ผู้เขียน | ปรีดี บุญซื่อ |
---|---|
เผยแพร่ |
ศิลาจารึกโรเซตต้า (The Rosetta Stone) กุญแจไขความลี้ลับอักษรภาพอียิปต์
เมื่อปี 2004 องค์การอวกาศยุโรป ส่งยานอวกาศชื่อ “โรเซตต้า” (Rosetta) ไปสำรวจดาวหางดวงหนึ่ง ในเดือนพฤศจิกายน 2014 ยานอวกาศลำนี้ ก็ส่งยานลูกชื่อ “ฟิเล” (Philae)ไปร่อนลงยังดาวหาง ในบริเวณที่นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อว่า “อกิลเกีย” (Agilkia)
โรเซตต้า ฟิเล และอกิลเกีย เป็นชื่อสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการไขปริศนาความลี้ลับของวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ เมื่อกองทัพนโปเลียนบุกไปยึดครองอียิปต์ และขุดพบศิลาจารึกโรเซตต้า (The Rosetta Stone) ในปี 1799 และต่อมามีการค้นพบเสาหินโอบิลิสก์ ที่วิหารเทพธิดาไอซิส เกาะฟิเล ทำให้นักภาษาศาสตร์อย่าง ชามโพลลิออง สามารถไขความลับของอักษรภาพอียิปต์โบราณออกมาได้ ส่วนอกิลเกียคือเกาะที่อยู่ใกล้กันกับเกาะฟิเล เมื่อมีการสร้างเขื่อนอัสวานในปี 1960-70 เกาะฟิเลจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ต้องรื้อวิหารไอซิส ไปตั้งอยู่ที่เกาะอกิลเกีย
เมื่อกองทัพนโปเลียนบุกไปอียิปต์ในปี 1798 ไม่ได้มีเป้าหมายทางทหาร เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของอังกฤษจากตะวันออกไกลเท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายด้านวัฒนธรรมอีกด้วย โดยมีคณะนักสำรวจที่ประกอบด้วยวิศวกร สถาปนิก ศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ ติดตามไปด้วยร้อยกว่าคน เพื่อศึกษารายละเอียดด้านต่างๆ ของอียิปต์
ในปี 1799 นายทหารวิศวกรคนหนึ่งขุดพบโบราณวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ที่ปัจจุบันเรียกว่า “ศิลาจารึกโรเซตต้า” (The Rosetta Stone) ที่มีจารึกเป็นตัวอักษร 3 แบบ คืออักษรภาพ อักษรลายมือ และอักษรกรีซ เมื่อกองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่ออังกฤษ ต้องมอบวัตถุโบราณของอียิปต์ให้กับอังกฤษ รวมทั้งศิลาจารึกโรเซตต้า ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ
คณะนักสำรวจของนโปเลียน เก็บข้อมูลทุกด้านของอียิปต์โบราณ ทำให้คนทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอียิปต์ แต่ความเข้าใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอียิปต์โบราณยังไม่เกิดขึ้น เพราะความเข้าใจดังกล่าว ต้องมาจากความสามารถในการอ่านอักษรภาพ แม้แต่คณะนักสำรวจของนโปเลียน ที่บันทึกเรื่องต่างๆ ของอียิปต์โบราณไว้มากมาย ก็ยังเกิดการเข้าใจผิด เมื่อคนพวกนี้ได้ไปเห็นวิหารคาร์นัก ที่เมืองลักซอร์ ก็เข้าใจว่า วิหารนี้คือ พระราชวัง “แวร์ซายส์” ของฟาโรห์อียิปต์
