เผยแพร่ |
---|
ประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลาย เป็นประวัติศาสตร์ในความทรงจำโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ช่วงสงครามคราวเสียกรุงสืบต่อมาถึงช่วงการสถาปนาศูนย์กลางอำนาจรัฐขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงธนบุรีหรือกรุงเทพฯ เรื่องราวความทรงจำครั้งนั้นถูกบันทึก ผลิตซ้ำ และเล่าผ่านบทบาทและความสำคัญของผู้นำยุคเสียกรุงและกู้กรุง ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ สมเด็จพระเจ้าตากสิน และสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่านนี้ได้ถูกถ่ายทอดผ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญ หากแต่หนึ่งในรัฐบุรุษสำคัญของยุคผลัดเปลี่ยนแผ่นดินซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่เป็นรองราชาผู้ปราชัย และวีรกษัตริย์ผู้สถาปนาและกอบกู้บ้านเมืองหลังกรุงแตกกลับปราศจากงานศึกษาค้นคว้าเบื้องลึก
หนังสือเรื่องขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์ ของ รองศาสตราจารย์ ดร. ศานติ ภักดีคำ นับเป็นความพยายามแรกสุดในการประกอบสร้างพระราชประวัติรัฐบุรุษคนสำคัญในสมัยอยุธยาตอนปลาย เจ้าฟ้าดอกเดื่อหรือพระเจ้าอุทุมพรอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
กล่าวไปแล้วพระเจ้าอุทุมพร หาได้เป็นวีรบุรุษที่ถูกลืมเสียทีเดียว หากแต่พระองค์ไม่ได้รับความสนใจเพียงพอจากนักวิชาการช่วงหลังที่ตัดสินความสำคัญของผู้ครองแผ่นดินยุคเปลี่ยนผ่านผ่านผลแพ้ชนะของสงครามรบพม่าในปี พ.ศ. 2309-2310 เมื่อนำการปราชัยของกรุงศรีอยุธยามาเป็น “ตัวตั้ง” ความสำคัญของพระเจ้าอุทุมพรก็ถูกลดทอนลงด้วยพระองค์ถูกตัดสินว่าไม่เป็นผู้เห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เพราะมิยอมลาสิกขาบทออกมารบป้องกันพระนคร จนดูประหนึ่งว่าการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่กรุงปราศจากพระเจ้าอุทุมพรมาช่วยบัญชาการรบ
กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือพระราชพงศาวดารพม่า ถึงกับกล่าวตัดพ้อว่า “พระทูลกระหม่อมแก้วน้ำพระทัยช่างกระไรเลยจะแค้นกันไปถึงไหนอีก” ซึ่งอันที่จริงเหตุแห่งการเสียกรุงครั้งนั้นมีด้วยกันหลายปัจจัย และประการสำคัญประการหนึ่งคือ เป็นการพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ กระนั้นหากไม่นำผลการแพ้ชนะในสงคราม พ.ศ. 2309-10 มาใช้เป็นบรรทัดฐาน และศึกษาประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญของอยุธยาตอนปลายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็จะตระหนักว่า พระเจ้าอุทุมพรเป็นรัฐบุรุษสำคัญ ที่มีบทบาทในการแย่งชิงอำนาจ เสวยอำนาจ เสียอำนาจ และยังเป็นพระมหากษัตริย์อยุธยาพระองค์เดียวที่ดำรงพระชนชีพในต่างแดนจนเสด็จสวรรคต
การฟื้นประวัติรัฐบุรุษพระองค์นี้ในรูปชีวประวัติจึงนับเป็นการเปิดประเด็นประวัติศาสตร์ใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่ง รองศาสตราจารย์ ศานติ ได้ริเริ่มเปิดหน้าประวัติศาสตร์ที่ซ่อนเร้นส่วนนี้ได้อย่างน่าสนใจ และชวนติดตามยิ่ง
หนังสือ ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์ ได้ฟื้นพระราชประวัติพระเจ้าอุทุมพรโดยละเอียดผ่านข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ในหลักฐานทั้งข้างฝ่ายไทยและพม่า ตีแผ่ให้เห็นบทบาทและความสำคัญของพระเจ้าอุทุมพรตามมีในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศที่สะท้อนผ่านพระราชพิธีโสกันต์ที่จัดขึ้นอย่างอลังการ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเจ้าฟ้าพระองค์นี้ที่มีมาแต่รัชกาลก่อน ตลอดรวมถึงการที่พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ขึ้นดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือเจ้าวังหน้า ซึ่งมีอำนาจเป็นรองเพียงพระเจ้าแผ่นดินคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนมีระบุไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หากแต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากนักประวัติศาสตร์ จึงต้องขอชมเชยอาจารย์ศานติที่เล็งเห็นความสำคัญของรายละเอียดที่มีซ่อนเร้นอยู่ในพระราชพงศาวดารและนำข้อมูลมา “ประติดประต่อ” จนเห็นตัวตน ช่วยให้เห็นความสำคัญของพระเจ้าอุทุมพรที่มีมาเสียก่อนจะเสด็จขึ้นครองราชย์
เนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ (คลิกสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่)
บทที่ 1 สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ในการรับรู้ของเอกสารอยุธยา – พม่า
บทที่ 2 การเมืองเรื่องสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
บทที่ 3 ศึกอลองพญา ลาสิกขาสู้ศึก – ศึกมังระ ไม่สละสมณเพศ
บทที่ 4 จากอยุธยาสู่อังวะ และอมรปุระ: เส้นทางสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
บทที่ 5 บั้นปลายพระชนมชีพในอมรปุระจากหลักฐานพม่า
หมายเหตุ : สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กับกรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) ที่ทรงมีพระชะตาพลิกผันยิ่ง
เมื่อเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลถูกลงโทษจนทิวงคต (เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์) ทำให้ตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่างลง
พระราชโอรสที่มีอิสริยยศและอยู่ในลำดับที่จะได้ขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มี เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (พระเชษฐาร่วมพระราชชนกและพระราชชนนีเดียวกัน) และเจ้าฟ้าอุทุมพร หากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเลือกสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร แทนตำแหน่งที่ว่าง และโปรดให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์เสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดละมุด ปากจั่น
ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระประชวรหนัก จึงได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เรื่องราวไม่ได้เป็นไปโดยง่าย คลิกอ่านประวัติพระเจ้าอุทุมพรเพิ่มเติมจากบทความ “ตามรอย ‘สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร’ จากกรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงอังวะ” ที่นี่
คลิกอ่านเพิ่มเติม : ตามรอย ‘พระเจ้าอุทุมพร’ และเชลยกรุงศรีฯ ถูกกวาดต้อนไปกรุงรัตนปุระอังวะ-อมรปุระ
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากคำนิยมโดย ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ในหนังสือ “ขุนหลวงหาวัด กษัตริย์ผู้เสียสละราชย์” และนำมาเรียบเรียงใหม่ จัดย่อหน้าและเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาเผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561