เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ พระราชธิดาพระองค์น้อยใน ร. 5 ผู้สิ้นพระชนม์พร้อม “พระนางเรือล่ม”

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาผู้เป็นที่รักยิ่งในสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ราว 3 ปีก็สิ้นพระชนม์พร้อมด้วยพระมารดาในอุบัติเหตุเรือล่ม เมื่อครั้งเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2423

ที่มาพระนาม “เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทั้งหมด 6 พระองค์

ในจำนวนนี้ พระราชธิดา 3 พระองค์ ต่อมาทรงเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระมารดา เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสนิทเสน่หาอย่างยิ่ง ช่วงที่ทรงมีพระครรภ์ รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นห่วงพระมเหสีพระองค์นี้อย่างมาก เมื่อครั้งทรงมีพระอาการประชวรพระครรภ์ รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯ ไปเฝ้าพระอาการอย่างใกล้ชิด โดยมิได้บรรทมตลอดคืน ต่อเมื่อพระอาการดีขึ้น ถึงได้เสด็จฯ ออกรับแขกเมือง แล้วเสด็จฯ ยังพระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์อีกครั้ง เพื่อเฝ้าพระอาการ

อ่านเพิ่มเติม : “พระภรรยาเจ้า” ในรัชกาลที่ 5 มีกี่พระองค์ และพระองค์ใดบ้าง? 

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 ยังความชื่นพระทัยมาสู่รัชกาลที่ 5 เป็นที่ยิ่ง

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการสมโภชพระเจ้าลูกเธอขึ้นตามโบราณราชประเพณี 3 วัน และพระราชทานพระธำมรงค์เพชรน้ำงาม 2 วง และนาฬิกาข้อพระกรฝังเพชร 1 เรือน แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ นอกจากเปี่ยมด้วยคุณค่าแล้ว ด้านมูลค่าก็นับว่าสูงกว่าสิ่งของที่พระองค์พระราชทานแด่พระมเหสีพระองค์อื่น

เนื่องด้วยพระราชธิดาพระองค์นี้ทรงมีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาตั้งแต่แรกประสูติ เป็นเสมือนเครื่องประดับหู รัชกาลที่ 5 จึงพระราชทานนามพระราชธิดา มีความหมายรวมเปรียบได้ดั่งเครื่องเพชรประดับพระกรรณ

“สมเด็จพระนางเรือล่ม”

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ได้เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ขึ้น เมื่อเกิดเหตุ “เรือล่ม” ขณะเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน ส่งผลให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สวรรคต ขณะที่พระราชธิดาพระองค์น้อยและพระราชโอรสในพระครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ก็ล้วนสิ้นพระชนม์ด้วยเช่นกัน

ก่อนการเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน (ฝัน) บอกเหตุในคืนก่อนวันสิ้นพระชนม์ว่า

พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอได้เสด็จไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ขณะเสด็จข้ามสะพาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอบังเอิญพลัดตกลงไปในน้ำ พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้ได้ครั้งหนึ่ง แต่แล้วก็ลื่นหลุดพระหัตถ์ไปอีก ทรงตามไขว่คว้าจนพระองค์เองตกลงไปในน้ำด้วย ทรงหวั่นพระทัยว่าพระสุบินนี้จะเป็นลางร้าย แต่สุดท้ายก็เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอิน

สุสานหลวง วัดราชบพิธ สุนทานุสาวรีย์ พระสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
สุสานหลวง วัดราชบพิธ ภายในมี “สุนันทานุสาวรีย์” บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 (ภาพ : J. Antonio, Public domain, via Wikimedia Commons)

วันเสด็จประพาส ปรากฏว่าเรือพระประเทียบในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ชนเข้ากับเรือพระประเทียบลำอื่นจนล่ม ที่บางพูด นนทบุรี ประกอบกับความเคร่งครัดในกฎมณเฑียรบาล ที่ระบุชัดเจนว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิเช่นนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล ทำให้การช่วยเหลือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และพระราชธิดาล่าช้าไม่ทันการณ์

รัชกาลที่ 5 ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยเป็นอันมาก ทรงจัดการงานพระศพพระมเหสีและพระราชธิดาอย่างสมพระเกียรติ

ต่อมามีการอัญเชิญพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ บรรจุใน “สุนันทานุสาวรีย์” ภายในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรางคารและอัฐิของเจ้านายชั้นสูงผู้เป็นที่รักยิ่งในพระองค์

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “มหามกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๖๑ ปี วันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี”.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี. “มหามงกุฎราชสันตติวงศ์ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๒๑ วันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี”.

โชติกา นุ่นชู. “ย้อนรอยโศกนาฏกรรม ตำนานเรื่องเล่าของ “สมเด็จพระนางเรือล่ม” อัครมเหสีในรัชกาลที่ 5”.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2567