ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
สงสัยกันไหม หลายสถานที่ในจังหวัดนนทบุรีมักมีคำว่า “เกร็ด” ร่วมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เกาะเกร็ด ปากเกร็ด ลัดเกร็ด อ้อมเกร็ด เหตุใดเป็นเช่นนั้น?
แน่ทีเดียว คำว่า “เกร็ด” มิได้หมายถึง เกล็ดปลา เกล็ดงู เกล็ดนาคที่ไหน แม้ภาพถ่ายทางอากาศจะเผยให้เห็นว่าบริเวณเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีรูปร่างเหมือนเกือกม้า และคล้าย “เกล็ด” ของปลา
เพราะ เกร็ด (หรือ เตร็จ) ที่มี ร. เรือ ควบกับ ก. ไก่ มีความหมายที่ต่างออกไป
ความหมายแรกคือ ส่วนย่อย หรือส่วนเบ็ดเตล็ด เป็น “เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย” อาจเป็นเรื่องสนุกหรือน่าสนใจที่แทรกอยู่ในเรื่องใหญ่ ๆ อีกที เช่น เหตุการณ์สั้น ๆ ในชีวประวัติบุคคลสำคัญ
อีกความหมายคือ ลำน้ำเล็ก ๆ ที่เป็นทางลัด หรือทางเชื่อมระหว่างลำน้ำใหญ่ “สายเดียวกัน”
สายเดียวกันยังจะเชื่อมอะไรอีก? ลักษณะดังกล่าวจะพบในแม่น้ำที่ไหลคดโค้งมาก ๆ จนแผ่นดินกลายเป็นคุ้ง-แหลมที่มีลำน้ำสายเดียวกันขนาบ เมื่อเกิดการขุดคลองลัดเชื่อมจุดที่คดโค้งดังกล่าวเข้าหากัน แนวคลองที่เกิดใหม่นี้เองที่เรียกว่า เกร็ด ซึ่งจะช่วยให้การเดินเรือสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปอ้อมตามแนวลำน้ำเดิม
แน่นอนว่า -เกร็ด ของนนทบุรีเกี่ยวข้องกับความหมายที่ 2 เพราะเมื่อพุทธศักราช 2265 ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ โปรดให้ขุดคลองลัดลำน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ณ จุดที่มีการไหลอ้อมคดเคี้ยวจนกลายเป็นรูปเกือกม้า เรียกว่า “เกร็ด” ทั้งนี้ สันนิษฐานว่ามีการขุดทางน้ำเล็ก ๆ โดยชาวบ้านเพื่อทำการเกษตรแถบนั้นมาก่อนแล้ว
เมื่อแรกขุดคลอง สภาพความเป็นเกาะยังไม่ชัดเจน เพราะคลองใหม่ยังไม่กว้าง จึงเรียก “เกร็ด” ตามที่เรียกกันมาแต่เดิม แต่เมื่อนานวันเข้า กระแสน้ำเปลี่ยนมาเข้าทางคลองขุดใหม่ แล้วกัดเซาะตลิ่งสองฝั่งคลองจนพังทลาย เกร็ดจึงขยายกว้างและลึกขึ้นเรื่อย ๆ จึงเรียกว่า “คลองลัดเกร็ด”
ส่วนลำน้ำเจ้าพระยาสายเดิม เมื่อเส้นทางการไหลของกระแสน้ำเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดตื้นเขินจนมีสภาพไม่ต่างจากคลอง เรียกว่า “คลองอ้อมเกร็ด” หรือแม่น้ำอ้อมเกร็ด ซึ่งปัจจุบันคลองลัดเกร็ดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้วเรียบร้อย
แผ่นดินระหว่างคลองลัดเกร็ดกับคลองอ้อมเกร็ดที่เป็นแหลมจึงถูกตัดขาดอย่างชัดเจน และถูกเรียกขานว่าเกาะ กลายเป็น “เกาะเกร็ด” ไปในที่สุด
ส่วน “ปากเกร็ด” อ้างอิงจากตำแหน่งบ้านปากเกร็ด ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ฝั่งตะวันออกของคลองลัดเกร็ด คำว่า ปาก ในที่นี้มีความหมายเดียวกันกับ ปากน้ำ หรือปากคลอง คือช่องทางน้ำที่เชื่อมกับทางน้ำใหญ่ (แม่น้ำเจ้าพระยา) จึงเรียกตำแหน่งข้างต้นว่าปากเกร็ดนั่นเอง
ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ เกาะเกร็ด ปากเกร็ด ลัดเกร็ด อ้อมเกร็ด ณ จังหวัดนนทบุรี
อ่านเพิ่มเติม :
- “เจดีย์เอียง” วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด เมื่อยังไม่เอียง
- คลองพระโขนง คลอง [หนึ่ง] ที่คนรู้จักมากที่สุดในไทย
- จุดประสงค์การขุด “คลอง” ในประวัติศาสตร์ไทย ที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. เกร็ด. 7 เม.ย. 2550. (ออนไลน์)
ห้องสมุด มสธ. ขุดเกร็ด เกิดเกาะ. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2567. (ออนไลน์)
พิศาล บุญผูก. (2553). ภูมินามอำเภอปากเกร็ด. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กันยายน 2567