ในไทยก็เคยพบ “เหรียญโรมันโบราณ”

เหรียญโรมันที่ถูกพบในเมืองโบราณอู่ทอง (ภาพจากหนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง โดย กรมศิลปากร) ฉากหลังเป็นภาพเจดีย์หมายเลข 2 อู่ทอง สุพรรณบุรี (สุพรรณบุรีเมื่อวันวาน)

ไมเคิล ไรท หรือคุณไมค์เคยเล่าการค้นพบโบราณวัตถุศิลปะกรีก-โรมันในอุษาคเนย์ว่า เดิมทีนักโบราณคดีไม่เคยคาดคิดว่าจะได้พบหลักฐานสำคัญของต้นสายอารยธรรมตะวันตกอย่างกรีกและโรมันในดินแดนแถบนี้เท่าใดนัก จนกระทั่งนักโบราณคดีฝรั่งเศสไปขุดค้นแหล่งโบราณคดีเมืองออกแก้วในเวียดนาม ในช่วงปีค.ศ. 1920-1940 ซึ่งพบแก้วหัวแหวน, ดวงตรา และเหรียญกรีก-โรมันไม่น้อย

ขณะที่ในไทย (ขอเรียกว่าไทยเพื่อความเข้าใจง่ายๆ เนื่องจากดินแดนที่ขุดค้นปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของไทย) ก็ได้พบหลักฐานสำคัญของศิลปกรีก-โรมัน เป็นตะเกียงโรมันทำจากสัมฤทธิ์ที่พงตึก จังหวัดกาญจนบุรีในปี ค.ศ. 1927 โดยคาดว่าจะทำขึ้นในเมืองอเล็กซานเดรีย ของอียิปต์ ราวศตวรรษที่ 1-5

และในแหล่งโบราณคดีอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ก็เคยพบเหรียญโรมันทองแดง ซึ่งด้านหน้ามีรูปของจักรพรรดิวิคโตรินุสสวมมงกุฏยอดแหลมเป็นแฉกล้อมรอบ และด้านหลังเป็นรูปเทพีอาธีนา โดยคาดว่าเหรียญดังกล่าวน่าจะมีอายุถึงสมัยศตวรรษที่ 3 ตามช่วงเวลาที่จักรพรรดิโรมันองค์นี้ยังคงครองราชย์อยู่

ประวัติการค้นพบดังกล่าว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองระบุว่า “พบจากเมืองโบราณอู่ทองแต่ไม่ทราบตำแหน่งที่พบแน่ชัด พลอากาศตรี มนตรี หาญวิชัย ได้ซื้อไว้และมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร”

ศิลปวัตถุขนาดเล็กที่ขุดพบที่แหล่งควนลูกปัด (คลองท่อม) จังหวัดกระบี่
ศิลปวัตถุขนาดเล็กที่ขุดพบที่แหล่งควนลูกปัด (คลองท่อม) จังหวัดกระบี่

แม้ภาคกลางของไทยจะพบวัตถุโบราณแปลกถิ่นเช่นนี้ไม่บ่อยนัก แต่ภาคใต้ของไทยหรือแหลมมลายูมีการพบโบราณวัตถุจากดินแดนห่างไกลอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงศิลปวัตถุกรีก-โรมัน ซึ่งคุณไมค์กล่าวมีมีเป็นเรือนพันหรือเรือนหมื่น แต่หลงเหลือให้ได้ชมและศึกษาเพียงหลักร้อยที่อยู่ในมือนักปราชญ์-นักสะสมที่มีความรับผิดชอบ ยินดีเปิดเผยให้สาธารณชนและวงวิชาการทราบ

ขณะที่สมบัติอีกจำนวนมากต้องสูญหายไปในตลาดมืด ซึ่งคุณไมค์กล่าวว่า “หลักฐานที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ต้องถือว่าสาบสูญโดยสิ้นเชิง, ลับตาลับหูกระจัดกระจายติดตามไม่ได้ แม้ของจะโผล่ขึ้นมาอีกตามพิพิธภัณฑ์ฯ ในต่างประเทศก็ยังถือว่า ‘หาย’ เช่นกัน เพราะนักวิชาการไม่อาจจะทราบได้แน่ชัดว่ามาจากแหล่งใดจริง”


อ้างอิง: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “กรีก-โรมัน ในอุษาคเนย์” โดย ไมเคิล ไรท