คนไทยเขียนเลข ใน “ศิลาจารึก” อย่างไร สมัยยังไม่ใช้เลขไทย-อารบิกแบบปัจจุบัน

คนไทยเขียนเลขในศิลาจารึก
จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 7 (ภาพ : https://db.sac.or.th/)

สงสัยไหม? คนไทยเมื่อยังไม่ใช้เลขไทยและอารบิก คนไทยเขียนเลขในศิลาจารึก อย่างไร?

คนไทยในอดีตรับการเขียนตัวเลขบอกจำนวนมาจาก “อินเดีย” โดยนำเข้ามาพร้อมกับอักษรปัลลวะและภาษาบาลีสันสกฤต

การเขียนตัวเลขเพื่อบอกจำนวนไทยในศิลาจารึก เมื่อได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย มักจะปรากฏการเขียนอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่…

คนไทยเขียนเลขในศิลาจารึกอย่างไร

1. การเขียนบวกจำนวนด้วยอักษรคำศัพท์ของภาษา ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกกะไดอังของเขมร เมื่อ พ.ศ. 1171

1.1 การเขียนบอกจำนวนด้วยศัพท์สังขยา 

คือการเขียนบอกจำนวนด้วยคำศัพท์ตามหลักของภาษาบาลีและสันสกฤต โดยจะแปลแต่ละศัพท์ออกมาเป็นตัวเลขที่บอกจำนวน เช่น ศิลาจารึกฐานรองธรรมจักร ที่ปรากฏอักษรปัลลวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11-12 พบที่ทุ่งขวาง อ. กำแพงเแสน จ. นครปฐม 

ภายในเขียนบอกจำนวนด้วยตัวอักษรซึ่งเป็นคำศัพท์สังขยา ปรากฏข้อความกล่าวถึงอาการทั้ง 4 ว่า

จตุธา จตุธา กตํ กระทำด้วยอาการละ 4 อาการละ 4 ศัพท์ว่า จตุ เป็นศัพท์สังขยาแปลว่า 4 จตุธา แปลว่า โดยอาการ 4 จตุธา จตุธา จึงแปลว่า โดยอาการ 4 โดยอาการ 4”

หรือในจารึกดอนเมืองเตย อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 พบที่เมืองโบราณ ดอนเมืองเตย อ. คำเขื่อนแก้ว จ. ยโสธร ก็พบการเขียนจำนวนด้วยตัวอักษรเป็นศัพท์สังขยา ว่า “ทฺวาทศ เป็นศัพท์สังขยาภาษาสันสกฤตแปลว่า 12 อทฺภูต แปลว่า สิ่งที่น่าอัศจรรย์”

1.2 การเขียนบอกจำนวนด้วยอักษรศัพท์สัญลักษณ์

วิธีนี้ได้รับความนิยมมากในเขมรและไทยสมัยโบราณ ปรากฏมากในจารึกภาษาสันสกฤตทั้งของศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนามหายาน โดยปรากฏที่ “ศิลาจารึกเขาน้อย” พบที่ อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ใช้ศัพท์สัญลักษณ์เขียนบอกจำนวนศักราชว่า “ทฺวารภูตารฺไถะ” แยกศัพท์ออกมาได้ความหมายดังนี้

“ทวาร แปลว่า ช่อง ประตู เป็นสัญลักษณ์ของช่องทวารทั้ง 9 คือ ตา 2 หู 2 จมูก 2 ปาก 1 ทวารหนัก 1 ทวารเบา 1

ภูต แปลว่า สิ่งที่มีอยู่จริง หมายถึงธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ เป็นสัญลักษณ์ของเลข 5

อรฺไถะ แปลว่า สิ่งที่กระทบอารมณ์ให้เกิดความอยากได้ หมายถึงอายตนะภายนอก 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จึงเป็นสัญลักษณ์ของเลข 5

ทฺวารภูตารไถะ จึงแปลว่า 559 เป็นมหาศักราช เมื่อบวกด้วย 621 จึงตรงกับพุทธศักราช 1180”

