“ถนนวิทยุ” ย่านแพงกรุงเทพฯ มีที่มาจากไหน เกี่ยวอะไรกับเครื่องสื่อสาร?

ถนนวิทยุ
ถนนวิทยุ (ภาพจาก : ข่าวสด)

“ถนนวิทยุ” เป็นถนนที่เชื่อมกับถนนเพลินจิตและถนนพระราม 4 ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีราคาสูงมาก ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด (AREA) ชี้ว่า ใน พ.ศ. 2566 มีมูลค่าอยู่อันดับ 2 ในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีราคา 2.95 ล้านบาท/ตารางวา

ได้ชื่อว่าแพงขนาดนี้ แล้วถนนที่ชื่อวิทยุนี้มาจากไหน?

ถนน…วิทยุ (ภาพจาก : ข่าวสด)

ที่มาของถนนวิทยุ มาจากการสร้างสถานีวิทยุแห่งแรกของไทย โดยก่อนจะเกิดสถานีวิทยุแห่งแรกนี้ขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นจอมพลเรือ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสถานีวิทยุส่วนทหารเรือขึ้น ใช้เครื่องรับส่งของบริษัทเทเลฟุงเก้นแบบประกายไฟ และโปรดเรียกเครื่องรับส่งนี้ว่า “ราดิโอเทเลกราฟ”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บัญญัติเป็นคำว่า “วิทยุ”

จากนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ได้ทรงริเริ่มกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก และทดลองส่งกระจายเสียง ณ ตึกทำการไปรษณีย์ ปากคลองโอ่งอ่าง ชื่อ “สถานีวิทยุ ๔ พีเจ”

กระทั่ง พ.ศ. 2471 ได้ย้ายสถานที่ทำการส่งกระจายเสียงมาตั้งถาวร ที่ “สถานีวิทยุ” ตำบลศาลาแดง (สมัยก่อนกรุงเทพฯ ยังใช้ตำบล) ชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่ศาลาแดง ๗ พีเจ” โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำพิธีเปิดสถานีวิทยุแห่งนั้น เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2471

เมื่อมีการตัดถนนเชื่อมถนนเพลินจิตและพระราม 4 ผ่านสถานีวิทยุฯ จึงให้นามตามสถานที่สำคัญ กลายเป็น “ถนนวิทยุ” ที่เรารู้จักกัน และปัจจุบันสถานีวิทยุแห่งแรกของไทยก็หลงเหลือแค่เพียงเสาอากาศและอาคารสถานีไว้ต่างหน้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน. 2551.

https://moneyandbanking.co.th/2024/83255/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 2567