ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อสยามต้องปรับตัวให้ทันโลกตะวันตก รัชกาลที่ 5 จึงทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในหลายประเทศแถบยุโรป ไม่เพียงความรู้ที่แต่ละพระองค์ทรงนำกลับมาเท่านั้น บางพระองค์ยังทรงนำชายาชาวต่างชาติกลับสยามด้วย ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงพระพิโรธ แล้วเมื่อล่วงเข้ารัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงร่างบทลงโทษ “เจ้านายที่สมรสกับสตรีต่างชาติ” ที่ไม่กราบทูลขอพระบรมราชานุญาตไว้อย่างไร?
เจ้านายที่สมรสกับสตรีต่างชาติพระองค์แรก
สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นเจ้านายที่ดำรงพระอิสริยยศสูงพระองค์แรกที่สมรสกับสตรีต่างชาติ
เมื่อเจริญพระชันษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงส่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ จากนั้นเสด็จไปศึกษาต่อด้านการทหารที่ประเทศรัสเซีย
ที่นั่นเองเป็นจุดกำเนิดความรักระหว่างเจ้าชายจากสยามกับหญิงสามัญชนชาวรัสเซีย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงตกหลุมรัก คัทริน เดสนิตสกี และทรงสมรสเป็นการส่วนพระองค์ โดยมิได้แจ้งข่าวนี้กับราชสำนักสยาม
เมื่อพระองค์พร้อมด้วย “หม่อมคัทริน” เสด็จกลับสยาม สมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงพระพิโรธ เนื่องด้วยสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถทรงเป็นรัชทายาทลำดับที่ 2 ในการสืบราชสันตติวงศ์
ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมคัทรินจึงไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อหม่อมคัทรินให้กำเนิดพระราชนัดดาพระองค์แรกในสมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ทรงเมตตาต่อพระราชนัดดาและหม่อมคัทริน
รัชกาลที่ 6 ทรงร่างบทลงโทษไว้อย่างไร?
แม้เจ้านายชั้นสูงและบรรดาเชื้อพระวงศ์ทรงทราบเป็นอย่างดีว่า ราชสำนักสยามไม่โปรดให้มีการสมรสกับสตรีต่างชาติ แต่เมื่อเรื่องความรักห้ามกันลำบาก จึงมีเจ้านายที่สมรสกับสตรีต่างชาติอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น
หม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (กรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสมรสกับ ลุดมิลา เซียร์เกเยฟนา บาร์ซูโควา สตรีชาวรัสเซีย ซึ่งต่อมาคือ “หม่อมลุดมิลา ทองใหญ่ ณ อยุธยา” เมื่อ พ.ศ. 2454
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทรงสมรสกับ เอลิซาเบธ ชาร์นแบร์เกอร์ สตรีชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมาคือ หม่อมเอลิซาเบธ รังสิต ณ อยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2455
ถึงเรื่องเจ้านายชั้นสูงสมรสกับสตรีต่างชาติจะไม่เคร่งครัดเข้มงวดเท่าสมัยรัชกาลที่ 5 เหตุผลหนึ่งอาจเพราะเจ้านายทั้ง 2 พระองค์มิได้ทรงอยู่ในลำดับต้นๆ ของการสืบราชสันตติวงศ์ ทว่ารัชกาลที่ 6 ก็ยังทรงถือเรื่องนี้อยู่ สะท้อนจากการที่พระองค์ทรงให้ร่างประกาศการสมรสของพระบรมวงศานุวงศ์กับชาวต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. 2457 ความตอนหนึ่งว่า
“เพราะเหตุที่พระบรมวงษานุวงษ์เปนผู้ที่ได้รับพระมหากรุณา โดยพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์เปนพิเศษ จึงทรงถือเอาพระเกียรติยศ ซึ่งดำรงอยู่ในตำแหน่งราชกุลปัตถัมภ์แสดงพระราชนิยมห้ามไว้ว่า
อย่าให้พระบรมวงษานุวงษ์ ตั้งแต่ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงไปจนถึงหม่อมเจ้า อันเสด็จประทับอยู่ในเมืองต่างประเทศไปแต่งงานกับชนชาวต่างประเทศก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถ้าท่านพระองค์ใดฝ่าฝืนขืนกระแสทำผิดต่อพระราชนิยมนี้จะลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ มีการขังไว้ที่กรมสนมพลเรือนเปนอย่างเบา”
“กรมสนมพลเรือน” ในร่างประกาศนี้ เป็นกรมย่อยสังกัดกรมวัง มีหน้าที่กักขังผู้กระทำความผิดภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทชั้นผู้ใหญ่ จนถึงข้าทาส ผู้กระทำความผิดจะถูกกักบริเวณในเขตพระราชฐาน โดยมีพวกสนมคอยดูแล
การคุมขังแบบนี้เรียกว่า “จำสนม” หรือ “ติดสนม” ซึ่งอาจเป็นคำที่คนยุคนี้ไม่ค่อยคุ้นหูกันแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- หญิงไทยแต่งงานกับต่างชาติ สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ โดนโทษ 6 สถาน อะไรบ้าง?
- ความในใจของ “หม่อมคัทริน” ถึง “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส” หลังชีวิตสมรสล่มสลาย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
วีระยุทธ ปีสาลี. “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2561.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. “กรมสนมพลเรือน”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2567