คำ “เนเฟอร์ติติ” ออกเสียงได้ 40 แบบ นักอียิปต์วิทยาปรับภาษาให้คุยกันรู้เรื่องได้อย่างไร?

รูปปั้นครึ่งตัวของ เนเฟอร์ติติ ถ่ายในการจัดแสดงที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อเดือนธันวาคม 2012 ภาพจาก AFP / POOL / MICHAEL SOHN

อักษรภาพของอียิปต์โบราณ เป็นระบบภาษาเขียนที่มีแต่ตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะล้วนๆ มีทั้งหมดประมาณ 700 ตัว โดยไม่มีคำที่เป็นตัวสระเลย เวลาคนอียิปต์โบราณอ่านข้อความของอักษรภาพที่เขียนเป็นตัวพยัญชนะติดๆ กันนั้น พวกเขารู้ว่า เวลาอ่านจะใส่สระตัวไหนระหว่างพยัญชนะแบบเดียวกับคนในปัจจุบัน เวลาอ่านข้อความโฆษณาย่อยที่ขายบ้านหรือรถยนต์ รู้ว่าจะใส่สระตัวไหนในคำย่อต่างๆ

แต่จุดนี้แหละที่สร้างปัญหาให้กับนักอียิปต์วิทยา ภาษาอียิปต์โบราณตายไปแล้วเกือบ 2 พันปี เมื่อปี ค.. 394 ได้มีการจารึกอักษรภาพเป็นครั้งสุดท้ายไว้ที่วิหารไอซิส (Isis) ตั้งอยู่บนเกาะฟิเลในสมัยที่พวกโรมันเข้ามายึดครองอียิปต์จึงไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่รู้ว่าข้อความของอักษรภาพอ่านออกเสียงว่าอย่างไร

แต่เพื่อให้คำต่างๆของอักษรภาพอ่านออกเสียงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสนทนา หรือเขียนบทความ นักอียิปต์วิทยาจึงอาศัยหลักเกณฑ์ง่ายๆ โดยใส่สระอี” (E) ของภาษาอังกฤษ ลงไประหว่างตัวพยัญชนะของอักษรภาพ เช่น คำอักษรภาพที่หมายถึงพยัญชนะ 3 ตัว เทียบได้กับการออกเสียงคำในภาษาอังกฤษว่า NFR ก็สามารถอ่านเป็นคำนี้ออกมาได้ว่า NEFER ที่แปลว่า ความสวยงาม คนอียิปต์โบราณจึงนิยมตั้งชื่อบุตรสาวของตัวเองด้วยคำๆนี้ เช่นชื่อ ราชินีเนเฟอร์ติติ  หรือเนเฟอร์ตาลี เป็นต้น

อักษรภาพอียิปต์มีประมาณ 700 ตัว นักท่องเที่ยวเรียนรู้แค่ 150 ตัว ก็สามารถอ่านข้อความสั้นๆตามโบราณสถานหรือพิพิธภัณฑ์ ภาพจาก AFP PHOTO / MARCO BERTORELLO

แต่การใส่สระ E อย่างเดียว คงไม่ทำให้การออกเสียงไพเราะน่าฟังไปทั้งหมด นักอียิปต์วิทยาจึงเปลี่ยนการใช้คำสระสำหรับพระนามของฟาโรห์ เช่น ฟาโรห์อิเมนฮิเตป ( Imenhetep) ก็เปลี่ยนเป็น อาเมนโฮเตป (Amenhotep) เป็นต้น

แต่พวกนักเขียนกรีซโบราณกลับทำให้คนสับสนมากขึ้นไปอีก โดยเรียกชื่อฟาโรห์ อาเมนโฮเตป ว่า อาเมโนฟิส (Amenophis)

แม้แต่นักประวัติศาสตร์ชื่อดังอย่าง ฮิโรโดตุส ก็ยังเรียกฟาโรห์คูฟู (Khufu) เจ้าของมหาพีระมิดแห่งกิซ่าว่า ชิออฟส์ (Cheops) ส่วนนักเขียนบางคนกลับนิยมใช้ชื่อฟาโรห์แบบที่พวกกรีซเรียก ทั้งนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนว่า จะใช้ชื่อฟาโรห์แบบไหนจึงจะเหมาะ ระหว่าง Imenhetep หรือ Amenhotep

คนอียิปต์โบราณเรียกอักษรภาพว่า คำตรัสของเทพเจ้า เพราะใช้เขียนจารึกในวิหารเทพเจ้า หรือสุสานของตาย ภาพจาก AFP PHOTO / KHALED DESOUKI

หลักเกณฑ์การใช้ตัวสระระหว่างคำอักษรภาพจึงเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาเองล้วนๆ ของนักอียิปต์วิทยา ทำให้การอ่านออกเสียงคำอักษรภาพก็มีความแตกต่างกันในหมู่นักอียิปต์วิทยาด้วยกัน อย่างเช่นคำว่าเนเฟอร์ติติ (Nefertiti) ในภาษาเยอรมันออกเสียงว่าโนเฟร์ติติ” (Nofretete)

ว่ากันว่า ชื่อของราชินีที่โด่งดังของอียิปต์โบราณ ทั่วโลกอ่านออกเสียงแตกต่างกันถึง 40 แบบ ส่วนชื่ออิมโฮเตปคนในประเทศต่างๆ ออกเสียงต่างกัน 34 แบบ

ในเมื่อคนในปัจจุบันยังอ่านออกเสียงคำอักษรภาพแตกต่างกันขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนว่า การอ่านออกเสียงคำในอักษรภาพของนักอียิปต์วิทยาก็คงจะแตกต่างไปอย่างมากจากที่คนอียิปต์โบราณอ่านออกเสียงของคำๆ นั้นจริงๆ

ถ้าสามารถย้อนเวลาสู่อดีต เมื่อได้ยินนักอียิปต์วิทยาพูดภาษาของพวกเขา คนอียิปต์โบราณคงไม่มีทางที่จะเข้าใจความหมายของมัน มีหนทางเดียวที่คน 2 ฝ่ายจะเข้าใจกันได้ คือการสื่อสารจากภาษาเขียน

การสื่อสารที่จะไม่เข้าใจกันอีกประเด็นหนึ่ง คือการเรียกชื่อฟาโรห์ ถ้านักอียิปต์วิทยาเขียนเป็นอักษรภาพว่ารามเสสที่ 2 คือฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงคนอียิปต์โบราณก็คงไม่เข้าใจว่าหมายถึงฟาโรห์องค์ไหน เนื่องจากฟาโรห์หลายองค์มีชื่อซ้ำๆ กัน อย่างเช่นชื่อ รามเสสมีถึง 11 องค์ นักอียิปต์วิทยาจึงใช้ตัวเลขต่อท้ายชื่อ เพื่อให้ง่ายในการแยกแยะฟาโรห์แต่ละองค์ที่ชื่อซ้ำกัน

แต่จริงๆ แล้ว คนอียิปต์โบราณไม่ได้เรียกชื่อฟาโรห์แบบนี้เลย

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ฟาโรห์ไม่ได้มีแต่ชาย พบอียิปต์มี “ฟาโรห์หญิง” อีก 6 พระองค์

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อมกราคม 2560