ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ปวัตร์ นวะมะรัตน |
เผยแพร่ |
“พระตำหนักสวนกระต่าย” ที่ประทับ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครั้งยังเป็น “วังหน้า” ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระตําหนักสวนกระต่าย ตั้งอยู่ท้ายวัดพระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของ กรมขุนพรพินิต พระราชโอรส แต่หลังจากกรมขุนพรพินิตอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” แล้ว ก็ไม่ได้เสด็จไปประทับที่พระราชวังจันทร์อย่างธรรมเนียม ปฏิบัติและยังคงประทับอยู่ ณ พระตำหนักแห่งนี้ จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ในเวลาต่อมา
เมื่อครั้ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคต ได้เกิดเหตุวุ่นวายในราชสำนัก อันเนื่องมาจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างพระราชโอรสด้วยกัน พระตำหนักสวนกระต่ายซึ่งเป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรฯ (กรมขุนพรพินิต) จึงเป็นที่แวะเวียนเข้า-ออกของเหล่าบรรดาพระราชวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ที่จงรักภักดี เพื่อเตรียมความพรักพร้อมและป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดขึ้น ก่อนการสถาปนาพระมหากษัตริย์องค์ใหม่
พระตำหนักสวนกระต่ายเป็นเขตพระราชฐานมีกำแพงล้อมรอบ มีสระน้ำอยู่นอกกำแพงทางด้านทิศเหนือ เรียกว่าสระระฆัง จากหลักฐานการขุดค้นของพระยาโบราณราชธานินทร์พบว่า มีทางเสด็จฯ ของเจ้านายฝ่ายในเข้าไปทางท้ายวัดพระศรีสรรเพชญ์ และมีโรงอาลักษณ์ หอหลวง ใส่พระตำรับอยู่ในพระตำหนักสวนกระต่ายด้วย แต่ปัจจุบันสิ่งก่อสร้างดังกล่าวปรากฏเพียงซากฐานของพระตำหนัก ที่พอจะบอกให้รู้ขนาดของพระตำหนักองค์นี้ได้บ้าง ส่วนสระระฆังก็ยังมีสภาพเป็นสระน้ำอยู่ แต่ขนาดน่าจะเล็กกว่าเมื่อก่อนมาก เพราะกาลเวลาผ่านมาหลายร้อยปี
เมื่อเข้าชมวัดพระศรีสรรเพชญ์แล้ว ลองเดินไปที่ท้ายวัด จะเห็นประตูเล็ก ๆ ขนาดคนเดินเข้า-ออกได้ พ้นประตูไปก็จะเห็นฐานบนของพระตำหนักอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนทางขวามือก็คือสระระฆัง จากพระตำหนักแห่งนี้ยังสามารถเดินผ่านไปถึงคลองท่อหรือคลองฉะไกรใหญ่ ซึ่งเป็นคลองที่อยู่ท้ายพระราชวังหลวงฝั่งตะวันตก สำหรับชักน้ำเข้าไปใช้ในเขตพระราชฐาน ปัจจุบันมีสภาพไม่ต่างจากลำคูแคบ ๆ มีน้ำเลี้ยงไว้เพียงก้นคลอง
อ่านเพิ่มเติม:
- รู้จักพระอิสริยยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล “วังหน้า” ว่าที่กษัตริย์องค์ต่อไป
- รู้จัก “พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์” สุดอลังการ ที่มาพระนาม “สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ”
- พระราชโอรส “พระเจ้าท้ายสระ” ชวดบัลลังก์ เหตุ “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” มีกุนซือดี
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2563