“หม่อมแผ้ว” ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ นางรำสามัญชน สู่ “สะใภ้หลวง” ร. 6

หม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ และหม่อมแผ้ว (ภาพ : Wikimedia Commons)

หม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ มีความสามารถด้านการรำเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเป็นที่ต้องพระทัยเจ้านายระดับ “เจ้าฟ้า” และเป็นหนึ่งในสามัญชนไม่กี่ท่าน ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีสถานะเป็น “สะใภ้หลวง”

หม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ

หม่อมแผ้ว เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดราว พ.ศ. 2443 (บ้างว่า พ.ศ. 2446) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่ออายุ 8 ปี ท่านได้เข้าถวายตัวเพื่อฝึกหัดนาฏศิลป์ในคณะละครวังสวนกุหลาบ ด้วยรูปโฉมงดงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย ประกอบกับตั้งใจฝึกฝนการรำจนเชี่ยวชาญ ทำให้เป็นที่โปรดปรานของเจ้าจอมมารดาและหม่อมท่านต่างๆ ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ และได้รับโอกาสแสดงเป็นตัวละครเอกทั้งละครในและละครนอก

สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา หม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
สมเด็จฯ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร)

การรำของท่านเป็นที่ต้องพระทัย สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) พระองค์จึงทรงรับเป็นหม่อม

ต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และทรงยกสถานะของหม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ขึ้นเป็น “สะใภ้หลวง”

หม่อมแผ้ว เคยให้สัมภาษณ์เล่าถึงชีวิตเมื่อครั้งเป็นหม่อมในวังสวนกุหลาบ ปรากฏข้อมูลในหนังสือ “เทิดเกียรติคุณ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี” อ้างถึงในบทความ “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล” เขียนโดย วีระยุทธ ปีสาลี ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ว่า

“ฉันได้เป็นชายาของเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา ฉลองพระเดชพระคุณอยู่ร่วมด้วยกัน ๑๐ ปี ซึ่งเป็นที่ปรากฏแก่พระบรมราชวงศ์ พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย ฉันได้เป็นชายาของพระองค์ท่านประมาณ ๑๐ ปี ฉันได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) พระราชทานให้และรับฉันเป็นสะใภ้หลวงคนหนึ่ง

หม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ
หม่อมแผ้ว (ภาพ : Wikimedia Commons)

พอดีทูลกระหม่อมย้ายไปอยู่อยุธยาฉันก็ตามไปอยู่ด้วย ชีวิตที่อยุธยาก็นับว่าสนุกดีพอสมควร เมื่อมาอยู่ที่อยุธยาฉันชอบขี่ม้ามากและเป็นคนที่ขี่ม้าเก่งคนหนึ่งโดยมากเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ ฉันชอบขี่ม้าไปภูเขาทอง วังโบราณ

เวลานั้นฉันช่างมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าเจ้าฟ้าอัษฎางค์ได้โปรดปรานฉันให้เป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย จะสังเกตได้จากการที่พระองค์ออกรับแขกที่พระที่นั่งจักรีก็ดีหรือมีการเลี้ยงอาหารเย็น ทูลกระหม่อมก็ให้ฉันตามเสด็จไปด้วย เรียกว่าไปไหนก็ไปด้วยกันซึ่งไม่พลัดพรากจากกัน

ต่อมาชีวิตอย่างน่าอนาถของฉันก็เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากเจ้าฟ้าพระองค์นั้นได้ทิวงคต ตอนนั้นพระองค์ท่านพระชนมายุได้ ๓๖ ปี ฉันอายุได้ ๒๕ ซึ่งฉันรู้สึกว้าเหว่และเศร้าโศกเป็นลมพับและรู้ว่าโลกนี้ช่างไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น”

หม่อมแผ้ว ชายาในเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ประสบกับความยากลำบาก เนื่องจากเมื่อสิ้นพระสวามีแล้วก็เหมือนใช้ชีวิตเพียงคนเดียว เนื่องจากไม่มีโอรสและธิดา ท่านเล่าถึงชีวิตช่วงนั้นไว้ว่า

“ฉันไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัวมาเลย เพราะฉันอยู่กับทูลกระหม่อมอัษฎางค์ เวลาฉันจะใช้ก็เบิกเอามาจากเจ้ากรม และเงินทั้งหลายแหล่ก็เป็นของทูลกระหม่อมอัษฎางค์ไม่ใช่ของหลวง

หลังจากทูลกระหม่อมเสด็จทิวงคต ฐานะฉันก็ยอบแยบสิ้นดี อยู่ต่อมาฉันจึงนึกว่าฉันจะลาออก… ฉันจึงเอาตราสะใภ้หลวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ไปถวายคืนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอลาออกจากตำแหน่งชายา”

ภายหลัง หม่อมแผ้วสมรสกับ ม.ร.ว.ตัน สนิทวงศ์ (พลตรี หม่อมสนิทวงศ์เสนี) ซึ่งรับราชการเป็นทูตทหารและเอกอัครราชทูตหลายประเทศในยุโรป และต่อมาท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น “ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี”

ท่านผู้หญิงแผ้วไม่เคยลืมความงดงามของนาฏศิลป์ไทย ท่านได้ถ่ายทอดทักษะและรูปแบบการรำสู่คนรุ่นหลัง และได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) เมื่อ พ.ศ. 2528

ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2543 สิริอายุ 96 ปี ยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วีระยุทธ ปีสาลี. “สะใภ้เจ้า : จากสตรีสามัญสู่สายสัมพันธ์แห่งราชตระกูล”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2561.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2567