“ขุนหลวงหาวัด” อีกพระนามหนึ่งของ “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” มาจากอะไร?

อยุธยา สมัยพระเจ้าปราสาททอง ประกอบ ขุนหลวงหาวัด อีกพระนามหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ประกอบ พระนามพิเศษ
ภาพวาดของชาวตะวันตกแสดงภาพกรุงศรีอยุธยาประมาณรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ในฤดูน้ำหลากที่น้ำท่วมพื้นที่โดบรอบ เหลือแต่เพียงเกาะเมือง

ขุนหลวงหาวัด อีกพระนามหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มาจากอะไร?

ภาพนี้คือ พระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์อยุธยา (เดิมเข้าใจคาดเคลื่อนว่าเป็นภาพสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) ในสมุดพม่าชื่อ “นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า “เอกสารการบันทึกราชสำนัก พร้อมด้วยภาพเขียน” ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ British Library กรุงลอนดอน

“สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” เป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ของ “กรุงศรีอยุธยา” ทว่าพระองค์กลับครองราชบัลลังก์ได้ไม่นาน ก็เกิดความปั่นป่วนด้านการเมืองภายในราชสำนัก พระองค์จึงออกผนวช และทรงให้ พระเจ้าเอกทัศน์ พระเชษฐา ทรงขึ้นครองราชย์แทน 

ช่วงเวลาที่พระองค์ผนวชนี้เอง ทำให้ชาวบ้านต่างเรียกขานพระองค์ว่า ขุนหลวงหาวัด อีกพระนามหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อย่างที่ในเอกสาร “อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี” ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายไว้ว่า…

“…ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้น พระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เปนกรมขุนพรพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช

คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา”

พระสถูปที่วัดเยตะพัน (วัดมะเดื่อ) ทางใต้ของเมืองอังวะ ตามหลักฐานในคำบอกเล่าของชาวพม่าว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงผนวชได้มาประทับอยู่ที่วัดนี้ เป็นเวลากว่า 16 ปี และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปจากไม้มะเดื่อประดิษฐานไว้ภายในพระสถูปนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพม่าบุกเข้ายึดอยุธยา “ขุนหลวงหาวัด” ก็ทรงลาสิกขาออกมาช่วยรบอย่างเต็มความสามารถ

แต่ในการศึกครั้งถัดมา อยุธยาก็ไม่อาจต้านทานกำลังทัพของพม่าได้ จนในที่สุดกรุงศรีอยุธยาก็แตกพ่าย พระองค์ทรงถูกกวาดต้อนไปที่กรุงอังวะ พม่า 

ต่อมา… เมื่อพม่าย้ายราชธานี พระองค์ก็ต้องทรงย้ายไปที่กรุงอมรปุระด้วย และเสด็จสวรรคตที่นั่น 

เป็นที่มาของพระนามดังกล่าว ซึ่งเป็นอีกพระนามหนึ่ง ของ “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” กษัตริย์แห่งอยุธยา ที่หลายคนรู้จักกันดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.finearts.go.th/storage/contents/2021/02/file/EyDxGetDggtRaEcRGaqXhvQPNJpBxT233i1zsbfw.pdf

https://www.silpa-mag.com/history/article_15963


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2567