1.3 การเขียนบอกจำนวนด้วยศัพท์สัญลักษณ์ผสมด้วยศัพท์สังขยา 

การเขียนแบบนี้ปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ศิลาจารึกทวลฮังตะโนต, ศิลาจารึกกะไดอัง หรือในศิลาจารึกพนมรุ้ง

ในศิลาจารึกพนมรุ้ง พบการเขียนบอกมหาศักราชด้วยตัวอักษรที่ใช้ทั้งศัพท์สังขยาและศัพท์สัญลักษณ์ผสมกันว่า “ทฺวิสปฺตามฺวรจนฺทฺร” แยกศัพท์เป็น…

“ทฺวิ แปลศัพท์สังขยา แปลว่า 2, สปฺต เป็นศัพท์สังขยา แปลว่า 7, อมฺวร แปลว่า ท้องฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของเลข 0 จนฺทฺร แปลว่า พระจันทร์ เป็นสัญลักษณ์ของเลข 1 

ทฺวิสปฺตามฺวรจนฺทฺร จึงแปลว่า พระจันทร์ในท้องฟ้า 7 และ 2 แปลเป็นมหาศักราชว่า 1072 เมื่อบวกด้วย 621 จึงเป็นพุทธศักราช 1693”

จึงบอกได้วิธีหนึ่งแล้วว่าคนไทยเขียนเลขในศิลาจารึกอย่างไรในอดีต

นอกจากการเขียนบวกจำนวนด้วยอักษรคำศัพท์ของภาษาแล้ว ยังปรากฏวิธีเขียนบอกจำนวนด้วยตัวเลข โดยวิธีการเขียนตัวเลขในศิลาจารึกแบบนี้มีหลังจากการเขียนแบบแรก ปรากฏครั้งแรกในศิลาจารึกสัมโบร์ของเขมร เมื่อ พ.ศ. 1226

2. วิธีเขียนบอกจำนวนด้วยตัวเลข 

2.1 วิธีเขียนบอกจำนวนวัตถุสิ่งของทั่วไป

การเขียนแบบนี้พบไม่บ่อยนัก โดยจะมีสัญลักษณ์หรือการวาดวัตถุเพื่อแทนตัวเลขต่าง ๆ ดังตารางด้านล่าง

คนไทยเขียนเลขในศิลาจารึก
รูป : ศึกษาวิธีเขียนบอกจำนวนจากจารึกโบราณในประเทศไทยและเขมร โดย ชะเอม แก้วคล้าย นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๙ ฉบับที่ ๑ ม.ค. – ก.พ. ๒๕๕๙

รวมถึงมีการนำรูปลักษณะต่าง ๆ นี้มาเรียงต่อกันหรือผสมกันให้เป็นตัวเลขใหม่ ๆ ดังนี้…

รูป : ศึกษาวิธีเขียนบอกจำนวนจากจารึกโบราณในประเทศไทยและเขมร โดย ชะเอม แก้วคล้าย นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๙ ฉบับที่ ๑ ม.ค. – ก.พ. ๒๕๕๙

นอกจากนี้ก็จะมีการเขียนจำนวนด้วยตัวเลขอีก 3 แบบในศิลาจารึก นั่นคือ วิธีการเขียนตัวเลขบอกจำนวนมหาศักราช, วิธีการเขียนตัวเลขบอกจำนวนจุลศักราช และวิธีการเขียนบอกจำนวนพุทธศักราช

การเขียน 3 แบบหลังในศิลาจารึกนี้ น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดี เพราะยังปรากฏให้เห็นในการศึกษาประวัติศาสตร์และพุทธศักราชก็ยังใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ชะเอม แก้วคล้าย. ศึกษาวิธีเขียนบอกจำนวนจากจารึกโบราณในประเทศไทยและเขมร. นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๕๙ ฉบับที่ ๑ ม.ค. – ก.พ. ๒๕๕๙


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2567