ตามรอย “คำให้การ” ชาวกรุงเก่า-ขุนหลวงหาวัด ได้มาอย่างไร หลักฐานใดน่าเชื่อถือกว่า?

หน้าปกคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด (ภาพจาก vajirayana.org)

หลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่าง “คำให้การ” ที่คุ้นเคยกันดีอย่าง “คำให้การชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” นอกเหนือจากเนื้อหาที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งสองคำให้การก็มีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง ในที่นี้จะกล่าวถึงที่มาที่ไปว่าได้มาจากพม่าอย่างไรกว่าจะถูกตีพิมพ์ และหลักฐานชิ้นใดน่าเชื่อถือกว่ากัน?

ขุนหลวงหาวัด

คำให้การขุนหลวงหาวัด ต้นฉบับเป็นภาษามอญ ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีชื่อเรียกในภาษามอญว่าอย่างไร แต่ชื่อแปลภาษาไทยของคณะผู้แปลในชั้นต้นคือ “พระราชพงศาวดารแปลจากภาษามอญ”

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า “เห็นจะเป็นพวกพระมอญที่ออกไปธุดงค์ถึงเมืองมอญ เมืองพม่า เมื่อในรัชกาลที่ 4 ไปได้ฉบับภาษารามัญเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงอำนวยการแปลออกเป็นภาษาไทย”

คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท และคณะแปลขึ้นนี้ สันนิษฐานว่าอาจถูกลักลอบคัดลอกออกไปจากหอหลวง จนได้มีการคัดลอกแจกจ่ายกันไปในภายหลัง กระทั่งเป็นเหตุให้หมอสมิธ (Samuel John Smith) ได้มาไว้ในครอบครองและตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2426 นอกจากหมอสมิธแล้วยังมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และนายกุหลาบ ก็ครอบครองต้นฉบับเดียวกันนี้เก็บไว้ด้วยเช่นกัน

คนที่ลักลอบคัดลอก คือ นายกุหลาบ อ้างอิงจากคำอธิบายของกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ถึง พ.ศ. 2426 นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง ส่งไปให้หมอสมิธที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ คือคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาไปเล่าเรื่องพงศาวดาร และขนบธรรมเนียมไทยแก่พม่า พอหนังสือเรื่องนั้นพิมพ์ออกจำหน่ายใครอ่านก็พากันพิศวงด้วยฉบับเดิมเป็นหนังสือซ่อนอยู่ในหอหลวงลับลี้ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้มาจากไหน…”

อย่างไรก็ตาม คำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่เก็บรักษาในหอหลวงนี้มีความไม่สมบูรณ์ เนื้อหาขาดตกบกพร่อง เมื่อถูกลักลอบคัดลอกออกมาทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน ซ้ำยังมีการแต่งเติมเรื่องเข้าไปใหม่ในการตีพิมพ์ของฉบับหมอสมิธ ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงวิจารณ์ว่า “พิสดารฟั่นเฟือเหลือเกิน จนจับได้ซัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่”

คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหมอสมิธ แบ่งเนื้อหาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นเรื่องลำดับเหตุการณ์มีลักษณะเดียวกับพระราชพงศาวดาร เริ่มจากเรื่องพระนเรศวร และจบที่เรื่องพระบรมเอกทัศ แต่ต้นฉบับที่พิมพ์ในส่วนพระราชพงศาวดารนั้นยังขาดความครบถ้วน เพราะต้นฉบับขาดหายไปหลายตอน

ส่วนที่ 2 เป็นการพรรณนาภูมิสัณฐานของพระนคร และการพระราชพิธีต่าง ๆ เป็นส่วนที่นายกุหลาบนำความจากคำให้การอื่นที่นอกเหนือจากคำให้การที่แปลจากภาษามอญปลอมปนเข้ามา ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ อธิบายในส่วนนี้ว่า คำให้การตามกล่าวนี้ไม่ได้เป็นคำให้การของเชลยไทยที่ถูกพม่ากวาดต้อนไป หรือก็ไม่ใช่เป็นคำให้การของพระเจ้าอุทุมพรตามชื่อที่ปรากฏในพระนามขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม แต่เป็นคำให้การของคนกรุงเก่ายุคธนบุรี และต้นกรุงเทพ คำให้การนั้นน่าจะประมวลและชำระสืบทอดกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอย่างช้า

ความในส่วนที่ 2 นี้มีชื่อเรียกต่างกันไปว่า พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยาบ้าง อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยาบ้าง และคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมบ้าง

นอกจากนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงระบุว่า รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเคยพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า “หนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นฉบับเดิมจะได้มาอย่างไรแลได้มาเมื่อไรไม่ทรงทราบ แต่ฉบับหอหลวงมีจริงได้เคยทอดพระเนตรเห็นมาแต่ก่อน แต่ไม่เหมือนกับฉบับที่หมอสมิธพิมพ์…”

กระทั่ง หอสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับที่ทำมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 เป็นฉบับหลวงมาตีพิมพ์ ซึ่งเพิ่งค้นพบใน พ.ศ. 2454 และตีพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2459 ให้ชื่อว่า “คำให้การขุนหลวงหาวัด (ฉบับหลวง)” โดยเหตุที่ต้องมีคำว่า “ฉบับหลวง” กำกับก็เพื่อแสดงว่าเป็นฉบับที่ราชการจัดพิมพ์เป็นที่น่าเชื่อถือ

