชวงศ์สุพรรณภูมิมากกว่าละโว้ 

ข้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1) สอดคล้องกับ ตำนานพระพุทธสิหิงค์ หรือสิหิงคนิทาน ที่ระบุถึงอาณาเขตสุโขทัยของพระเจ้าสุรังคราชาธิบดี (พระร่วง คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ไว้ว่า ทางทิศใต้จรดกับอโยธยา ความว่า “…แลพระเจ้าสุรังคราชาธิบดี พระองค์มีพระราชอาณาจักรแผ่ไพศาลกว้างขวาง ตั้งแต่แม่น้ำเหนือขึ้นไป โดยลำดับที่สุดแม่น้ำน่าน ด้านใต้จด ‘อโยธยานคร’ ตลอดถึงเมืองศิริธรรมราช…”

เมือง “อโยธยา” ยังปรากฏหลักฐานในเอกสารฝ่ายล้านนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงสาเหตุที่พญามังราย ขยายอำนาจไปยึดเมืองหริภุญไชยไว้ว่า พระองค์ได้พบพ่อค้าเมืองหริภุญไชย จึงทราบว่า เมืองนี้มีความสมบูรณ์เป็นเมืองชุมทางการค้าทั้งทางบกทางน้ำ และเมือง “โยธิยา” ก็มาติดต่อค้าขาย ความว่า

“มังรายจึงหาพ่อค้ามาถามดูว่าเมืองหริภุญไชยที่สูอยู่พู้นยังสมริทธี รู้ว่าบ่สมริทธีเป็นสันใด พ่อค้าทั้งหลายไหว้ว่าเมืองหริภุญไชยที่ตูข้าอยู่โพ้นก็สมริทธีด้วยข้าวของมากนัก พ่อค้าทางบกทางน้ำเทียวมาค้าชุเมืองทางน้ำก็เถิง ‘เมืองโยธิยา’ ก็มาค้าเถิง ยุท่าง (สะดวก) ค้าขาย ชาวเมืองก็สมริทธีเป็นดีมากนักแล”

หลังจากพญามังรายยึดเมืองหริภุญไชยจากพญายีบาได้ใน พ.ศ. 1835 ข้อมูลจากตำนานพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่า พญายีบาหนีไปพึ่งพญาเบิกผู้น้องซึ่งครองอยู่เมืองลคอร (ลำปาง) พญาทั้งสองคิดที่จะทำศึกกับพญามังราย จึงขอความช่วยเหลือจากเมือง “อโยธิยา” หรืออโยธยาที่อยู่ด้านใต้ และเมืองแพร่ 

ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวถึง เจ้ามหามิตร แห่งเมืองอโยธิยา เกณฑ์กองทัพมาช่วยรบว่า “เจ้ามหามิตร ‘เมืองอโยธิยา’ ท่านก็มีอาชญาป่าวเอาฅนเสิก็ได้ 2 แสน ช้าง 3 พัน ม้า 2 พัน มาค้ำ” พญามังรายจึงให้ขุนครามเกณฑ์พลออกรบและสามารถต้านทานทัพข้าศึกไว้ได้ ผลจากสงครามครั้งนั้นพญาเบิกเจ้าเมืองลคอรและพญาบอนเจ้าเมืองแพร่ถูกฆ่าตายในสนามรบ พญายีบาหนีออกจากเมืองลคอร

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า “เมืองอโยธยา” ใน พ.ศ. 1835 มีอำนาจและกำลังทหารสามารถยกทัพไปช่วยเมืองลำปางรบพญามังราย

เนื้อความในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติของพญาร่วง คือพ่อขุนรามคำแหงกับเมืองอโยธยา ไว้ในตอนพญามังรายตัดสินคดีพญาร่วงลักลอบเป็นชู้กับนางอั้วเชียงแสน ชายาพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยาว่า “พญาสรีสุธรัมราชนครหลวง กับ ‘พญาสรีอยุธยา’ อันเป็นญาติพญาร่วงก็จักเป็นเวรแก่สหายกูเจ้าพญางำเมืองชะแล”

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเนื้อความตามจารึกพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1) ที่กล่าวถึงเมืองในลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง ความสัมพันธ์ที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงนี้ อาจหมายถึงความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสุโขทัยกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ

นอกจากนี้ ในตำนานมูลศาสนา และตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ระบุไว้ว่า พระอโนมทัสสีกับพระสุมนเถระเป็นลูกศิษย์ของพระมหาบรรพตะสังฆราชเมืองสุโขทัย เคยมาศึกษาที่เมืองอโยธยา ความว่า “ครั้งนั้นยังมีมหาเถรเจ้า 2 ตน อันเป็นลูกชาวเมืองสุโขทัย ตน 1 ชื่ออโนมทัสสี ตน 1 ชื่อสุมนะ เจ้าไททั้ง 2 ลงไปเรียนเอาปิฎกทั้ง 3 ใน ‘เมืองอโยธยา’ โพ้น”

เมื่อภิกษุทั้งสองเรียนจบจึงกลับมายังสุโขทัย และได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับพระอุทุมพรบุปผามหาสวามีซึ่งตั้งสำนักเรียนตามอย่างลังกาวงศ์ที่เมืองพัน จึงพากันเดินทางไปยังเมืองพัน แล้วพากันสึกและเข้าบวชใหม่ในสำนักของพระอุทุมพรบุปผามหาสวามี

เหตุการณ์ที่พระอโนมทัสสีกับพระสุมนเถระไปเรียนที่อโยธยาน่าจะเกิดก่อน พ.ศ. 1875 เพียงเล็กน้อย เนื่องจากตำนานพระธาตุดอยสุเทพระบุไว้ว่า พ.ศ. 1875 เป็นปีที่พระอุทุมพรบุปผามหาสวามีกลับจากลังกาและตั้งสำนักที่เมืองพัน ความว่า

“ในเมื่อพระพุทธเจ้าเรานิพพานไปแล้วได้ 1875 พระวัสสา ในปลีรวงเม็ด สกราชได้ 693 ตัวนั้น ยังมีมหาเถรเจ้าตน 1 ชื่อว่ามติมา ได้เอาสาสนาแต่เมิงลังกามาตั้งในเมิงพัน…ก็จิ่งพร้อมกันอุสสาภิเสกมหาเถรเจ้าหื้อเป็นสวามียกขึ้น ชื่อว่า อุทุมพรปุปผมหาสวามี”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘อโยธยา’ ก่อน พ.ศ. 1893 ความทรงจำจากเอกสารและตำนาน” เขียนโดยธนโชติ เกียรติณภัทร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2566 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2566