พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6 คืออาหารใด?

รัชกาลที่ 6 รัชทายาทรัชกาลที่ 6 พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาในช่วงที่สยามเปิดรับความรู้และวิทยาการจากตะวันตก ทั้งยังทรงได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษร่วมสิบปี จึงทรงคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของผู้คนในแถบยุโรป เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ในช่วงที่สยามเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับโลกตะวันตกมากกว่ายุคก่อนๆ จึงปรากฏความกลมกลืนระหว่างตะวันออก-ตะวันตก หนึ่งในนั้นคือเรื่องพระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6

พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยารามราฆพ พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6
พระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ภาพจาก ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) พ.ศ. 2510)

พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6 คืออาหารใด?

นริศ จรัสจรรยาวงศ์ นักประวัติศาสตร์อิสระ ผู้สนใจศึกษาตำราอาหารชาววังในแง่มุมประวัติศาสตร์จนเชี่ยวชาญ เล่าประเด็นนี้ในหนังสือ “ตำรับสร้าง(รส)ชาติ” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า

รัชกาลที่ 6 โปรดให้ตั้ง แผนกห้องเครื่องฝรั่ง ขึ้นในกรมมหาดเล็ก มี เจ้าพระยารามราฆพ ครั้งยังดำรงบรรดาศักดิ์พระยาประสิทธิ์ศุภการเป็นผู้บัญชาการ

คราวนั้นมีการว่าจ้างพ่อครัวต่างชาติ คือ มองสิเออร์ เอ. เค. มองกราเยนเดย์ ชาวฝรั่งเศส และ นายยอร์ช อันโตนิโอ ผู้ช่วยชาวตุรกี ซึ่งใน พ.ศ. 2456 ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์จาก “ขุนทิพรศโอชา” ขึ้นเป็น “หลวงทิพรศโอชา” และพระราชทานนามสกุลว่า “อันตรนิยุกต์” (Antaraniyukta) ทั้งยังมีลูกมือเป็นคนไทยอีกหลายคนช่วยปรุงอาหาร

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ยังโปรดให้มหาดเล็กซึ่งเป็นเด็กชายล้วน ได้ฝึกหัดเดินโต๊ะและเสิร์ฟอาหารฝรั่ง เช่นเดียวกับธรรมเนียมในวังปารุสกวันของ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งพระโอรสของพระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงฉายภาพความนิยมอาหารฝรั่งไว้ในอัตชีวประวัติเรื่อง “เกิดวังปารุสก์” ว่า

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ รัชทายาทรัชกาลที่ 6 พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6
พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสในสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (ภาพ : Wikimedia Commons)

“ห้องเครื่องอาหารฝรั่งนั้น พ่อเคยมีกุ๊กฝรั่งชาติรุสเซียสองคน ฝรั่งสองคนนี้มีจีนหนุ่มๆ เป็นผู้ช่วยสองสามคน ส่วนเครื่องไทยนั้นก็อยู่แยกไปอีกเรือนหนึ่ง มีผู้หญิงเป็นคนทำ… อาหารค่ำนั้นมีมากกว่าอาหารกลางวัน ตั้งต้นด้วยอาหารฝรั่งก่อน มีซุป มีปลา มีเนื้อ เสร็จแล้วยังมีอาหารไทยอีก เมื่อเสร็จอาหารไทยแล้วก็มีไอสกรีมและผลไม้”

นริศ เล่าด้วยว่า การผสมผสานจานอาหารฝรั่งและไทยบนโต๊ะพระกระยาหาร สามารถสำรวจได้จากรายการอาหารของ 2 วังสำคัญในสมัยดังกล่าว คือ พระบรมมหาราชวัง และวังบูรพาภิรมย์

รายการอาหารของพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ประกอบด้วย “สูปรังนก, ปลากะพงอย่างโดมองต์, สันโคอย่างแคลมงต์, ไก่นาอย่างปารีเซียน กับสลัดมาโก, เครื่องไทย-ไอศกรีมรูปผลแตงไทย กับขนมฟูออเบนย์ผลไม้”

ส่วนรายการอาหารของวังบูรพาภิรมย์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2463 ประกอบด้วย “สูปปรินเซส, ปลาอินทรีแชมบอรด, ไก่ย่างเนรา, เนื้อลูกโค โฟเรสแจร์ กับสลัดราเชล, เครื่องไทย-ไอศกรีมเบเนดิคติน กับขนมต่างๆ ผลไม้”

จากข้อมูลที่นริศถ่ายทอด จึงพอทำให้เห็นภาพว่า พระกระยาหารราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 6 คือ อาหารแบบตะวันตก ทั้งยังมีอาหารจีนอย่างซุปรังนกอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

นริศ จรัสจรรยาวงศ์. ตำรับรส(สร้าง)ชาติ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2567