พงตึก “สถานีการค้า” ชุมชนโบราณริมแม่น้ำแม่กลอง ที่กำลังจะถูกลืมเลือน

โบราณสถาน พงตึก อดีต สถานีการค้า
โบราณสถานพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

พงตึก “สถานีการค้า” ชุมชนโบราณริมแม่น้ำแม่กลอง ที่กำลังจะถูกลืมเลือน

“พงตึก” สถานที่แห่งนี้ เคยเป็นชุมชนโบราณที่เจริญรุ่งเรืองมากเมื่อสมัยพันปีก่อน ปัจจุบันโบราณสถานพงตึก ตั้งอยู่ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี แต่เมื่อพิจารณาตามภูมิศาสตร์แล้วพบว่า ชุมชนพงตึกนั้นตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี

Advertisement

รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้กล่าวว่าพงตึกเป็นชุมชนโบราณสมัยทวารวดี ไม่ใช่เมืองโบราณดังที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็น “สถานีการค้า” ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาติดต่อค้าขาย ซึ่งการเข้ามานั้นมี 2 ทาง ได้แก่ เข้ามาทางอ่าวไทยขึ้นมาทางน้ำ และมาจากทะเลอันดามันขึ้นบกที่เมืองทวาย และใช้เส้นทางบกเข้ามาทางเจดีย์สามองค์

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การค้าเส้นทางระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยนั้นทำให้เกิดชุมชนโบราณอย่าง พงตึก บ้านท่าเรือ พระแท่นดงรัง ที่เป็นสถานีการค้าและเป็นชุมทางเส้นทางการคมนาคม ทำให้มีผู้คนผ่านไปมาตั้งแต่ก่อนสมัยทวารวดี ซึ่งประมาณตั้งแต่ พ.ศ. 500 หรือ 2,000 ปีมาแล้ว และการเข้าของผู้คนนั้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมต่างๆ

เส้นทางการค้าดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อระหว่างดินแดนสุวรรณภูมิและวัฒนธรรมอินเดีย – กรีก โรมันและเปอร์เซีย

ชุมชนพงตึกจึงเปรียบเสมือนเป็น “ชุมชนทางผ่าน” ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองโบราณต่างๆ ในยุคทวารวดี อาทิ เมืองคูบัว เมืองนครปฐม กำแพงแสน เมืองสิงห์  ดอนตาเพชรและเมืองอู่ทอง และด้วยเป็นเพียงชุมชนทางผ่าน หลักฐานที่ค้นพบที่พงตึกจึงมีไม่มากนัก และมีความกระจัดกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ

หลักฐานสำคัญของพงตึกก็คือ โบราณสถานหมายเลข 1 โบราณสถานหมายเลข 2 พระพุทธรูปฝีมือช่าง “อมราวดี” อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 7 – 9 พระพุทธรูปขนาดเล็กศิลปะแบบคุปตะ หล่อด้วยสำริด อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 10 – 11 และชวาลาโรมันสำริด ตะเกียงน้ำมัน ศิลปะแบบกรีก – โรมัน อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 6 เชื่อกันว่าผลิตขึ้นในช่วงราชวงศ์ปโตเลมี แห่ง “นครอเล็กซานเดรีย”

ตะเกียงโรมันสำริด พบที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

ความน่าสนใจของชวาลาโรมันสำริด คือ รูปใบหน้าของเทพเจ้าเซเลนัส (Silenus) เทพเจ้าผู้เป็นโอรสแห่งพื้นดิน ผู้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแห่งความตาย ตะเกียงโรมันนี้จึงต้องมีความเกี่ยวข้องกับความตาย ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณของชาวกรีก-โรมัน ตะเกียงน้ำมันจะถูกใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบูชาผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

นั่นจึงมีการสันนิษฐานว่า ครั้งหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้ ได้มีลูกครึ่งชาวกรีก-โรมัน-อินเดีย เคยอาศัยอยู่ หรืออาจจะแค่แวะพักแล้วค่อยเดินทางต่อไปยังตอนกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ แต่อาจมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เสียชีวิตลงที่นี่

