ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ใครไปเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อาจสะดุดตากับ “ตะเกียงโรมันโบราณ” ใบหนึ่ง ที่จัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ตะเกียงใบนี้โดดเด่นด้วยประวัติความเป็นมา ที่สะท้อนประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าข้ามโลกระหว่างดินแดนตะวันตกกับชุมชนโบราณพงตึก ในพื้นที่ที่ปัจจุบันอยู่ใน จ. กาญจนบุรี
ตะเกียงโรมันโบราณ หลักฐานการค้ากว่า 1,500 ปี
กรมศิลปากร ให้ข้อมูลว่า ตะเกียงใบนี้ขุดพบที่ ต. พงตึก อ. ท่ามะกา จ. กาญจนบุรี ราชบัณฑิตยสภามอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2470
ตะเกียงโรมันเก่าแก่หล่อด้วยสำริด ปลายด้ามมีช่องสำหรับวางไส้ตะเกียง ด้านบนมีฝาเปิด หล่อเป็นรูปเทพเจ้าซิเลนุส (Silenus) ผู้เป็นทั้งสหายและอาจารย์ของเทพเจ้าไดโอนีซุส (Dionysus) เทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่นของโรมัน ด้ามจับหล่อเป็นลายใบปาล์มและโลมาคู่หันหน้าเข้าหากัน
สันนิษฐานว่า ตะเกียงนี้อาจหล่อขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมืองท่าทางทะเลในอียิปต์ เมื่อครั้งอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมันราวก่อนพุทธศตวรรษที่ 6 หรืออาจหล่อขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 หรือกว่า 1,500 ปีมาแล้ว
มีการคาดคะเนอีกเช่นกันว่า ตะเกียงโรมันใบนี้คงเป็นของพ่อค้าชาวอินเดีย ที่นำเข้ามาในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เนื่องจากบริเวณที่พบ คือ “พงตึก” ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าที่พ่อค้าชาวอินเดียเคยเดินทางผ่านไปมา
อีกหลักฐานที่สอดคล้องกัน คือ “เหรียญโรมันสำริด” พบที่เมืองโบราณอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ด้านหน้าเป็นรูปจักรพรรดิวิกโตรินุส (Victorinus) สวมมงกุฎยอดแหลมเป็นแฉกล้อมรอบ ส่วนด้านหลังเป็นเทพีอธีนา (Athena) เทพีแห่งปัญญาและเทพีแห่งสงคราม คาดว่าเหรียญนี้มีอายุสมัยศตวรรษที่ 3 (ราวพุทธศตวรรษที่ 8) ตามช่วงเวลาที่จักรพรรดิวิกโตรินุสครองราชย์
การค้นพบตะเกียงโบราณและเหรียญโรมันโบราณ เป็นหลักฐานว่า ชุมชนโบราณทางตะวันตกของไทยมีการติดต่อค้าขายกับดินแดนตะวันตก อย่าง กลุ่มประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน คือ กรีก-โรมัน รวมทั้งเปอร์เซีย ในพุทธศตวรรษที่ 6-9
การติดต่อค้าขายดังกล่าว อาจเป็นการติดต่อโดยตรงกับพ่อค้าโรมัน ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามเมืองท่าชายฝั่งของอินเดีย หรือติดต่อผ่านพ่อค้าชาวอินเดีย ที่เดินทางมาจากเมืองท่าต่างๆ ก็เป็นได้
“พงตึก” สำคัญอย่างไร?
“พงตึก” เป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี
ชุมชนโบราณพงตึกเป็น “สถานีการค้า” ที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีชาวต่างชาติเดินทางมาติดต่อค้าขาย ทั้งเข้ามาทางอ่าวไทย และมาจากทะเลอันดามันขึ้นบกที่เมืองทวาย และใช้เส้นทางบกเข้ามาทางเจดีย์สามองค์
เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขาย ก็ย่อมเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะที่ชุมชนโบราณพงตึก ปรากฏหลักฐานเป็นโบราณวัตถุ อาทิ พระพุทธรูปศิลปะอินเดีย ฝีมือช่างแบบอมราวดี ประเมินอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-9 พระพุทธรูปขนาดเล็กศิลปะแบบคุปตะ หล่อด้วยสำริด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 -11
รวมถึง “ตะเกียงโรมันโบราณ” ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
อ่านเพิ่มเติม :
- “โนนเมือง” ชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่อีสานตอนบน
- เวียงกุมกาม : เมืองโบราณใต้ตะกอนทราย
- ในไทยก็เคยพบ “เหรียญโรมันโบราณ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร. “การจัดสร้างตะเกียงโรมัน (จำลอง”.
นภา เหลืองนันทการ. “พงตึก ‘สถานีการค้า’ ชุมชนโบราณริมแม่น้ำแม่กลอง ที่กำลังจะถูกลืมเลือน”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2567