ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดวีรกรรม “วิลเลียม โพวนีย์” กัปตันชาวอังกฤษเข้าร่วมฝ่ายไทย รบกับพม่าดุเดือด ก่อนชิ่งหนี!?
ในช่วงสงครามการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มีชาวต่างชาติที่ร่วมรบในกองทัพกรุงศรีอยุธยามากมาย ทั้ง แขก จีน ฝรั่ง หนึ่งในนั้นมีกัปตันชาวอังกฤษนามว่า วิลเลียม โพวนีย์ (William Powney) รวมอยู่ด้วย
วิลเลียม โพวนีย์ เกิดที่เมืองมัทราสในอินเดีย ไม่มีข้อมูลว่าเขาเกิดวันไหน แต่เขาได้รับศีลล้างบาปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1726 (พ.ศ. 2269 – ก่อนการเสียกรุงฯ 41 ปี)
โพวนีย์เกิดมาในครอบครัวผู้มีอันจะกิน ทำให้เขาได้ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (The East India Company – EIC) ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่เขาจะมาทำธุรกิจเดินเรือค้าขายเป็นของตนเอง แต่เขาก็ยังมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ EIC อยู่ และบางครั้งเขาก็ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ EIC ด้วย
โพวนีย์หรือที่ในพงศาวดารเรียกเขาว่า “อะลังกะปูนี” เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกในช่วงเวลาไม่นานหลังจากสงครามพระเจ้าอลองพญาผ่านพ้นไป โดยเขานำของขวัญหายากมาถวายแด่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ นั่นคือ สิงโต นกกระจอกเทศ ม้าอาหรับ และของล้ำค่าอื่นๆ
โพวนีย์กลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งใน พ.ศ. 2308 และในช่วงเวลานั้นเองที่เขาเป็นผู้ร่วมทำศึกกับพม่า เกิดวีรกรรมสงครามบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงตั้งแต่เมืองนนทบุรีถึงเมืองธนบุรี
พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกไว้ว่า “…ในขณะนั้นกำปั่นอังกฤษลูกค้าลำหนึ่ง บันทุกผ้าสุหรัด เข้ามาจำหน่าย ณะ กรุง โกษาธิบดีให้ล่ามว่ากับนายกำปั่นว่าถ้าพม่าจะเข้ามารบเอาเมืองธนบูรีอีก นายกำปั่นจะอยู่ช่วยหฤๅจะไปเสีย นายกำปั่นว่าจะอยู่ช่วยรบ แต่ขอให้ถ่ายมัดผ้าขึ้นฝากไว้ให้กำปั่นเบาก่อน ครั้นถ่ายมัดผ้าขึ้นแล้วก็ถอยกำปั่นล่องลงมา ทอดอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่…”
ต่อมา กองทัพพม่ายกเข้ามายึดป้อมวิไชยประสิทธิ์ แล้วเอาปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนป้อม ยิงตอบโต้กับเรือกำปั่นของโพวนีย์ จนเมื่อถึงเวลาค่ำ โพวนีย์จึงถอนสมอเรือล่องขึ้นไปพักอยู่เหนือเมืองนนทบุรี สันนิษฐานว่าคงจะกลับมาตั้งตัวใหม่ เพราะพระยายมราช ขุนนางของกรุงศรีอยุธยา เคยตั้งทัพอยู่ที่เมืองนนทบุรี แต่เมื่อโพวนีย์ไปถึงก็ทราบว่าพระยายมราชเลิกทัพไปแล้ว ขณะที่กองทัพพม่าก็ได้ยกทัพแบ่งมาตั้งค่ายบริเวณวัดเขมา และตลาดแก้ว เป็นสองค่ายบนสองฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา
พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกต่อไปว่า “…ครั้นเพลากลางคืนนายกำปั่นจึ่งฃอเรือกราบลงมาชักสลุบช่วงล่องลงไปใหม่ หมีให้มีปากเสียง ครั้นตรงค่ายพม่าวัดเขมา ก็จุดปืนรายแคมพร้อมกันทั้งสองข้างยิงค่ายพม่าทั้งสองฟาก พม่าต้องปืนล้มตายป่วยลำบากแตกหนีออกหลังค่าย ครั้นเพลาเช้าน้ำขึ้นสลุบช่วงก็ลอยขึ้นมาหากำปั่นใหญ่ ซึ่งทอดอยู่เหนือเมืองนนทบูรี…”
ถือว่าโพวนีย์ใช้กลยุทธ์ที่เฉียบแหลมมาก ให้เรือลากเรือปืนลงมาอย่างเงียบเชียบในเวลากลางคืน แล้วโจมตีค่ายพม่าทั้งสองฝั่งแม่น้ำโดยไม่ทันตั้งตัว ทำให้กองทัพพม่าบาดเจ็บล้มตาย และหนีแตกกระเจิง อย่างไรก็ตาม โพวนีย์พยายามใช้กลยุทธ์นี้อีกครั้ง แต่คราวนี้ถูกกองทัพพม่าตลบหลัง พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกว่า
“…ฝ่ายทับพม่าก็ยกเข้าค่ายเมืองนนทบูรี ครั้นเพลาค่ำให้ชักสลุบช่วงล่องลงไปอีกปืนรายแคมยิงค่ายเมืองนนท พม่าหนีออกไปซุ่มอยู่ข้างหลังค่าย อังกฤษแลไทลงสำปั้นขึ้นไปเกบของในค่ายพม่า ๆ กลับกรูกันออกมาจากหลังค่ายไล่ฟันแทงไทแลอังกฤษ แตกหนีออกจากค่ายลงสำปั้น พม่าตัดศีศะล้าต้าอังกฤษได้คนหนึ่งเสียบประจานไว้หน้าค่าย…”
การพ่ายแพ้ในครั้งนี้คงทำให้โพวนีย์ติดต่อขออาวุธยุทโธปกรณ์จากราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเพิ่มเติม พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกว่า
“…นายกำปั้นจึ่งบอกกับล่ามว่า ปืนในกำปั่นกระสุนย่อมกว่าปืนพม่า เสียเปรียบฆ่าศึก จะขอปืนใหญ่กระสุนสิบนิ้วสิบกระบอก แล้วจะขอเรือพลทหารสิบลำจะลงไปรบพม่าอีก ล่ามกราบเรียนพญาพระคลัง ๆ กราบบังคมทูล จึ่งโปรดให้เอาปืนใหญ่สิบกระบอกลงบันทุกเรือใหญ่ไปขึ้นกำปั่น แต่ทับเรือสิบลำนั้นยังหาทันจัดแจงให้ไปไม่ ครั้นเพลาบ่ายอังกฤษล่องกำปั่นแลสลุบช่วงลงไป จนพ้นเมืองธนบูรีแล้วจึ่งทอดสมออยู่…”
แต่หลังจากนั้นโพวนีย์ก็ไม่ได้สู้รบกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาอีก เขาได้หลบหนีออกจากอาณาจักรแห่งนี้ไป แม้พงศาวดารจะระบุว่า โพวนีย์ได้ปืนใหญ่มาจากราชสำนัก แต่จากบันทึกของอาเดรียง โลเนย์ (Adrien Louney) ระบุว่า “…แต่ครั้นมิได้รับดินปืนและกระสุนที่เขาต้องการจากกรุงศรีอยุธยาเขาก็ละทิ้งชาวสยามสัมพันธมิตรที่ยังอ่อนหัดเสีย…”
โพวนีย์ไม่ได้ไปตัวเปล่า เขายังจับคนไทยไปอีกด้วยกว่าร้อยชีวิต พงศาวดารฉบับพระพนรัตน์บันทึกว่า “…ขณะนั้นไทในกรุงลอบลงเรือน้อยลงมาเก็บผลไม้หมากพลู ณะ สวน อังกฤษจับขึ้นไว้บนกำปั่นมากกว่าร้อยคน แล้วก็ใช้ใบหนีออกไปท้องชะเล ครั้นเพลาค่ำไทหนีขึ้นมาถึงพระนครได้บ้าง จึ่งรู้ว่ากำปั่นอังกฤษมิได้อยู่รบพม่าหนีไปแล้ว ได้แต่มัดผ้าซึ่งขนไว้สี่สิบมัด…”
และยังได้ปล้นเรือสำเภาจีนอีก 6 ลำ ก่อนแล่นเรือออกไปโดยไม่ย้อนกลับมาอีกเลย…
แล้วทำไมตอนแรกโพวนีย์ถึงร่วมต่อสู้กับกรุงศรีอยุธยา?
