ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
การเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าแผ่นดิน โดยเฉพาะการเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอชั้นเจ้าฟ้า ซึ่งทรงมีสิทธิในการเป็นรัชทายาทลำดับต้นๆ ทำให้เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระมารดาซึ่งทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลนั้นๆ ต้องทรงพิจารณาสตรีที่จะมาเป็น “พระสุณิสา” (สะใภ้) อย่างรอบคอบ แล้วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระภรรยาเจ้าทรงใช้เกณฑ์ใดคัดเลือกพระสะใภ้ในรัชกาลที่ 5
เปิดเกณฑ์คัดเลือก พระสะใภ้ในรัชกาลที่ 5
วีระยุทธ ปีสาลี เล่าประเด็นนี้ไว้ในบทความ “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนสิงหาคม 2561 ว่า
การเลือกสะใภ้เจ้าหรือการเลือกคู่ครองให้พระราชโอรส เป็นเรื่องที่ทำเป็นปกติในหมู่พระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ดังที่ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ตอนหนึ่งว่า

“เกือบจะบอกได้ว่าจะนึกพูดอะไรไม่สนุกเหมือนคิดจะมีบ้านเรือนมีลูกสะใภ้มีหลาน แต่เรื่องหาเมียให้ลูกนี้ แต่แม่ดูๆ มาถึง ๓ ปี ๔ ปี เข้านี่แล้ว ยังไม่เหมาะใจเลยจนต้องร้องว่าลูกสะใภ้แม่มันยังไม่เกิด”
ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงมีพระโอรสเพียงพระองค์เดียว และเป็นถึงสมเด็จเจ้าฟ้า จึงทรงพิถีพิถันในการสรรหาพระสุณิสาเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้สะใภ้ที่มีพระจริยวัตรอุปนิสัยใจคออันงดงาม และสมฐานะเกียรติศักดิ์ชาติตระกูล ดังนั้น จึงทรงพิจารณาเลยไปถึงบิดามารดาของฝ่ายหญิงด้วย ดังที่ทรงปรารภว่า
“เพราะใจแม่ที่จะนึกเลือก เดี๋ยวนี้ไม่แต่เลือกตัวผู้หญิงให้ดีสารพัดเหมือนดังเช่นที่ลูกกล่าวแล้ว มันเลือกเลยไปถึงตัวพ่อตาแม่ยายด้วย จึงต้องหายากนักเพราะมันขัดกันเสียดังนี้ คือถ้าตัวผู้หญิงพอจะเห็นว่าดี ก็ไปถูกพ่อตาที่ไม่ดี ถ้าท่านพวกที่อยากจะต้องการให้เป็นพ่อตาก็ไม่มีลูกสาวที่ถูกใจ มันขัดกันอยู่ดังนี้เสียร่ำไป”
การเลือกสะใภ้เจ้าที่คู่ควรกับเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า จึงต้องเลือกจากเจ้านายฝ่ายใน ซึ่งเป็นพระธิดาของพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่พระธิดาของพระราชอนุชาในรัชกาลที่ 5 นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ เส้นทางสู่การเป็นพระสะใภ้ในรัชกาลที่ 5 ในลักษณะแรก จึงเกิดจากการที่ผู้หลักผู้ใหญ่เลือกด้วยเห็นชอบในความเหมาะสมเท่าเทียมของชาติตระกูลและสถานภาพทางสังคม
ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงหมายพระเนตรเจ้านายฝ่ายในที่ถูกพระราชหฤทัย ไว้ให้เป็นคู่ครองของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระองค์ โดยจะทรงเลือกจากผู้ที่มีหม่อมมารดาเป็นสะใภ้หลวงหรือภรรยาเอกก่อนเป็นลำดับแรก

วีระยุทธ บอกในบทความอีกว่า ในกรณีนี้ ทรงหมายพระเนตร พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณา พระธิดาองค์กลางในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ที่ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์สว่าง ศิริวงศ์ สะใภ้หลวง ให้อภิเษกสมรสกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณาทรงเป็นที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 5 ด้วย จนพระองค์ถึงกับทรงเคยมีพระราชปรารภไว้ว่า “จะเลี้ยงหญิงกลางให้เป็นควีน”
หรือต่อมาตอนปลายรัชกาลที่ 5 ทรงหมายพระเนตร หม่อมเจ้าทิพรัตนประภา เทวกุล หรือ “หญิงโอ” พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ กับหม่อมใหญ่ เทวกุล ไว้ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เช่นกัน ดังที่รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชบันทึกว่า
“ส่วนหญิงโอนั้นฉันยังมิได้เคยรู้จักมักคุ้น และในเวลานั้นนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าหน้าตารูปร่างเปนอย่างไร, ทั้งคุณสมบัติก็ไม่ปรากฏว่ามีอย่างไร นอกจากที่เปนลูกเสด็จลุงกับแม่ใหญ่, (พวกลูกเมียน้อยของเสด็จลุงนั้น เสด็จแม่ท่านทรงตัดเอาออกนอกประเด็นหมด)”

หากไม่ใช่เจ้านายฝ่ายในที่เกิดจากภรรยาเอกแล้ว ก็อาจเป็นเจ้านายฝ่ายในที่เป็นข้าราชสำนักในพระองค์ ที่ทรงสนิทเสน่หา และได้รับการอบรมกิริยามารยาทมาเป็นอย่างดี
อาทิ ทรงหมายพระเนตร หม่อมเจ้าอุไรวรรณ ทองใหญ่ พระธิดาองค์โตในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม กับหม่อมจันทร์ ไว้ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
รวมทั้งทรงหมายพระเนตร หม่อมเจ้าปลื้มจิตร จิตรพงศ์ พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับหม่อมราชวงศ์ปลื้ม ศิริวงศ์ ไว้ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ต่างทรงเลือกคู่ครองด้วยพระองค์เอง โดยพระองค์แรกทรงสมรสกับสตรีชาวรัสเซีย ที่ต่อมาคือ “หม่อมคัทริน” ส่วนพระองค์ที่สองทรงสมรสกับสตรีสามัญชนผู้เป็นนางรำ ซึ่งต่อมาคือ “หม่อมแผ้ว”
อ่านเพิ่มเติม :
- พระสะใภ้หลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็น “เจ้า” มีกี่พระองค์ และพระองค์ใดบ้าง
- พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเลือกคู่ครองด้วยพระองค์เอง มีพระองค์ใดบ้าง?
- “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ” ผู้ครองพระทัย “เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ” แทนหม่อมคัทริน
- “หม่อมแผ้ว” ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ นางรำสามัญชน สู่ “สะใภ้หลวง” ร. 6
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2567