เพราะเหตุนี้ การจะเข้าใจอียิปต์โบราณได้ จึงอยู่ที่ความพยายามและความสำเร็จในการไขความลับของศิลาจารึกโรเซตต้า ที่มีการจารึกข้อความด้วยภาษาเขียน 3 แบบ ศิลาจารึกนี้เขียนขึ้นในสมัยปโตเลมีที่ 5 (205-180 ปีก่อนคริสตกาล) แม้ขอบศิลาจารึกในส่วนอักษรภาพจะเสียหาย จนไม่มีประโยคท่อนไหนสมบูรณ์เลย แต่ส่วนอักษรกรีซก็ยังสมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจความหมายในส่วนของอักษรภาพและอักษรลายมือ
หลังจากค้นพบศิลาจารึกโรเซตต้ามาแล้ว 20 ปี ในปี 1822 ฌอง ฟรังซัว ชามโพลลิออง (Jean-Francois Champollion) ก็ประกาศอย่างมั่นใจว่า เขาสามารถถอดความลับของอักษรภาพอียิปต์ออกมาได้แล้ว เมื่อประกาศความสำเร็จ ชามโพลลิอองมีอายุเพียง 32 ปี ตามปกติแล้ว นักภาษาศาสตร์ต้องใช้เวลาชั่วชีวิตจึงจะบรรลุความสำเร็จแบบพลิกประวัติศาสตร์ได้ แต่ชามโพลลิอองหลงใหลในอียิปต์โบราณ มาตั้งแต่อายุ 12 ขอบ และนับจากนั้นมา ก็มุ่งมั่นที่จะถอดความลับของอักษรภาพ เขาใช้เวลาหมดไปกว่า 20 ปีในการศึกษาภาษาตะวันออก เช่น อารบิก สันสกฤต เปอร์เซีย รวมทั้งภาษาจีนโบราณ ที่เขาคิดว่าจะช่วยในการเข้าใจภาษาอียิปต์โบราณ
ชามโพลลิออง ก็เหมือนนักภาษาศาสตร์หลายคนในเวลานั้น ที่คิดว่า อักษรภาพอียิปต์เป็นอักษรที่มีความหมายเป็น “ความคิด” เช่น ตัวอักษรภาพ “นกฮูก” หมายถึง นกฮูก แต่เขาก็เชื่อว่า ในเวลาเดียวกัน คำคำนั้น ก็มีความหมายเป็น “เสียง” เช่น ตัวอักษรภาพ “นกฮูก” เป็นคล้ายๆ กับพยัญชนะ ที่ออกเสียงเทียบได้กับคำในภาษาอังกฤษว่า “เอ็ม” (M)
ความพยายามของชามโพลลิออง ในการเปรียบเทียบข้อความอักษรภาพกับข้อความในภาษากรีซ ที่อยู่ในศิลาจารึกโรเซตต้า เหมือนเป็นเรื่องราวการสืบสวนที่ซับซ้อน เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะเปรียบเทียบ 2 ภาษานี้ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ พระนามของฟาโรห์และราชินี จะเขียนอยู่ในวงกลมเรียวยาวทรงรูปไข่ วงกลมนี้คือ “วงแหวนอมตะ” (Ring of Eternity)
ชามโพลลิอองดูชื่ออักษรภาพที่เขียนในวงกลม เมื่ออ่านเปรียบเทียบในภาษากรีซ ออก “เสียง” ได้ว่า “ปโตเลมี” และ “คลีโอพัตรา” เมื่อย้อนกลับไปดูชื่อ 2 ชื่อนี้ ที่เขียนเป็นตัวอักษรภาพในวงแหวนอมตะ ชามโพลลิอองรู้ทันทีว่า เขาเดินมาถูกทางแล้ว คือตัวอักษรภาพแต่ละตัว มีความหมายเป็นพยัญชนะ ที่เป็นตัวแทน “เสียง” ต่อมา ชามโพลลิอองก็สามารถอ่านอักษรภาพที่เป็นชื่อพระนาม จารึก และประโยคสั้นๆ
แต่วงการวิชาการใช้เวลาถึง 35 ปีต่อมา จึงจะยอมรับว่า ชามโพลลิอองเป็นฝ่ายถูก มาตั้งแต่ต้น ทำให้การศึกษาที่จริงจังเกี่ยวกับอียิปต์โบราณ ต้องล่าช้ามาถึง 3 ทศวรรษ
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอยนักโบราณคดี ขุดสุสานฟาโรห์ “ทุทันคามุน” เผยวินาทีพบโลงพระศพ-สมบัติสุดอึ้ง!.
-
คำ “เนเฟอร์ติติ” ออกเสียงได้ 40 แบบ นักอียิปต์วิทยาปรับภาษาให้คุยกันรู้เรื่องได้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2560