
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาวต่างชาติในกองทัพอยุธยา คราวสงครามเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310
“กรุงศรีอยุธยา” ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองท่านานาชาติ” ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาค ทำให้มีชาวต่างชาติเข้ามาอาศัยมากมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย แขกจาม แขกมลายู แขกมักกะสัน มอญ ลาว ญวณ เขมร โปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ดัตช์ ฯลฯ
เมื่อถึงสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในช่วง พ.ศ. 2308-2310 บรรดาชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพระนคร และโดยรอบพระนครที่รวมตัวกันเป็นชุมชน ก็ต่างเข้าร่วมกับกองทัพอยุธยาต่อสู้กับกองทัพพม่า
จาก “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงชาวต่างชาติในกองทัพอยุธยาที่อาสาออกไปต่อรบกับกองทัพพม่าที่มีทั้ง จีน ฝรั่ง แขก มอญ ลาว ดังนี้
“…ฝ่ายข้างกรุงนั้นขึ้นหน้าที่เชิงเทินรักษาบ้านเมืองตรวจตราหน้าที่ทั้งกลางวันกลางคืน หน้าที่ผู้ใดรักษาหน้าที่ผู้นั้น
แล้วจึ่งขุนนางเจ๊กทั้งสี่คน คือ หลวงโชฎึก หลวงท่องสื่อ หลวงเนาวโชติ หลวงเล่ายา ทั้งสี่คนกับพวกเจ๊กเป็นอันมาก จึ่งอาสาออกไปตีค่ายสวนพลู ได้รบพุ่งกันเป็นอันมาก
ฝ่ายฝรั่งมีชื่อ คือ กรุงพานิช ฤทธิสำแดง วิสูตรสาคร อังตน กับเหล่าฝรั่งเป็นอันมากนั้น อาสาออกตีค่ายบ้านปลาเห็ด ก็ได้รบพุ่งกันเป็นอันมาก บ้างล้มตายทั้งสองฝ่าย
แล้วจึ่งเหล่าพวกโจรออกอาสา คือ หมื่นหาญกำบัง นายด้วงไวยราพ นายจันเสือเตี้ย นายมากสีหนวด พวกโจรใหญ่สี่คนกับพวกโจรทั้งปวง พระหมื่นศรีเสาวรักษ์เป็นแม่ทัพ กับเหล่าอาทมาตและสมกำลังทั้งปวงออกมาอาสาตีค่ายป่าไผ่ ได้รบกันกับพม่าเป็นอันมาก ฝ่ายพม่าก็ล้มตายเจ็บป่วยเป็นอันมาก ข้างไทยก็ล้มตายเจ็บป่วยทั้งสองฝ่าย
แล้วจึ่งขุนนางแขกออกอาสา คือ หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรขันธ์ ขุนราชนิทาน กับพวกแขกเทศ แขกจาม แขกมลายู แขกชวา บรรดาพวกแขกทั้งปวงเป็นอันมาก จึ่งตั้งพระจุฬาเป็นแม่ทัพ ยกออกไปตีค่ายบ้านป้อม ฝ่ายแม่ทัพแขกข้างพม่าชื่อเนโมยกุงนรัดเป็นแม่ทัพ ได้รบกันกับพระจุฬาบ้าง ก็ล้มตายเจ็บป่วยด้วยกันทั้งสองฝ่าย
เหล่าพวกมอญขุนนางที่มีชื่อ คือ หลวงเถกิง พระบำเรอภักดิ พระยาเกียรติ พระยาพระราม กับเหล่ามอญบ้านสามโคก บ้านป่าปลา บ้านหัวรอ กับพวกมอญทั้งปวงออกอาสา ได้รบกันเป็นอันมาก
แล้วจึ่งเหล่าลาวขุนนางมีชื่อ คือ แสนกล้า แสนหาญ แสนห้าว เวียงคำ กับพวกลาวกองหาญทั้งปวงเป็นอันมาก ออกอาสาตีค่ายพม่าได้รบพุ่งกัน…”

นี่เป็นข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งจากหลักฐานใน “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เผยสภาพให้เห็นได้ชัดเจนว่า ครั้งหนึ่งกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติ และในช่วงเวลาศึกสงครามพวกเขาก็ช่วยเหลือคนไทยอย่างสุดความสามารถ
อ่านเพิ่มเติม :
- วิลเลียม โพวนีย์ กัปตันชาวอังกฤษร่วมไทยสู้ศึกพม่า เมื่อก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2
- พม่าศัตรูประจําชาติ (ในอดีต) อยู่ที่ไหนในกรุงศรีอยุธยา
- เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี : ศรีปัญญา.
กำพล จำาปาพันธ์ และโมโมทาโร่. (2566). Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษาและโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาเคย์. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2567