ชาวกรุงเก่า

คำให้การชาวกรุงเก่า ต้นฉบับเป็นภาษาพม่า มีชื่อเดิมในภาษาพม่า คือ “โยธยา ยาสะวิน” (Yodaya Yazawin) หรือ “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา”

คำให้การชาวกรุงเก่า ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2457 โดยหอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ. 2454 นายทอ เซียงโก (Taw Sein Ko) บรรณารักษ์หอสมุดของรัฐบาลอังกฤษที่เมืองย่างกุ้ง เป็นผู้ช่วยจัดคัดต้นฉบับส่งมาให้ จากนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ให้มองต่อแปลออกเป็นภาษาไทย สำเร็จใน พ.ศ. 2455

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ข้อสังเกตว่า “เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านคำแปลก็มีความประหลาดใจแต่แรก ด้วยสังเกตเห็นพงศาวดารที่ได้มาจากเมืองพม่าฉบับนี้รูปเรื่องละม้ายคล้ายคลึงกับหนังสือที่เราเรียกว่า ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ มากทีเดียว จึงได้ให้ถามไปยังหอสมุดที่เมืองร่างกุ้ง ว่าพงศาวดารสยามฉบับนี้รัฐบาลอังกฤษได้มาจากไหน ได้รับตอบมาว่า หนังสือเรื่องนี้รัฐบาลอังกฤษพบในหอหลวงในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมันดะเล ครั้งตีเมืองพม่าได้เมื่อ พ.ศ. 2428 และอธิบายต่อว่า หนังสือนี้พวกขุนนางพม่าชี้แจงว่า พระเจ้าอังวะให้เรียบเรียงจากคำให้การของพวกไทยที่ได้ไปเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อได้ความดังนี้ก็ไม่เป็นที่สงสัยต่อไปเชื่อได้เป็นแน่ว่า หนังสือเรื่องนี้เองเป็นต้นเดิมของหนังสือ ซึ่งเรียกกันว่า ‘คำให้การขุนหลวงหาวัด’ ฉบับที่ได้มาใหม่นี้ คือคัดจากฉบับหลวงของพม่า”

ดังนั้น คำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด สันนิษฐานว่ามีที่มาจากแหล่งเดียวกัน ฉบับหนึ่งแปลจากภาษามอญ ฉบับหนึ่งแปลจากภาษาพม่า โดยเหตุที่มีสองสำนวนนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เมื่อพระเจ้าอังวะ (น่าจะเป็นพระเจ้ามังระ หรือเซงพยูเชง/Hsinbyushin, พ.ศ. 2306-19) มีรับสั่งให้ถามคำให้การของไทยที่ได้มาในคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 นั้น “บางทีจะเกิดลำบากด้วยเรื่องล่าม หากพม่าที่รู้ชำนาญภาษาไทยไม่ได้มีแต่มอญที่มาเกิดในเมืองไทยที่รู้ภาษาไทยชำนาญ จึงให้ถามคำให้การพวกไทย จดลงเป็นภาษามอญเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงแปลเป็นภาษาพม่ารักษาไว้ในหอหลวง เห็นจะเป็นเพราะเหตุเช่นกล่าวมา หนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าจึงมีทั้งในภาษามอญและภาษาพม่า”

สรุป

ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ อธิบายว่า คำให้การชาวกรุงเก่าไม่เพียงมีเนื้อหาที่สมบูรณ์กว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งความส่วนใหญ่ขาดหายไป แต่ยังมีหลักฐานยืนยันว่า คำให้การชาวกรุงเก่ายังเป็นเอกสารที่มีที่มาที่ไป ระบุแน่ชัดว่า เป็นเอกสารจากหอหลวง ที่ถูกเก็บรักษาในพระราชวังเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้ดูมีความน่าเชื่อถือกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งไม่แจ้งที่มาที่ไปแน่ชัด สันนิษฐานเพียงว่าพระมอญนำมาทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 4

ดังนั้น นักประวัติศาสตร์จึงให้ความสำคัญและตีค่าคำให้การชาวกรุงเก่าสูงกว่าคำให้การขุนหลวงหาวัด ต่อประเด็นนี้กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า “เมื่อเอาเทียบกันดู เห็นฉบับภาษามอญ [คำให้การขุนหลวงหาวัด-ผู้เขียน] บกพร่อง ความไม่สมบูรณ์เหมือนฉบับภาษาพม่า [คำให้การชาวกรุงเก่า-ผู้เขียน] ข้อนี้ดูก็ไม่อัศจรรย์อันใด ด้วยฉบับภาษามอญเห็นจะตกอยู่ตามหัวเมืองคัดลอกกันมาหลายต่อจึงไม่บริบูรณ์เหมือนฉบับพม่า ซึ่งเป็นของหลวง”

“คงเป็นด้วยความไม่สมบูรณ์ของหลักฐานประกอบกับการประเมินค่าของเจ้านายนักประวัติศาสตร์ จึงส่งผลให้นักประวัติศาสตร์ในรุ่นต่อ ๆ มาให้ความสำคัญกับคำให้การชาวกรุงเก่าเป็นสำคัญ การปรากฏตัวของคำให้การชาวกรุงเก่า จึงมีส่วนลดทอนคุณค่าและความสำคัญของคำให้การขุนหลวงหาวัดไปโดยปริยาย” ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ กล่าวสรุป

 


อ้างอิง :

สุเนตร ชุตินธรานนท์. (เมษายน, 2560). เปิดกรุคำให้การขุนหลวงหาวัด. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 : ฉบับที่ 6.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2564