ชื่อ “พงตึก” สันนิษฐานกันว่า มาจากคำว่า “พง” คือ พงหญ้าที่ขึ้นรกรุงรัง และ “ตึก” มาจากซากอาคารเก่าแก่ที่ก่อด้วยอิฐและศิลาแลง ดังเรื่องราวที่ปรากฏใน นิราศพระแท่นดงรัง ของ “สามเณรกลั่น” ศิษย์และบุตรบุญธรรมของ “สุนทรภู่” กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2376  โดยมีใจความว่า

“แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้งพงตึก อนาถนึกสงสัยได้ไต่ถาม ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย

แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก คนจึงเรียก พงตึก เหมือนนึกหมาย ถึงท่าหว้าป่าสองรังสองฝั่งราย กับเชิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือ”

โบราณสถานที่พงตึกถูกกล่าวถึงอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2470 ที่มีข่าวว่า ชาวนาขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังร่วมกับพระพุทธรูป จนราชบัณฑิตยสภา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รับสั่งให้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เดินทางไปสำรวจ ซึ่งพบพระพุทธรูปสำริดแบบคุปตะที่มีอิทธิพลแบบอมราวดี ลักษณะชายจีวรเป็นริ้ว ถ้วยดินเผา ตะเกียงโรมันสำริดที่เลียนแบบตะเกียงโรมันแบบไบแซนไทน์

ต่อมาภายหลังอีกราว 10 ปี ได้มีการค้นพบประติมากรรมเทวรูปพระวิษณุ ขนาดสูงจากพระบาทจนถึงพระเศียร 80 เซนติเมตร เป็นพระวิษณุสี่กรถือสังข์ จักร ธรณีหรือดอกบัว และคฑา พระเกศาที่ทำเป็นรูปดอกบัวได้มีการประมาณอายุไว้ราวพุทธศตวรรษที่ 13 หรือ14 เทวรูปนี้เก็บรักษาไว้ที่วัดดงสักในปัจจุบัน

พระวิษณุองค์นี้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นร่องรอยของศาสนาฮินดูที่ปรากฏในพื้นที่ภาคตะวันตก ที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี นอกจากนี้ซากสิ่งปรักหักพังและซากฐานอาคารที่กระจัดกระจายทั้งหลาย แสดงให้เห็นว่า พงตึกเคยเป็นศาสนสถานมาก่อน จึงทำให้มีการสันนิษฐานว่า จะต้องมีศาสนสถานไม่น้อยกว่า 1 แห่ง

และเมื่อราว 20 ปีเศษมานี้ก็ได้มีผู้พบพระหัตถ์ของเทวรูป เทวรูปพระนารายณ์ และเสาหินซึ่งอาจจะเป็นศิวลึงค์ ซึ่งทำให้เป็นเครื่องชี้บ่งว่า นอกจากศาสนาพุทธแล้ว ยังมีผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ที่เคยอาศัยอยู่ ณ สถานที่นี้มาก่อนแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ไม่มีการค้นพบรูปสลัก ธรรมจักร-กวางหมอบ ที่พงตึกเช่นเดียวเมืองโบราณอื่นๆ จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ที่ไม่มีการขุดพบธรรมจักรในพื้นที่นี้ อาจจะเป็นเพราะว่าพงตึกเป็นเพียงชุมชนทางผ่านและเป็นสถานีการค้า ดังนั้นรูปสลักต่างๆ ที่สำคัญจึงถูกลำเลียงผ่านไปยังเมืองใหญ่ๆ

ทำไมชุมชนที่เคยเป็น “สถานีการค้า” จึงเหลือเพียงชื่อ?