คำตอบคือ กองทัพพม่าเป็นฝ่ายโจมตีเรือของเขาก่อน นั่นคงทำให้เขารู้สึกแค้นมาก ดังที่โลเนย์ บันทึกไว้ว่า “กัปตันเรืออังกฤษคนหนึ่งชื่อ โปนี (Pauny) ได้นำเรือบรรทุกสินค้าเต็มสองลำมาจอดที่ท่าเรือ พระเจ้าแผ่นดินส่งคนไปชักชวนเขาให้มารบสู้กับพม่า โดยสัญญาจะให้ผลประโยชน์ทางการค้าตอบแทนหลายประการ กัปตันเรืออังกฤษแสดงความสนใจต่อคำชักชวนนั้นน้อยเต็มทีและเขาคงมิได้ตอบรับ ถ้าหากพม่ามิได้ไปโจมตีเรือของเขาก่อน…”
สอดคล้องกับข้อมูลของ ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (François-Henri Turpin) ก็ฉายภาพให้เห็นว่า โพวนีย์ไม่ได้ตั้งใจจะร่วมรบแต่แรก โดยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ขอให้โพวนีย์ช่วยป้องกันบ้านเมือง พระองค์ไว้วางพระราชหฤทัยในความกล้าหาญ และความสามารถของเขา มากกว่าข้าราชบริพารของพระองค์ที่ทั้งอ่อนแอ และขลาดกลัว
แต่โพวนีย์ก็รู้สึกหวั่นใจไม่น้อย เขาไม่มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของกองทัพกรุงศรีอยุธยา ประกอบกับการที่ชาวดัตช์ซึ่งตอนนั้นมีกิจการการค้าที่มีทรัพย์สินมหาศาลอยู่ในพระนคร พวกเขาก็ถึงขั้นยอมสละละทิ้ง และออกไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว
ตุรแปงเล่าว่าโพวนีย์ตัดสินใจจะไม่ช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา “…ชาวอังกฤษผู้กล้าหาญนี้ อ่อนแอเกินกว่าที่จะเสนอเข้าทำการป้องกัน และจิตใจสูงมากเกินกว่าจะยอมแพ้…” แต่โพวนีย์ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี จนเมื่อเขาตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของพวกพม่า ที่เตรียมยิงใส่เรือของเขา นั่นจึงทำให้เขาเปลี่ยนใจ
ตุรแปงบันทึกว่า “…เปานี ถูกความจำเป็นบังคับให้ยินยอมที่จะเข้าร่วมป้องกันเมืองหลวง…” โดยเหตุ “ความจำเป็น” ที่ทำให้โพวนีย์ต้องเข้าร่วมฝ่ายไทยก็เพราะกองทัพพม่าเป็นฝ่ายโจมตีเรือของเขาก่อนนั่นเอง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของโลเนย์
อย่างไรก็ตาม แม้พงศาวดารจะบอกว่า โพวนีย์ถ่ายมัดผ้าเก็บไว้ที่พระนครเพื่อทำให้เรือเบา แต่จากบันทึกของตุรแปงกลับให้ข้อมูลต่างออกไป โดยโพวนีย์ร่วมรบกับกองทัพกรุงศรีอยุธยาอย่างมีเงื่อนไขว่าต้องส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นให้เขา ขณะเดียวกันราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็ขอให้โพวนีย์มอบมัดผ้าเก็บไว้ในพระนครเพื่อเป็นเครื่องประกันว่าจะไม่ทรยศ
ตุรแปงเล่าต่อไปว่า จากนั้นโพวนีย์ก็ได้ทำศึกกับกองทัพพม่า จนเมื่อเขาร้องขออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติม กลับถูกปฏิเสธ ตุรแปงมองว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยากลัวว่าโพวนีย์จะมีอำนาจมากเกินไป และอาจถึงขั้นยึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาเสียเอง เมื่อตอนที่โพวนีย์ขออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมนั้น พวกขุนนางก็อ้างว่ากองทัพพม่ากำลังมุ่งโจมตีอีกด้านหนึ่งของพระนคร จึงจำเป็นต้องใช้ปืนใหญ่ทั้งหมดในการต่อต้านศัตรู
