“โนนเมือง” ชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่อีสานตอนบน

โครงกระดูก ใน หลุมขุดค้น เมืองโบราณ โนนเมือง
ภาพประกอบ - โครงกระดูกในหลุมขุดค้น เมืองโบราณโนนเมือง (ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ สำนักศิลปากรที่ ๘ ขอนแก่น)

เมืองโบราณโนนเมือง (Non Murng Ancient City) แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีการพบร่องรอยทางโบราณคดียุคทวารวดี และเป็นหนึ่งในชุมชนโบราณของพื้นที่อีสานตอนบน สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 ขอนแก่น ได้จัดตั้ง “โนนเมือง” เป็นโบราณสถานของจังหวัดขอนแก่นตั้งแต่ พ.ศ. 2513

การพัฒนาแหล่งโบราณคดีนี้เกิดขึ้นหลังการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2513 เริ่มดำเนินการขุดค้นครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2525-2526 และ พ.ศ. 2534-2535 รวมเป็น 13 หลุม โดยจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งด้วยการทำหลังคาครอบหลุมขุดค้นไว้ ให้ผู้สนใจได้ชมและศึกษาอย่างใกล้ชิด

โนนเมืองมีความโดดเด่นเกี่ยวกับร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็น “เนินดินรูปไข่” ตัวเมืองชั้นในมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 420 เมตร (ประมาณ 170 ไร่) เมืองชั้นนอกมีรูปทรงค่อนข้างยาวรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 600 เมตร (ประมาณ 216 ไร่) คูเมืองทั้ง 2 ชั้นระยะห่างกันประมาณ 200 เมตร เนินสูงจากพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาและไร่ของชาวบ้านประมาณ 5 เมตร การมีคูเมืองขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงการเป็นชุมชนซึ่งเป็นศูนย์กลาง และมีชุมชนขนาดย่อยกระจายอยู่โดยรอบ

ผิวดินของโนนเมืองมีโบราณวัตถุกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะเศษภาชนะดินเผา คูเมืองชั้นในยังมีน้ำอยู่แต่ระดับความลึกแตกต่างกัน ขณะที่คูเมืองชั้นนอกตื้นเขินจนบางส่วนได้เสื่อมสภาพหายไป ส่วนใหญ่ถูกไถปรับเป็นพื้นที่ทำนา ยกเว้นด้านทิศใต้บริเวณสำนักสงฆ์วัดโนนเมืองที่ยังปรากฏคันดินสูงประมาณ 2-4 เมตร

ข้อมูลจากสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร แบ่งยุคสมัยของโนนเมืองเป็น 3 ช่วง คือ

1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบหลักฐานในชั้นดินที่ระดับความลึกประมาณ 2.7 เมตร พบโครงกระดูกมนุษย์ที่เก่าแก่ราว 2,500-3,000 ปี มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ เพราะรอบข้างที่มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ ประกอบด้วย หม้อ ภาชนะดินเผาเขียนสี ลายขูดขีด หรือลายเชือกทาบ กำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์ เช่น กระดูกหมู กระดูกควาย เขากวาง และกระดองเต่า หลังการขุดค้น พ.ศ. 2535 ทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์ทั้งหมด 17 โครง เป็นเพศชาย 6 โครง หญิง 6 โครง อีก 5 โครงระบุเพศไม่ได้ จากลักษณะการฝังศพและการวางสิ่งของเครื่องใช้ในหลุมศพ ทำให้ทราบว่ามนุษย์โนนเมืองมีความเชื่อเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่

2. สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 มีการทำคูน้ำและคันดินล้อมรอบเมือง นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มใบเสมาศิลปะทวารวดี 3 ใบ พร้อมชิ้นส่วนเศียรพระพุทธรูปดินเผามากมาย ไม่มีโครงกระดูกตั้งแต่ชั้นดินยุคนี้เป็นต้นมา เพราะการเข้ามาของพระพุทธศาสนา โครงกระดูกที่จุดแสดงจึงเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

3. สมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมเขมรเริ่มเข้ามาในพื้นที่แถบนี้ มีกลุ่มใบเสมาปักล้อมพระพุทธรูปนอน และพระพุทธรูปสำริด

ในบรรดาโครงกระดูกที่ขุดค้นพบ นอกจากโครงกระดูกเด็ก 1 โครง มนุษย์ที่โนนเมืองในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปี ความสูงเฉลี่ยผู้ชาย 164 เซนติเมตร ผู้หญิง 159 เซนติเมตร จะเห็นว่ามีช่วงอายุที่ไม่ยืนนัก เชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตหลักมาจากโรคภัย

ความสำคัญของโนนเมืองต่อท้องถิ่นโดยเฉพาะพื้นที่อำเภอชุมแพ จะเห็นได้จากการสร้างอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยนำโนนเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำอำเภอ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเชิดชูประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ดังนี้

“หลักเมืองเก่าชุมแพ แลผาพระนอนล้ำค่า อารยธรรมโนนเมือง

ลือเลื่องเศรษฐกิจ ติดตาผานกเค้าเข้า ชมถ้ำผาพวงบวงสรวงปู่หลุบ”

พื้นที่โนนเมืองถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2513 โดยองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแพและกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานหลักที่คอยกำกับดูแล มีป้ายให้ข้อมูลตามพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งและจุดสำคัญต่าง ๆ สภาพภายในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง จึงมีความร่มรื่น เหมาะแก่การท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ ประกอบกับระบบสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างครบครัน โนนเมืองในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดีจึงมีความพร้อมในระดับหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Thailand Tourism Directory. (2563). เมืองโบราณโนนมือง. (ออนไลน์)

กรมทรัพยากรธรณี. (2552). การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัด ขอนแก่น. (ออนไลน์)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องคก์การมหาชน). (2549). โนนมือง. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 สิงหาคม 2565