ในสมัยที่ขอมเรืองอำนาจ สถานีการค้าแห่งนี้คงจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอม เนื่องจากมีการขุดพบโบราณวัตถุที่เป็นฝีมือขอมอยู่หลายอย่าง และในสมัยขอมสถานที่แห่งนี้น่าจะมีความทรุดโทรมลงเนื่องจากปรากฏแต่เพียงซากเทวสถานขนาดย่อม แทนที่จะเป็นเทวสถานใหญ่ ๆ ตามรูปแบบที่ขอมชอบสร้างเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและอำนาจของขอม อย่างเช่นที่เมืองลพบุรี เมืองพิมาย เป็นต้น

ชุมชนพงตึกนี้คาดว่าน่าจะร้างในสมัยของสุโขทัย และคงจะร้างไปในสมัยเดียวกับเมืองนครปฐม เนื่องจากไม่ปรากฏว่ามีชื่อชุมชนแห่งนี้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มิได้มีถูกตั้งขึ้นมาอีก จวบจนปัจจุบันนี้จึงเป็นเพียงตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งเท่านั้น

จากหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นว่า โบราณสถานแห่งนี้เดิมทีเป็นพื้นที่ที่มีการหลอมรวมทางวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นสถานีการค้าที่มีผู้คนไหลเวียนเข้ามาตลอด เพราะว่าลำน้ำเดิมนั้นเป็นเส้นทางที่ติดต่อกับเมืองอู่ทองและเมืองนครปฐม แต่เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยนเส้นทางใหม่ จึงทำให้ลำน้ำเดิมนั้นตื้นเขินไป มีผลทำให้ตัวชุมชนบางส่วนถูกทำลาย และเส้นทางทางบกเปลี่ยนไปด้วย ผู้คนจึงพากันอพยพทิ้งให้พงตึกนั้นร้างในที่สุด

จะเห็นได้ว่าโบราณสถานพงตึก คือสถานที่ที่พบหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมภูมิภาคสุวรรณภูมิและนครอเล็กซานเดรียของอียิปต์ ซึ่งร่องรอยอารยธรรมนี้เองแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของวิถีชีวิตของผู้คน ความเชื่อ สิ่งของเครื่องใช้ และความลื่นไหลทางวัฒนธรรมของผู้คนที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งแน่นอนว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นย่อมมีผลกับคนในรุ่นปัจจุบัน

เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าของการมีวัฒนธรรมร่วมกัน และทำให้เกิดสำนึกความเป็นพวกเดียวกันก็คือสำนึกความเป็นชาติ

ข้อที่น่าสังเกตในประเด็นนี้คือ ทำไมโบราณสถานแห่งนี้ที่เคยเป็นสถานีทางการค้าที่รุ่งเรือง และเป็นชุมทางเส้นทางการคมนาคม ถึงกลับทรุดโทรมและกำลังจะถูกลืมเลือนจากผู้คนในสังคม ซึ่งนั่นอาจจะเป็นการย้อนกลับไปที่เรื่องของการบริหารของภาครัฐในการจัดการโบราณสถานและการบริหารวัฒนธรรม เพื่อไม่ให้โบราณสถานแห่งนี้สูญหายไปจากความทรงจำของผู้คน

ภาครัฐควรให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับการจัดการโบราณสถานพงตึก ชาวบ้านและเยาวชนจะได้รู้สึกว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ต้องปกป้องรักษา และอนุรักษ์เพื่อดำรงไว้ให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษาและเรียนรู้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กองจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. “เมืองโบราณพงตึก”. แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564, https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/2607

วรณัย พงศาชลากร. “พงตึก ที่ถูกหลงลืม ในวันนี้กำลังเสื่อมโทรม”. เรื่องราวทางมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี. สหวิทยาการและมุม Gossip. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน2564,  http://oknation.nationtv.tv/blog/voranai

หน่องปอนด์. “พงตึก: เมืองลึกลับกาญจนบุรี”. 2561. MG MAGGANG. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2564, https://itellghoststory.maggang.com/พงตึก-เมืองลึกลับกาญจนบุรี

ออฟฟิเชียล มติชน ทีวี. (28 พฤษภาคม 2562). รายการ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน “พระแท่น แลนด์มาร์คแม่กลอง 2,000 ปี” [Video file]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=nUyfVehO9bk&ab_channel=matichontv


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2564