บทบาทพลเมืองอีสาน-ขอนแก่น ในการต่อต้าน “กบฏบวรเดช”

ฝ่ายทหารรัฐบาลคณะราษฎรในการปราบกบฏบวรเดช

พลันที่กองทัพฝ่าย กบฏบวรเดช ยกออกจากนครราชสีมา มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เพื่อล้มรัฐบาลคณะราษฎร ปฏิกิริยาของพลเมืองชาวอีสาน โดยเฉพาะที่ขอนแก่นเป็นไปอย่างสับสน โดยได้รับข่าวสาวที่ยังไม่แน่ชัดมากนักจากชาวบ้านที่เดินทางกลับมาจากนครราชสีมา

จนกระทั่งเมื่อมีความชัดเจนเรื่องการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายกบฏกับฝ่ายรัฐบาล พระณรงค์ฤทธี ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น จึงได้เรียกประชุมข้าราชการชั้นหัวหน้า และต่างก็เห็นพ้องกันว่า จังหวัดขอนแก่นจำเป็นต้องป้องกันตนเองมิให้ฝ่ายกบฏเข้ามายึดเป็นพื้นที่ต่อต้านรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจังหวัดขอนแก่นประเมินแล้วว่าตนมีกำลังน้อย ทั้งกรมทหารที่ใกล้มากที่สุดคือทหารจังหวัดอุดรธานี แต่ก็อยู่ไกลออกไปมาก

ดังนั้น พระณรงค์ฤทธีจึงมอบหมายในทางลับให้ นายอุดม บุญประกอบ อัยการจังหวัด เป็นหัวหน้าจัดตั้ง “หน่วยอาสาสมัครต่อต้านกบฏจังหวัดขอนแก่น” มีการเรียกระดมอาสาสมัคร ซึ่งชาวขอนแก่นก็มาสมัครเป็นจำนวนมาก และมีการเตรียมความพร้อมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อต่อต้านฝ่ายกบฏ

ต่อมา ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายจังหวัดขอนแก่นได้ทราบข่าวว่า ฝ่ายกบฏหนีแตกพ่ายถอยมาทางจังหวัดนครราชสีมา ค่ำวันนั้น นายอุดม อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่รถไฟ จึงลงมือปฏิบัติการระเบิดรางรถไฟที่เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟเมืองพลกับสถานีรถไฟบ้านหัน ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นไปราว 80 กิโลเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายกบฏมายึดจังหวัดขอนแก่น

ในวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ฝ่ายกบฏบรรทุกทหารเต็มขบวนรถไฟแล่นออกจากจังหวัดนครราชสีมามุ่งหน้ามายังจังหวัดขอนแก่น แต่ขบวนรถไฟมาถึงช่วงรางรถไฟและสะพานที่ถูกทำลาย จึงหยุดชะงัก ไม่สามารถแล่นไปยังจังหวัดขอนแก่นได้ ทหารฝ่ายกบฏจึงจำเป็นต้องถอนตัวกลับจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเห็นสัญญาณการทำลายรางรถไฟและสะพานดังกล่าว อันหมายถึงการไม่ยอมจำนนและการเตรียมการตั้งรับของชาวขอนแก่น ฝ่ายกบฏจึงทำได้เพียงทิ้งทหารไว้ราว 5-6 คน ยึดสถานีรถไฟเมืองพลไว้เท่านั้น

ค่ำวันนั้น อาสาสมัคร และตำรวจจังหวัดขอนแก่นรับกำลังสมทบจากทหารจังหวัดอุดรธานี จำนวน 30 นาย ต่อมา ทหารจังหวัดอุดรธานีและอาสาสมัครจำนวนหนึ่งได้สนธิกำลังเคลื่อนไปรักษาการณ์ที่สถานีรถไฟบ้านไผ่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่นประมาณ 40 กิโลเมตร วันต่อมา ทหารจังหวัดอุดรธานีอีกจำนวน 70 คน เดินทางมาถึงจังหวัดขอนแก่น และเคลื่อนกำลังไปรักษาการณ์ที่สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำชีที่ห่างตัวจังหวัดขอนแก่นออกไปอีก 6 กิโลเมตร เพื่อสร้างแนวตั้งรับฝ่ายกบฏอีกชั้นหนึ่ง

และวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นั้นเอง ตำรวจ และกรมการอำเภอพล พร้อมกับอาสาสมัคร ได้ร่วมกันขับไล่ทหารฝ่ายกบฏที่ยึดสถานีรถไฟเมืองพลออกไป แต่ไม่ได้มีการยิงต่อสู้กัน เนื่องจากทหารฝ่ายกบฏยอมจำนน และวางอาวุธ จากนั้นจึงได้เข้าควบคุมตัวทหารกบฏนำส่งสถานีตำรวจจังหวัดขอนแก่น

ต่อมา บ่ายวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เครื่องบินเบรเก้ของฝ่ายรัฐบาล 2 ลำ นำจดหมายจาก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มาถึงพระณรงค์ฤทธี และรัฐบาลมอบเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ให้แก่จังหวัดขอนแก่น เพื่อใช้ในการติดต่อกับรัฐบาล พระณรงค์ฤทธีจึงมอบหมายให้นายอุดมเป็นตัวแทนจังหวัดเดินทางด้วยเครื่องบินลำดังกล่าวไปรายงานสถานการณ์ให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงกรุงเทพฯ

นายสุทิน เกษคุปต์ อาสาสมัครคนหนึ่งได้บันทึกว่า ขณะนั้นไม่มีผู้ใดแน่ใจว่า น้ำมันเครื่องบินจะเพียงพอกับการเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ หรือไม่ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่นายอุดมต้องออกเดินทาง ชาวขอนแก่นจำนวนมากมาชุมนุมรวมกันเพื่อส่งนายอุดม และก่อนเดินทางนายอุดมได้ปรารภกับนายสุทินว่า “ไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมาพบหน้าลูกเมียและเพื่อน ๆ หรือไม่” แต่ในที่สุดเครื่องบินนำนายอุดมไปกรุงเทพฯ ลงจอดที่สนามหลวงอย่างปลอดภัย และนายอุดมได้กลับมาถึงจังหวัดขอนแก่นในวันที่ 24 ตุลาคมนั้นเอง

มีบันทึกถึงบทบาทของนายอุดมในการต่อต้านกบฏบวรเดชไว้ว่า “ขณะที่เกิดกบฏบวรเดช และนายอุดมฯ เป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดตั้ง ‘หน่วยอาสาสมัครฯ’ ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย อีกทั้งต้องเดินทางไปรายงานด่วนที่กรุงเทพฯ อีก โดยขณะนั้นภรรยาของนายอุดมเพิ่งคลอดบุตรได้ไม่กี่วัน แต่นายอุดมได้ปกปิดภารกิจทั้งหมด เมื่อเหตุการณ์กลับสู่ปกติแล้ว นายอุดมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เขาเป็นผู้ว่าคนแรกที่อายุน้อยที่สุดเพียง 28 และไม่มีบรรดาศักดิ์”

 


อ้างอิง :

ณัฐพล ใจจริง. (2560).​ กบฏบวรเดช : เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564