ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หนึ่งในเรื่องราวความรักแห่งราชสำนักที่เชื้อชาติมิอาจกั้น ต้องรวมเรื่องของ “สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ” กับ “หม่อมคัทริน” สตรีชาวรัสเซีย เข้าไปด้วย ทว่าหลังจากเวลาผ่านไป 13 ปี ความรักก็ต้องสิ้นสุดลง เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงมอบพระทัยแก่ “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ”

“สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ-หม่อมคัทริน”
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2426
เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น สมเด็จพระบรมชนกนาถก็ทรงส่งไปศึกษาต่างประเทศ เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ ก่อนที่ พ.ศ. 2441 จะเสด็จไปศึกษาด้านการทหารที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย และทรงอยู่ที่นั่นนานถึง 8 ปี
ระหว่างนั้นทรงพบรักกับ คัทริน เดสนิตสกี และทรงสมรสเป็นการส่วนพระองค์ จากนั้น พ.ศ. 2449 ก็ทรงพา “หม่อมคัทริน” เดินทางกลับมายังสยามด้วย

เหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตกใจให้ราชสำนักสยาม รัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พิโรธอย่างยิ่ง เพราะโดยนัยแล้ว สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ในการสืบราชสันตติวงศ์
แม้จะมีอุปสรรคความรักมากมาย ทั้งความแตกต่างด้านศาสนา ฐานันดรศักดิ์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี ทั้งยังมีเรื่องขนบธรรมเนียมในราชสำนัก ฯลฯ แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและหม่อมคัทรินก็ร่วมกันฝ่าฟันปัญหา ปรับตัว จนค่อยๆ ได้รับการยอมรับจากราชสำนัก
เมื่อหม่อมคัทรินให้กำเนิด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระราชนัดดาพระองค์แรกในสมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อ พ.ศ. 2451 หลายอย่างก็มีแนวโน้มดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : “พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์” พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 แรกประสูติทรงมีพระยศชั้นใด?
“หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ” ผู้ครองพระทัยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
ทว่าความรักของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถกับหม่อมคัทรินกลับสิ้นสุดลง หลัง 13 ปีผ่านพ้น
พ.ศ. 2461 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมคัทรินซึ่งขณะนั้นดำรงสถานะ “พระสะใภ้หลวง” แล้ว ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ประเทศรัสเซีย

คราวนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงรู้สึกว่า “…มาในคราวนี้ที่แคทยาไม่อยู่ ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างดีขึ้น พักผ่อนได้อย่างแท้จริง…” และทรงเปิดวังปารุสกวันต้อนรับพระญาติสนิท ที่มีพระประสงค์จะมาเยี่ยมเยียนพระองค์
การเปิดวังช่วงนั้นเอง ทำให้พระองค์ทรงพบกับหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ พระชันษา 15 ปี
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตฯ ทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ) กับหม่อมอ่อน ประสูติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 หากนับตามปฏิทินเดิม
ความมีชีวิตชีวาและความสดใสของท่าน ทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ที่ขณะนั้นพระชันษา 35 ปี ทรงมีชีวิตชีวามากขึ้น ทรงรู้สึกผูกพันและทรงมีพระประสงค์ให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตฯ เป็นคนพิเศษ
เมื่อหม่อมคัทรินเดินทางกลับสยามก็พบว่า พระทัยของพระสวามีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้หม่อมคัทรินจะพยายามประคับประคองชีวิตคู่ด้วยการให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงตัว ปรากฏหลัก
ฐานเป็นจดหมายที่มีถึงพระสวามีว่า
“…หม่อมฉันจะไม่หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ใส่ฝ่าบาทในเวลาที่ฝ่าบาททรงมีพระประสงค์ที่จะทรงงานหรืออ่านหนังสือพิมพ์ หม่อมฉันจะไม่เซ้าซี้ให้ฝ่าบาทต้องเสด็จกลับจากกระทรวงมาเสวยพระกระยาหารกลางวัน หรือเสวยชาที่วังพร้อมกับหม่อมฉันอีกต่อไป หม่อมฉันเพียงกราบทูลขอให้ฝ่าบาทรักและซื่อสัตย์จริงใจต่อหม่อมฉันเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาตลอด…”
แต่ที่สุด ก็ไม่มีสายสัมพันธ์ใดที่จะเชื่อมความรักระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถกับหม่อมคัทรินได้อีก ทั้งสองจึงแยกทางกัน
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตฯ ทรงเป็นพระชายาในเชิงพฤตินัยของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ เนื่องด้วยรัชกาลที่ 6 มิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสกสมรสกัน
กระทั่ง 2 ปีต่อมา เมื่อคราวสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถและพระชายาเสด็จประพาสสิงคโปร์ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถมีพระอาการประชวร และเสด็จทิวงคตอย่างไม่มีผู้ใดคาดคิด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2463
เมื่อเวลาเดินหน้าและทุกชีวิตต้องดำเนินต่อไป หลังจากนั้น หม่อมเจ้าหญิงชวลิตฯ ได้รับพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 ให้ทรงสมรสใหม่กับหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ กิติยากร (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ)
หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาศ พระชันษา 28 ปี สิ้นชีพิตักษัยที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ระหว่างทรงรักษาพระอาการประชวรที่นั่น
อ่านเพิ่มเติม :
- พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเลือกคู่ครองด้วยพระองค์เอง มีพระองค์ใดบ้าง?
- พระสะใภ้หลวงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็น “เจ้า” มีกี่พระองค์ และพระองค์ใดบ้าง
- รัชกาลที่ 6 ทรงร่างบทลงโทษ “เจ้านายที่สมรสกับสตรีต่างชาติ” โดยไม่ขออนุญาตไว้อย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567