ตุรแปงบันทึกว่า “…ชาวอังกฤษผู้นี้ต้องยุ่งยากมากในการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ เขาได้ตัดสินใจเลิกเกี่ยวข้องกับชนชาติ ซึ่งไม่รู้จักวิธีต่อสู้หรือวิธีสนับสนุนบุคคลซึ่งเป็นมิตรด้วยและพร้อมที่จะปกป้องพวกเขา…”
อย่างไรก็ตาม จากบันทึกของตุรแปงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โพวนีย์ไม่ได้หลบหนีไปโดยไม่บอกกล่าว เขาได้กราบทูลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ถึงเหตุผลในการละทิ้งหน้าที่ และการปล้นสำเภาจีน 6 ลำนั้น เขาก็ยังได้ให้ใบเสร็จไปถวายแก่กษัตริย์ ซึ่งสิ่งของที่เขาปล้นไปก็มีมูลค่าเท่ากับมัดผ้าที่เขาทิ้งไว้ในพระนคร
นักประวัติศาสตร์ยุคหลังหลายคนวิเคราะห์สภาพกรุงศรีอยุธยาในช่วงเวลานั้นว่า ปัจจัยหนึ่งในการล่มสลายของอาณาจักรมาจากระบบการเกณฑ์ไพร่ล้มเหลว เป็นเหตุให้ไม่มีกำลังคนใช้ในการทำศึกสงคราม
ในยามที่กรุงศรีอยุธยาขาดกำลังคนอย่างมาก การได้โพวนีย์มาร่วมรบย่อมช่วยเพิ่มศักยภาพของกองทัพกรุงศรีอยุธยาได้มาก แม้เราอาจไม่แน่ใจได้ว่าการมีโพวนีย์อยู่ช่วยจะเป็นเพียงแค่การซื้อเวลาหรือไม่ แต่จากทัศนะของโลเนย์กลับคิดว่า “วิลเลียม โพวนีย์” กัปตันชาวอังกฤษผู้นี้คือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับชัยชนะหากเขาไม่เดินทางออกไปจากแผ่นดินนี้เสียก่อน ดังที่โลเนย์บันทึกไว้ว่า
“…ความจริงถ้ากัปตันเรืออังกฤษผู้นี้มิได้กลับไป และคนไทยได้แลเห็นความกล้าหาญของเขา คนไทยอาจไม่พ่ายแพ้แก่พม่าในครั้งนี้ก็ได้ แต่เมื่อเขากลับไปแล้ว คนไทยก็เสียโอกาสสุดท้ายที่จะมีชัยชนะ…”
อ่านเพิ่มเติม :
- ป้อมเมืองบางกอก เดิมฝั่งซ้ายเคยมี “ป้อมวิไชยเยนทร์” ตั้งอยู่?
- บางกอก-ตลาดแก้ว-ปากเกร็ด ชาวดัตช์สมัยพระเจ้าปราสาททอง ระบุ เป็นแหล่งรายได้ของอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง เขียน, สมศรี เอี่ยมธรรม แปล. (2552). ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง. ธนบุรี : สหประชาพาณิชย์.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด. (2553). นนทบุรี : ศรีปัญญา
ศานติ ภักดีคำ ตรวจสอบและบรรณาธิการ. (2558). พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
ไกรฤกษ์ นานา. (2553). 500 ปี สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ไทย-โปรตุเกส. กรุงเทพฯ : มติชน.
Dhiravat na Pombejra. (2017). Alangkapuni: An English Captain at the Siege of Ayutthaya. Journal of Siam Society, Vol 105.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2567